“เบียร์พระ” เครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์ จากโรงเบียร์สำนักสงฆ์

ถ้าพูดถึงประเทศไทย ไม่ว่าจะเหล้า เบียร์ หรือเครื่องดื่มใดๆ ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ล้วนเป็นสิ่งชั่วร้าย เป็นเรื่องไม่ดี เป็นข้อห้ามที่ระบุไว้ในหลักเบญจศีลของพุทธศาสนา แต่ในโลกทางฝั่งตะวันตก เครื่องดื่มมึนเมากลับเป็นสิ่งที่ผูกติดอยู่กับทั้งสังคมและศาสนา แถมสำนักสงฆ์เอง ยังมีบทบาทกับอุตสาหกรรมเบียร์ ในฐานะผู้ผลิต บริโภค และจัดจำหน่ายเบียร์เองอีกด้วย

 

[เครื่องดื่มศักดิ์สิทธิ์]

 

ในยุคกลาง เบียร์และคริสต์ศาสนาเป็นสิ่งที่ผูกโยงผู้คนกับโบสถ์ไว้อย่างแยกกันไม่ออก โรงเบียร์สงฆ์แห่งแรกเกิดขึ้นช่วงศตวรรษที่ 11 ที่เมืองเล็กๆ ทางตอนเหนือ ของประเทศเบลเยียม ในช่วงแรกเป็นการผลิตเพื่อบริโภคกันภายใน เพราะถูกสุขลักษณะกว่าน้ำดื่มแถมยังมีโภชนาการอยู่ในตั

แม้ว่าในยุโรป ไวน์ จะเป็นเครื่องดื่มที่นิยมมาก แต่เพราะบางพื้นที่ไม่เหมาะจะปลูกองุ่นสำหรับบ่มไวน์ คณะสงฆ์จึงเลือกผลิตเบียร์ซึ่งมีต้นทุนถูกกว่า และเป็นเครื่องดื่มของท้องถิ่นแทน

ช่วงเวลานั้น เบียร์เป็นของคู่บ้านคู่เมือง และมีบทบาทสำคัญในพิธีกรรมทางศาสนา มีการค้นพบบทสวดสำหรับเสกเบียร์ ที่มีใจความอวยพรว่า ขอให้วิญญาณของผู้ดื่มเบียร์ได้รับการปกป้อง และขอให้พวกเขามีสุขภาพดีจากการดื่มเบียร์ใหม่นี้

 

 

[“เบียร์พระ” สินค้าส่งออกระดับโลก]

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการทำเองดื่มเอง ในภายหลังเมื่อเข้าสู่ยุคของการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการด้วยเงิน พวกเขาจึงเริ่มผลิตเพื่อจัดจำหน่าย เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายภายในโบสถ์ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ “เบียร์พระ” ที่ภายหลังกลายมาเป็นสินค้าส่งออกระดับโลก

ในช่วงศตวรรษที่ 14 ความต้องการเบียร์มีเพิ่มสูงขึ้น ความเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการทั่วไปเริ่มหันมาเปิดโรงเบียร์เพื่อการค้าแข่งขันกับสำนักสงฆ์ ประกอบกับที่มีการปฏิรูปศาสนาเกิดขึ้น สัดส่วนเบียร์สงฆ์ในตลาดจึงลดลงไป

แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยคุณภาพอันเป็นที่เล่าขานของ Abbey beer หรือเบียร์จากสำนักสงฆ์ ก็ทำให้มันยังคงเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับความไว้ใจอยู่ ในช่วง 100 ปีถัดมา กิจการเบียร์สงฆ์จึงค่อยๆ ฟื้นคืนตัวได้จากการปรับปรุงสูตร และการอนุญาติให้โรงเบียร์บางแห่งสามารถผลิตเบียร์สงฆ์ได้โดยมีใบอนุญาตจากสำนักสงฆ์กำกับ

 

[สูตรเบียร์โบราณ “คืนชีพ”]

ปัจจุบันเบียร์สงฆ์มีให้เห็นตามท้องตลาดมากมาย ไม่ต่างจากเบียร์ยี่ห้อปกติ เพราะบทบาทของคริสต์ศาสนาถูกลดทอนลงมาให้เท่าๆ กับศาสนาอื่น แต่เหตุผลที่การอ้างชื่อเบียร์สงฆ์ยังทำให้เบียร์ขายได้ เป็นเพราะผู้บริโภคยังคงไว้ใจในคุณภาพ และราคาที่จับต้องได้ของมัน

ล่าสุด ข่าวที่ทำให้คอเบียร์ฮือฮากันเป็นอย่างมาก คือการที่พระสงฆ์ในเบลเยียมสามารถถอดสูตรเบียร์ดั้งเดิม ที่มีอายุกว่า 220 ปีได้สำเร็จ

สูตรเบียร์ดังกล่าว ว่ากันว่าเป็นสูตรที่บันทึกไว้ตั้งแต่ปี 1795 มันเป็นเอกสารที่ถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี แต่ไม่มีใครอ่านออก เพราะรายละเอียดต่างๆ ถูกบันทึกไว้เป็นภาษาละตินและดัตช์โบราณ บาทหลวง Karel Stautemas เล่าว่า พวกเขาต้องประกาศหาอาสาสมัครที่มีความรู้มาช่วยกันศึกษาข้อมูลในสมุด

“เราต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงค่อยๆ พลิกอ่าน ถึงจะสามารถถอดส่วนผสมที่ใชหมักเบียร์ในศตวรรษก่อนออกมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ดอกฮอพแทนที่สมุนไพรหมัก ชนิดของถังเบียร์ และขวดที่พวกเขาใช้ เราเจอแม้กระทั่งรายชื่อของเบียร์ที่ถูกผลิตขึ้นจริงในช่วงศตวรรษก่อน” บาทหลวง Karel กล่าว

และถึงแม้จะค้นพบสูตรที่ใช้จริง พวกเขาก็ตัดสินใจจะเลือกใช้ส่วนผสมบางอย่างจากสูตรเดิมเท่านั้น เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับเบียร์ในยุคนี้ สูตรเบียร์ยุคเก่ามีรสชาติค่อนข้างจืด แถมยังมีปริมาณแอลกอฮอล์สูงถึง 10.8 เปอร์เซ็น ซึ่งก็น่าจะไม่เหมาะกับการดื่มเพื่อสังสรรค์สักเท่าไหร่นัก

 


ที่มา
https://www.independent.co.uk/news/world/europe/belgian-beer-monks-grimbergen-abbey-carlsberg-a8924476.html
https://www.theguardian.com/world/2019/may/21/belgian-monks-grimbergen-abbey-old-beer
https://beerandbrewing.com/dictionary/S8sTeCF7GV/
https://themomentum.co/history-of-trappist-and-abbey-beer/
https://vinepair.com/booze-news/220-year-old-belgian-beer/

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight