แนะนำ ‘ของดี 4 หมู่บ้าน’ เมืองเลย ขุมทรัพย์จากชุมชนที่รอให้คุณไปรู้จัก

 

“เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม ดอกไม้งามสามฤดู ถิ่นที่อยู่อริยสงฆ์ มั่นคงความสะอาด”

 

หากคุณเป็นนักท่องเที่ยวผู้หลงรักธรรมชาติ และสนุกกับการผจญภัย แน่นอนว่าคงจะคุ้นหูกับข้อความข้างต้นกันอยู่บ้าง เพราะนี่คือคำอธิบายจังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมมากที่สุดแห่งหนึ่งของภาคอีสาน แม้จะเป็นจังหวัดเล็กๆ แต่ก็โดดเด่นด้วยภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยภูเขา และอากาศบริสุทธิ์

ถ้าคุณเป็นนักผจญภัยที่มีโอกาสได้ปีนป่ายขึ้นไปบนที่สูงเพื่อชมวิวจากยอดภูกระดึง ภูเรือ หรือภูหลวง ก็น่าจะร้องอ๋อกันแล้ว เพราะจังหวัดที่เรากำลังพูดถึงอยู่ แน่นอนว่าคือ ‘จังหวัดเลย’

 

นอกจากจะมีสภาพภูมิประเทศที่งดงาม ด้วยทิวเขาในแนวทางทิศเหนือใต้ ยังมีแหล่งน้ำสำคัญอย่างแม่น้ำโขง เป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้ธรรมชาติในจังหวัดเลยให้มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเพาะปลูกพันธุ์พืช และไม้ประดับได้อย่างหลากหลาย เป็นแหล่งส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ

ด้วยข้อได้เปรียบทั้งหมดนี้เองที่ทำให้นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่กล่าวมา จังหวัดเลยยังมีขุมทรัพย์ที่น่าค้นหามากไปกว่านั้นอีก วันนี้ Craft ‘N’ Roll จะพาคุณไปรู้จักกับของดีที่มีเรื่องราวน่าสนใจจาก 4 หมู่บ้าน OTOP ที่รับรองว่าถ้าอ่านจบแล้วอาจจะอยากเก็บกระเป๋าไปเที่ยวจังหวัดเลยกันในทันที

แมคคาเดเมีย ทรัพย์ในดินแห่งหมู่บ้านหินสอ

ด้วยที่ตั้งของหมู่บ้านที่อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลถึง 820 เมตร หมู่บ้านหินสอ ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จึงมีสภาพอากาศและที่ดินที่เหมาะแก่การปลูกพืชที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลียอย่าง “แมคคาเดเมีย” ถั่วรสหวานมันที่ทั่วโลกต่างก็นิยมบริโภค นอกจากรสชาติแล้ว แมคคาเดเมียยังอุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด และช่วยลดอัตราการเป็นโรคหัวใจ

บ้านหินสอได้เริ่มหันมาทดลองปลูกแมคคาเดเมียได้ 10 ปีแล้ว จากที่แต่ก่อนนิยมปลูกไร่มันสำปะหลัง และไร่ข้าวโพดที่จำเป็นต้องถางป่าเพื่อปลูกอยู่ทุกปี ในตอนนี้ต้นแมคคาเดเมียกลายมาเป็นผลผลิตที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนแทนโดยที่ชาวบ้านไม่ต้องไปรุกล้ำพื้นที่ป่าเพิ่มอีก เพราะสามารถเก็บเกี่ยวไปได้เรื่อยๆ

เราจึงสามารถอุดหนุนแมคคาเดเมียเนื้อแน่น รสชาติหวานกรอบ ที่ผ่านการอบและคั่วมาอย่างพิถีพิถันได้จากหมู่บ้านแห่งนี้ ในอนาคตกลุ่มพัฒนาและแปรรูปยังมีแผนจะนำแมคคาเดเมียไปผลิตเป็นคุ้กกี้ของว่างที่ใครๆ ก็ทานได้ ทั้งยังมีแผนจะนำเปลือกไปแปรรูปเป็นสบู่ และสครับมะคาอีกด้วย

บ้านศรีรักษา กับชาคืนชีพ

อาจจะจั่วหัวดูเป็นภาพยนตร์แฟนตาซีไปหน่อย แต่ที่มาของฉายาชาคืนชีพไม่ได้มีความผิดแปลกไปจากความเป็นจริงเท่าไรนัก เพราะสิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงนี้คือพืชที่มีชื่อว่า “ชาฤาษี” สมุนไพรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ตามป่าดงดิบเขาสูง หรือผาหินปูน มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุ ย่อยอาหาร ขับปัสสาวะ และลดความดัน ด้วยภูมิประเทศของหมู่บ้านศรีรักษา หมู่บ้านเล็กๆ ในตำบลผานกเค้า อำเภอภูกระดึง ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่หน้าผาหินบริเวณวัดถ้ำจตุบูรพัน จึงมีพืชชนิดนี้ขึ้นตามธรรมชาติให้เก็บเกี่ยวมาต้มกินเป็นของดีประจำพื้นที่

ส่วนเหตุผลที่ชื่อว่าชาฤาษีก็เป็นเพราะตัวใบชา หลังจากที่นำมาตากแห้งแล้ว ลักษณะของใบจะคล้ายกับหนวดของฤาษีจึงเป็นที่มาของชื่อข้างต้น แต่อีกฉายาที่ชื่อว่าชาคืนชีพนั้น มาจากการที่เมื่อเรานำใบตากแห้งมาต้มในน้ำร้อน ตัวใบชาจะกลับมาเขียวสดอีกครั้ง เสมือนกับคืนชีพ อีกทั้งกลิ่นและรสชาติของใบชาก็หอมเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ผู้ที่ได้ดื่ม รู้สึกสดชื่นเหมือนกลับมาคืนชีพนั่นเอง

ชาฤาษีจะสามารถเก็บเกี่ยวได้แค่ปีละ 2 ครั้งเท่านั้น คือช่วงต้นฝน และปลายฝน เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่ใบชามีความเขียวชอุ่มสามารถมองหาได้ง่ายมากที่สุด อีกเหตุผลที่มันยังเป็นชาหายาก และไม่เป็นที่รู้จักก็เพราะชาฤาษีจะสามารถขึ้นตามพื้นที่สูงที่เป็นผาหินปูนเท่านั้น ไม่สามารถนำมาเพาะปลูกในพื้นที่ราบได้ ชาวบ้านจึงต้องใช้ความสามารถในการปีนป่ายผาสูงที่ทั้งลื่นและอันตรายในการเก็บมาบริโภคและขายต่อ นี่จึงเป็นอีกเหตุผลที่ชาฤาษีมีโอกาสจะกลายมาเป็นสินค้า OTOP ประจำหมู่บ้านศรีรักษา ที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้

วัฒนาภิรมณ์ ดินแดนแห่งผลไม้

หมู่บ้านวัฒนาภิรมณ์คือพื้นที่ๆ แยกตัวออกมาจากหมู่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคานในปี 2534 ด้วยพื้นที่บริเวณภูเขาน้อยใหญ่ที่ชาวบ้านนำมาใช่เพาะปลูกพืชหลายชนิด จึงโด่งดังในด้านการส่งออกและแปรรูปอาหารจากผักผลไม้ ผลผลิตที่โด่งดังจากหมู่บ้านนี้ก็ได้แก่ กล้วย มะม่วง มะขาม มะยงชิด เงาะ ลองกอง ซึ่งนอกจากจะขายเป็นผลไม้สดแล้ว ชาวบ้านยังนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูปเป็นเมนู กล้วยเบรกแตก อาหารว่างรสชาติอร่อยหวานมัน ตามสูตรของชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงมะม่วง และมะขามแช่อิ่ม ที่รอให้นักท่องเที่ยวไปทดลองชิมได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

ล่าสุด หลังจากใช้เวลาทดลองเพาะปลูก และขยายพันธุ์มานานหลายปี ในที่สุดทุเรียนที่ราบสูงที่มีชื่อว่า “คักเลย” ก็สามารถเก็บเกี่ยวและส่งออกขายได้ในฐานะสินค้าจากหมู่บ้านวัฒนาภิรมณ์แล้ว ใครที่เป็นแฟนทุเรียนก็ไม่ควรพลาดที่จะเยี่ยมชมสวนและทดลองชิมทุเรียนจากจังหวัดเลยพันธุ์นี้ ผู้ใหญ่บ้านคำฮู้ ไชยบุตร การันตีว่า “ลองแล้ว ม่วนคักๆ เหมือนชื่อพันธุ์แน่นอน”

วิมาน” ไวน์สัญชาติไทย สัญลักษณ์ใหม่แห่งบ้านปากเนียม

หมู่บ้านปากเนียม เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านเก่าแก่ของอำเภอปากชม ด้วยพื้นที่ติดภูเขาและแม่น้ำ จึงมีวิถีชีวิตผูกอยู่กับการเพาะปลูก และการหาปลาจากริมน้ำโขง เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติสูง หมู่บ้านปากเนียมจึงเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องผักผลไม้ แต่เพราะปัญหาสินค้าเกษตรตกต่ำ และผลไม้ล้นตลาด สิบเอกเชษฐา ขาวประเสริฐ นายอำเภอปากชมจึงมองเห็นว่าการค้าขายแต่เพียงผลไม้อย่างเดียว อาจไม่เพียงพออีกต่อไป แนวคิดการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบจึงเป็นทางออกที่เขาคิดขึ้น

โดยเริ่มต้นจากการแนะนำให้ชาวอำเภอปากชมลดจำนวนการปลูกมันสำปะหลังและข้าวโพด และหันมาปลูกมัลเบอร์รี่ พร้อมส่งเสริมให้เพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยการนำผลผลิตมาทำไวน์ เนื่องจากเป็นสินค้าที่สามารถเก็บรักษาได้เป็นเวลานาน แถมยังมีราคาสูง น่าจะสามารถสร้างรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในอำเภอได้

หลังจากลองผิดลองถูกมาหลายครั้ง ในที่สุดไวน์มัลเบอร์รี่ ที่มีศูนย์กลางการผลิตอยู่ที่หมู่บ้านปากเนียมก็ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ทั้งยังมีไวน์ที่ผลิตจากมะม่วง เม่า และกล้วย ผลไม้ประจำภูมิภาคที่ผลิตออกขายพร้อมกัน ภายใต้แบรนด์ชื่อว่า “วิมาน” ที่นายอำเภอปากชมคาดหวังว่า ผู้ที่ได้ดื่มด่ำไปกับไวน์รสชาติหวานกลมกล่อมจากผลไม้เหล่านี้ จะรู้สึกถึงความสุขเหมือนอยู่ในวิมานดั่งชื่อของมัน

 

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight