‘4 เทรนด์’ งานคราฟต์ยุคใหม่ ต้องทันสมัย และมีเรื่องราวด้วย

“เรื่องราว” เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกๆ เบื้องหลังของงานคราฟต์ เพราะก่อนจะมาเป็นชิ้นงานแต่ละชิ้น นักออกแบบย่อมต้องมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเสียก่อน แต่แม้ทุกผลงานจะมีเรื่องราวซ่อนไว้ ก็ใช่ว่าพวกเขาจะสื่อสารมันออกมาให้เห็นได้หมด ทำให้น่าเสียดายที่บางครั้งคุณค่าที่ชิ้นงานเหล่านั้นควรจะได้รับต้องถูกลดทอนลง

ในบทความนี้ Craft ‘n’ Roll จึงอยากชวนให้คุณมาเรียนรู้วิธี ‘เล่าเรื่อง’ กันเสียใหม่ เพื่อไม่ให้ผลงานของใครต้องถูกมองข้ามไปอีก ผ่าน 4 แนวคิดการ ‘เล่าเรื่อง’ จากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT (The SUPPORT Arts and Crafts International Centre of Thailand) อีกองค์กรที่พยายามสนับสนุนงานคราฟต์ไทยให้ไปไกลกว่าการเป็นเพียงสินค้าพื้นบ้าน

โดยหลังจากผ่านการศึกษาและรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับงานออกแบบและงานหัตถกรรมมาเป็นเวลาหลายปีพวกเขาก็ได้ออกมาเผยแพร่แนะนำเทรนด์การออกแบบและสื่อสารเรื่องราวแนวใหม่ ที่กำลังเป็นที่สนใจในแวดวงของผู้บริโภค ผ่านหนังสือ SACICT Craft trend 2019 ดังนี้

1. Retelling the Detailing เล่าเรื่องเดิมๆ ในมิติที่แตกต่าง

เทรนด์นี้พูดถึงการพยายามเชื่อมโยงเอาคุณค่าแบบเดิม ที่อาจถูกมองว่าเป็นสิ่งไกลตัว กลับมาสู่มือของผู้บริโภคในทิศทาง หรือมุมมองที่เราสามารถรับได้ เช่น การวาดลวดลายเบญจรงค์ ลงบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างหูฟัง เป็นการนำเรื่องราวแบบเก่ามาสร้างสรรค์เป็นผลงานชิ้นใหม่ที่สามารถใช้งานได้จริง โดยที่ยังรักษาความละเอียด อ่อนช้อย ซึ่งเป็นคุณค่าเดิมของเบญจรงค์เอาไว้ไม่หายไปไหน

หูฟังลายเบญจรงค์ โดย กฤษณ์ พุฒพิมพ์ และ บุญญารัตน์เบญจรงค์
จากโครงการพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ไทย SACICT

อย่างเฟอร์นิเจอร์คอลเล็กชัน Anodized Wicker ของ Tino Seubert นักออกแบบชาวลอนดอน ก็เลือกเอาวัสดุอลูมิเนียมจากภาคอุตสาหกรรม มาผสมเข้ากับงานจักสาน ซึ่งแต่ละขั้นตอนทำด้วยฝีมือของช่างสานจริงๆ ถือเป็นการเล่าเรื่องราวแบบใหม่ ที่คนในปัจจุบันรับได้ และพอใจที่จะรับ

คอลเล็กชัน Anodized Wicker โดย Tino Seubert

2. Tropical Dream ธรรมชาติรูปแบบเสมือน

คอลเล็กชัน Voyager จาก Dunelm

เทรนด์การออกแบบที่อิงกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่วนกลับมาเสมอไม่ว่าผ่านไปนานแค่ไหน สำหรับหลายคนที่อาจไม่มีเวลาจะออกไปท่องเที่ยวเดินป่า ดูปะการัง หรือสัมผัสธรรมชาติกันได้บ่อยๆ นี่จึงเป็นสิ่งที่จำลองธรรมชาติเข้าไปในงานออกแบบ เพื่อนำสภาพแวดล้อมที่หลายคนใฝ่ฝัน กลับไปยังชีวิตประจำวันของพวกเขาอีกครั้ง โดยนอกเหนือไปจากการนำเอาลวดลายธรรมชาติแบบเดิมๆ มาใช้ ก็อาจแหวกแนวไปนำเสนออะไรที่ดูเหนือจริงขึ้น ด้วยการเปลี่ยนสี เปลี่ยนดีไซน์ ผสมผสานแพทเทิร์นลวดลายให้ดูล้ำสมัย เพื่อให้งานออกแบบดูน่าสนใจ และสะดุดตามากขึ้น

พรม Malmaison จาก Moooi Carpets

3. Righteous Crafts ที่มา ที่ไป ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

นอกจากเรื่องความสร้างสรรค์ในการออกแบบ สิ่งที่ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสนใจคือความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เทรนด์นี้จึงเป็นการนำเสนอเรื่องราวความถูกต้องของผลิตภัณฑ์ ว่าผลงานชิ้นนี้จะส่งผลดีผลเสียต่อโลกอย่างไรบ้าง ทั้งในแง่ของวัสดุ ที่ไม่ควรมาจากการทำลายสิ่งแวดล้อม หรือในแง่ของแนวคิดการออกแบบ และทำธุรกิจ ที่ไม่ควรเอาเปรียบชุมชน หรือเบียดเบียนธรรมชาติ เพราะขณะนี้เราได้เดินทางมาถึงยุคที่โลกกำลังประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนัก การนำเสนอเรื่องราว ที่มาที่ไปของวัสดุที่เลือกมาใช้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะสะท้อนแนวคิดของผู้ผลิตว่าให้ความสำคัญกับปัญหาที่คนทั้งโลกกำลังใส่ใจหรือไม่

Paper Basket จาก BEST BEFORE

การ Upcycling หรือการนำวัสดุมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ก็ดูเหมือนจะกลายเป็นเทรนด์ฮิต และมีโอกาสอยู่คู่กับวงการออกแบบไปอีกนาน เพราะนอกจากจะไม่เบียดเบียนธรรมชาติแล้วยังช่วยลดปริมาณขยะที่รอการย่อยสลายอีกด้วย

รองเท้าจากพลาสติกรีไซเคิล แบรนด์ Rothy’s

4. Surreal Hospitality ประสบการณ์เหนือจริง

Villa Siam จาก Iniala Beach Resort
ออกแบบโดย เอกรัตน์ วงษ์จริต และ A-cero

ประสบการณ์เหนือจริง เป็นการตอบสนองพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ในการแชร์ภาพถ่าย หรือประสบการณ์ของตัวเองลงในโลกโซเชียล พวกเขาเหล่านี้โหยหาประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนใคร ทำให้มักจะออกท่องเที่ยวอยู่เสมอ ดังนั้น องค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ อย่างโคมไฟจักสาน พรมเช็ดเท้า หรืองานศิลปะที่ดูด้วยตาก็รู้ว่าผ่านกรรมวิธีที่ทั้งยากและใช้เวลามากมายในการทำ ย่อมสามารถที่จะสร้างประสบการณ์เหนือจริงให้แก่พวกเขา จนทำให้เกิดการแชร์ต่อได้

ประติมากรรมตกแต่งผนัง “อุเบกขา” โดย วัฒนา แก้วดวงใหญ่

จะเห็นว่าการสื่อสาร และเล่าเรื่อง ก็มีความสำคัญไม่แพ้กระบวนการออกแบบ เพราะเดี๋ยวนี้ผู้บริโภคไม่ได้อยากได้เพียงสินค้าหน้าตาสวยๆ แต่มองแล้วไม่รู้สึกอะไรมาตั้งโชว์ไว้ในบ้านอีกแล้ว พวกเขาคาดหวังให้สิ่งที่เสียเงินซื้อมามีคุณค่าทั้งด้านการใช้งาน และคุณค่าในด้านจิตใจด้วย ดังนั้น การร้อยเรียงเรื่องเล่าที่มาคู่กับผลิตภัณฑ์จึงกลายเป็นสิ่งสำคัญในการนำเสนอผลงานออกแบบ เพราะบางครั้งต่อให้มีชิ้นงานที่ดีแค่ไหน แต่ถ้าสื่อสารออกไปไม่ถึงใจผู้ซื้อ ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: CRAFT INSIGHT , Trends