จากของฝากออนเซ็นของภูมิภาคโทโฮคุสู่การกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ ด้วยรูปร่างตุ๊กตาเด็กหญิงที่มีแค่ส่วนหัวกลม ๆ กับลำตัวทรงกระบอกที่ไม่ว่าใครเห็นเป็นต้องสะดุดตา
[จากของฝากออนเซ็นสู่ของสะสม]
คาดการณ์ว่าตุ๊กตาโคเคชิ (Kokeshi) ถูกประดิษฐ์ขึ้นช่วงปลายเอโดะ หรือประมาณต้นศตวรรษที่ 19 โดยฝีมือกลุ่มช่างไม้คิจิชิ (Kijishi) ซึ่งเชี่ยวชาญการใช้เครื่องโระคุโระ (Rokuro) ผลิตภาชนะไม้
พอเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เกษตรกรต่างพาครอบครัวเดินทางไปพักผ่อนที่ออนเซ็นหลังเหน็ดเหนื่อยตลอดทั้งปี ช่างไม้คิจิชิเห็นโอกาสดีจึงคิดค้นของฝากที่ระลึกออกจำหน่ายตามเมืองบ่อน้ำพุร้อน พวกเขาผลิตของเล่นเด็กออกมา 2 ชิ้น ได้แก่ ตุ๊กตาไม้โคเคชิสำหรับเด็กผู้หญิง และลูกข่างไม้ (Koma) สำหรับเด็กผู้ชาย
รูปทรงแบบโคเคชิในปัจจุบันเกิดขึ้นในปีรัชสมัยเคียวโฮ (Kyouhou) หรือช่วงปี 1716-1736 แต่การพัฒนารูปแบบทั้งรูปร่างและลวดลายที่ประณีตบรรจงเกิดขึ้นในช่วงกลางยุคเมจิ (Meiji) หลังการเที่ยวออนเซ็นเริ่มเป็นที่นิยมมากกว่าเดิม ทำให้โคเคชิยกระดับจากตุ๊กตาของเล่นธรรมดาสู่การเป็นงานศิลปะท้องถิ่นสำหรับเก็บสะสม
[จากของสะสมสู่งานฝีมือ]
กระบวนการผลิตโคเคชิมีอยู่ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกคือ การสร้างตัวหุ่นโคเคชิ ช่างไม้นิยมใช้ไม้จากต้นมิซุกิ (Mizuki) กับต้นเมเปิ้ลอิตายาคาเอเดะ (Itayakaede) ในการผลิตตุ๊กตา เริ่มจากช่างไม้จะตัดไม้ในฤดูใบไม้ร่วง ก่อนวางทิ้งไว้ประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงนำไปตั้งตากแดดที่โรงเก็บไม้นานถึงครึ่งปี จึงได้ไม้สำหรับผลิตตุ๊กตาโคเคชิ เมื่อได้ที่จึงตัดออกเป็นท่อน เพื่อนำไม้มาเหลาด้วยเครื่องโระคุโระจนได้รูปทรงที่ช่างต้องการ แล้วจึงขัดผิวจนเกลี้ยง ปิดท้ายด้วยการเจาะรูเพื่อเชื่อมส่วนหัวกับลำตัวเข้าด้วยกัน
ขั้นตอนที่สองคือ การวาดลวดลาย โคเคชิส่วนใหญ่มักใช้สีแดง เขียว เหลืองและดำตกแต่ง มีบ้างที่ใช้สีม่วงและแดงชาด การวาดโคเคชิมีทั้งหมด 3 เทคนิค คือ การวาดมือ เทคนิคนี้ใช้กับการวาดผม ตา จมูก ปาก คิ้ว รวมถึงดอกไม้บนลำตัวของโคเคชิ ซึ่งลายดอกเบญจมาศเป็นลายยอดนิยมอันดับหนึ่ง ตามด้วยลายดอกซากุระและลายดอกบ๊วย แต่บางครั้งช่างก็สร้างความแตกต่างด้วยการตกแต่งลายดอกหมู่ตันผี ดอกไอริชหรือดอกผีเสื้อ
เทคนิคที่สองคือ การวาดเส้นสีด้วยเครื่องโระคุโระ ซึ่งมีทั้งการวาดเส้นคลื่นและเส้นรอบลำตัวตุ๊กตา
ส่วนเทคนิคสุดท้ายคือ การวาดแบบผสมผสาน เป็นเทคนิคที่ช่างตุ๊กตาโคเคชิรูปแบบยาจิโร่โคเคชินิยมใช้
[จากงานฝีมือสู่สินค้าท้องถิ่น]
ปัจจุบันโคเคชิเป็นที่รู้จักในนามของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดมิยางิ (Miyagi) มีรูปแบบท้องถิ่นทั้งหมด 5 ประเภท ได้แก่ นารูโกะโคเคชิ (เป็นรูปแบบที่คนคุ้นตามากที่สุด) , ซาคุนามิโคเคชิ, โทโอกัตตะโคเคชิ, ยาจิโร่โคเคชิ และฮิจิโอริโคเคชิ แต่ที่จริงแล้ว จังหวัดอื่นในแถบโทโฮคุก็พัฒนารูปแบบโคเคชิเป็นของตัวเองเช่นกัน ดังนั้นหากนับรวมโคเคชิทั้งโทโฮคุจะมีมากถึง 10 ประเภท โดยแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดรูปร่างและลวดลายตกแต่งแตกต่างออกไปเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง เช่น รูปแบบนารูโกะโคเคชิ มักมีผมหน้าม้า กลางลำตัวจะคอดเล็กน้อย นิยมวาดลวดลายดอกไม้
ความนิยมของโคเคชิไม่ได้หยุดที่การเป็นสินค้าของฝากเท่านั้น ยังมีการจัดงานเทศกาลโคเคชิประจำจังหวัดมิยางิ และการจัดงานโคเคชิ เอ็กโป (Kokeshi Expo) สำหรับผู้หลงใหลตุ๊กตาโคเคชิโดยเฉพาะ
[จากสินค้าท้องถิ่นสู่ป็อปคัลเจอร์]
แม้โคเคชิจะกลายเป็นหนึ่งในซิกเนอร์เจอร์ของฝากประจำแดนอาทิตย์อุทัยแล้ว ตุ๊กตาตัวนี้ยังแทรกซึมลงไปวัฒนธรรมป็อปคัลเจอร์ของญี่ปุ่นอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปรากฏตัวในฐานะตุ๊กตาสยองในการ์ตูนเรื่องเกมเทวดาฆ่าไม่เลี้ยง กลายเป็นนางเอกในเกมจีบหนุ่ม เป็นตัวต้นแบบของ mii ตัวละครจากเกม Nintendo Wii ตลอดจนเป็นกลายเป็นชนิดพวงกุญแจสินค้าอนิเมะ
แล้วก็ไม่ได้มีแค่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้นที่หลงใหลในโคเคชิเท่านั้น เบคกี้ แคมป์ (Becky Kemp) ศิลปินชาวอังกฤษ นำเอาโคเคชิมาเนรมิตเป็นเหล่าป็อปไอคอนนิกสตาร์ อย่างชาร์ลี แชปลิน, แอนนา วินทัวร์ และตัวละครจากภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ นอกจากนี้เธอยังรับออเดอร์วาดรูปโคเคชิตามสั่งอีกด้วย
เรื่อง รินพร ออกเวหา
แหล่งอ้างอิง
https://www.tohoku.meti.go.jp/s_cyusyo/densan-ver3/html/item/miyagi_01.htm
https://tabinoto.jp/column/article/00000169