กว่าจะมาเป็น “ดินสอ” เครื่องเขียนเปลี่ยนโลก

“ดินสอ” เครื่องเขียนที่ใครก็ต้องเคยใช้ เคยซื้อใช้ เคยทำหาย แล้ววนกลับไปซื้อใหม่ ของธรรมดาที่แม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ต้องรู้จักนี้ เคยสงสัยบ้างไหมว่ามันเกิดขึ้นมาจากไหน ทำจากอะไร แล้วทำไมถึงต้องมีรูปร่างหน้าตาแบบนี้ 

ดินสอไม้ ชื่อก็บอกแล้วว่าทำจากไม้ มีชั้นเคลือบบางๆ อยู่ภายนอก มียางลบตรงก้น มีแกนกลางสีดำที่ทำจากแกรไฟต์ซึ่งเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสี ดินเหนียว และน้ำ นี่คือส่วนผสมที่ลงตัวที่สุดในการสร้างดินสอไม้สักแท่ง ส่วนผสมที่ต้องใช้เวลาหลายศตวรรษ กว่าจะพัฒนาเป็นไอเดียนี้ออกมาได้

‘แกรไฟต์’ หินที่เขียนบนไหนก็ติด

เรื่องราวของดินสอ เริ่มต้นที่การค้นพบ ‘แกรไฟต์’ วัตถุดิบชนิดหนึ่งที่ต่อให้ผ่านไปกี่ร้อยปีก็ยังใช้ทำไส้ดินสออยู่ ย้อนกลับไปราวๆ 400 ปีที่แล้ว ในช่วงเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังใช้ปากกาขนนกจุ่มหมึกในการเขียนหนังสือ คนเลี้ยงแกะจากหมู่บ้านเล็กๆ ในประเทศอังกฤษ ค้นพบหินสีดำจำนวนมาก บริเวณหลุมภายใต้ต้นไม้ที่ถูกพายุพัดถอนรากถอนโคนไปจนหมด

หินสีดำเนื้ออ่อนที่เมื่อลองนำมาขีดเขียนก็พบว่ามีสีเข้ม คมชัดดี ไม่ต่างจากน้ำหมึก ชาวบ้านจึงเริ่มนำหินชนิดนี้มาขีดเขียนลงบนตัวแกะ หรือทำเครื่องหมายบนสินค้า เพื่อบอกรายละเอียดอย่างชนิด จำนวน และราคาของสินค้านั้นๆ

แกรไฟต์ถูกใช้งานอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะใช้เขียนใช้วาด หรือแม้แต่เป็นส่วนผสมในกระสุนปืนใหญ่ แน่นอนว่าช่วงเวลานั้นมีสงครามน้อยใหญ่มากมายเกิดขึ้นในยุโรป ทำให้ในที่สุดแกรไฟต์ก็ขาดตลาด

จนกระทั่งในปี 1795 นิโคลาส แจ๊ค คอนเต้ หัวหน้านักเคมี และนักประดิษฐ์ชั้นแนวหน้าของฝรั่งเศส ค้นพบวิธีการบดแกรไฟต์ นำมันมาผสมเข้ากับดินเหนียว และน้ำ ทำให้มันดูคล้ายก้อนแป้งเปียก ก่อนจะนำไปกดลงแม่พิมพ์แล้วเผา

ในยุคแรกแท่งแกรไฟต์จะถูกใช้แบบเพียวๆ ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความสกปรกเลอะเทอะ คนยุคนั้นจึงมักใช้เชือก กระดาษ หรือผ้า พันแกรไฟต์ไว้ก่อนจะเขียน ภายหลังมีการคิดค้นวิธีการนำไม้มาประกบเข้ากับไส้ดินสอ มนุษย์จึงเริ่มมีดินสอไม้ที่กลายเป็นต้นตำรับของดินสอาจนถึงปัจจุบัน


แบ่งระดับความเข้ม

การผสมแกรไฟต์เข้ากับดินเหนียว ทำให้สามารถผลิตดินสอได้ปริมาณมากกว่าเก่า แถบยังสามารถกำหนดระดับความเข้มของดินสอได้ตามอัตราส่วนของดินเหนียวที่ใส่ลงไปด้ว

เฮนรี เดวิด ทอโร นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน คือผู้ออกแบบการแบ่งระดับความแข็งของไส้ดินสอ โดยใช้ตัวอักษร H และ B ในการบ่งบอกถึงความเข้ม H ย่อมาจากคำว่า Hard ที่แปลว่าแข็ง ยิ่งไส้ดินสอแข็งเท่าไหร่ ก็หมายความว่ามีดินเหนียวอยู่มาก เส้นที่ได้จะมีสีอ่อนจางแต่คมกว่า ส่วนตัว B ย่อมาจากคำว่า Black ที่หมายถึง สีดำ ไส้ดินสอที่อ่อนกว่า แปลว่ามีแกรไฟต์อยู่ผสมอยู่มาก จะทำให้ได้เส้นที่มีสีเข้มและเรียบเนียน

ระดับความเข้มและแข็งนี้จะแยกย่อยออกไปเป็นตัวเลขอีก โดยในปัจจุบันไส้ดินสอที่มีสีอ่อนที่สุดจะอยู่ที่ระดับ 9H และไส้ดินสอที่มีสีเข้มที่สุดจะอยู่ที่ระดับ 9B ในบางบริษัทก็ยังใช้ตัวอักษร E แทนตัว B เพื่อบ่งบอกความเข้มอีกด้วย

 

วัฒนธรรมการ ‘Edit’

สาเหตุหลักๆ ที่คนในยุคนั้นนิยมใช้ดินสอ ไม่ใช่แค่เพราะว่ามันมีราคาถูกกว่าปากกาขนห่าน ที่ยังต้องเสียเงินซื้อน้ำหมึกมาจุ่มด้วยถึงจะเขียนติด แต่เป็นเพราะว่ามัน ‘ลบ’ ได้

เดิมทีในยุคแรก ขนมปัง คือตัวเลือกที่พวกเขาใช้ในการขัดถูรอยดินสอออก ก่อนที่ขี้ผึ้ง หินภูเขาไฟ และยางจะเข้ามาแทนที่ในภายหลัง

ยางลบ ซึ่งพัฒนามาจากยาง ถูกติดเข้าไปที่ก้นดินสอในปี 1858 โดยพ่อค้าเครื่องเขียนชาวอเมริกันที่จดสิทธิบัตรดินสอไม้ ซึ่งมียางลบติดอยู่เป็นแท่งแรก จากสิ่งประดิษฐ์ที่ใช้เขียนอย่างเดียว กลายเป็นสิ่งที่ใช้เขียนแต่ถ้าไม่พอใจก็ลบ แล้วเขียนใหม่ได้ นี่จึงเป็นการเปลี่ยนบทบาทของดินสอ และวัฒนธรรมการจดบันทึกไปตลอดกาล

แม้ว่าเดี๋ยวนี้ ดินสอ จะไม่ใช่ไอเทมยอดฮิตสำหรับผู้ใหญ่ เพราะความเป็นมืออาชีพมักจะผูกไว้กับปากกา (ที่ลบไม่ได้) เสียมากกว่า แต่จะว่าไป เมื่อลองใคร่ครวญดูดีๆ แล้ว ในโลกนี้ไม่มีใครไม่เคยใช้ินสอ

แม้จะเป็นแค่การร่าง ไม่ใช่การขีดเขียนอย่างจริงจัง แต่ดินสอก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่อยู่ร่วมกับคนมาทุกแบบ แทบจะมีในทุกบ้าน และอาจเรียกได้ว่า เป็นสัญลักษณ์ของการเรียนรู้ แก้ไข และการเริ่มต้นใหม่ได้อย่างชัดเจนที่สุด แทบจะไม่มีอะไรเทียบได้เลย


ที่มา
https://pencils.com/pages/the-history-of-the-pencil
https://www.youtube.com/watch?v=IBf9pXOmpFw
https://en.wikipedia.org/wiki/Pencil
https://www.rd.com/culture/pencils-history/
https://www.brainpickings.org/2013/06/24/history-of-the-pencil/

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight