‘THAItonE_studio’ หยิบลายสังกะสีเก่ามาเล่าใหม่ ผ่านสไตล์สตรีทแฟชั่น

หลายคนอาจจะเคยใช้งานภาชนะสังกะสีเคลือบหรือเคยเห็นพวกมันตามร้านอาหาร รวมถึงวัดวาอารามต่างๆ ในพื้นที่ต่างจังหวัด จานชามสังกะสีเหล่านี้เคยเป็นที่นิยมจนเรียกได้ว่าเป็นข้าวของเครื่องใช้หลักในชีวิตประจำวันของคนไทย

แม้ภายหลังจะเสื่อมความนิยมลงด้วยเหตุผลด้านความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีที่ใช้เคลือบ และกลายมาเป็นของสะสมเพื่อหวนระลึกถึงวันวานเก่าๆ แต่ก็ยังมีคนที่สนใจในลวดลาย และสีสันอันฉูดฉาดบนภาชนะเหล่านี้ และอยากนำมันมาบอกเล่าในรูปแบบของสินค้าแฟชั่นหน้าตาทันสมัย นี่คือผลงานจากแบรนด์ ‘THAItonE_studio’ 

THAItonE_studio (ไทโทน สตูดิโอ) เป็นแบรนด์สินค้าแฟชั่นที่มีเป้าหมายอยากจะนำเสนอความเป็นไทยผ่านแฟชั่นสไตล์สตรีท โดยไอเดียการออกแบบทั้งหมดมาจากความคิดของ ‘แคท’ ภัทรพร แสงนิกร เจ้าของแบรนด์ เธอเริ่มต้นจากการทำงานในตำแหน่ง Visual Merchandiser ในห้างสรรพสินค้า ก่อนจะตัดสินใจนำทักษะด้านการออกแบบที่บ่มเพาะจากประสบการณ์ทำงาน  และสถานศึกษาอย่างวิทยาลัยเพาะช่าง มาเปิดแบรนด์แฟชั่นของตัวเอง โดยสินค้าคอลเล็กชันแรกๆ ของเธอคือเซ็ตเสื้อผ้าและกางเกงที่ตัดเย็บจาก ผ้าขาวม้าทอมือ ที่มาจากท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย

“THAItonE ของแคทมันไม่ใช่ไทยที่เป็นไทยดั้งเดิม แบบไทยจ๋าๆ แคทเอามันมาผสมกับแฟชั่นบ้าง ความเป็นโมเดิร์นบ้าง ให้มันออกมาดูทันสมัย เพราะที่จริงความเป็นไทยมันก็ผสมผสานกันมาอยู่แล้ว แต่ยังคุมโทนแบบไทยผ่านวัสดุ หรือลวดลายเก่าๆ อย่างเสื้อที่ตัดจากผ้าขาวม้าแคทก็ไปรับมาจากหมู่บ้านเลย คือไปคุยกับยายที่เขานั่งทอเลยว่าอยากได้สีประมาณไหน มันเลยเป็นโทนของความเป็นไทยที่ซ่อนไว้ในเฉด ในองค์ประกอบของงานแฟชั่น”

เธอเที่ยวเสาะหาผ้าทอจากหลากหลายจังหวัดมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าแฟชั่น ไม่ว่าจะเป็นผ้าทอชนเผ่าจากทางเหนือ ผ้าขาวม้าจากทางอีสาน  หรือแม้แต่ผ้าโสร่งจากทางใต้

“ก็ถือว่ามีผลตอบรับที่ดีมาตั้งแต่แรกค่ะ อาจจะเพราะเป็นช่วงสงกรานต์พอดีเลยมีคนมาซื้อไปใส่เล่นน้ำ ใส่เที่ยวเป็นกลุ่มกันค่อนข้างเยอะ จนตอนหลังเราทำไม่ค่อยทัน คือต้องบอกก่อนว่าตัวผ้าขาวม้าเนี่ย มันต้องใช้เวลาในการทอ เพราะเราไปรับมาจากชาวบ้านที่เขาทอกันได้ทีละผืน ซึ่งบางทีตัวสี หรือลวดลายมันก็ไม่ได้ถูกใจเราไปหมด ก็ต้องเลือก ต้องรอ กว่าจะได้อย่างที่ต้องการ ตอนนั้นธุรกิจมันเลยขาดช่วงไปเพราะเราไม่มีของ เลยคิดว่าเราต้องทำอย่างอื่นมาขายด้วยแล้ว จนมาได้ไอเดียจากถาดสังกะสีเก่าที่เราคุ้นเคยกันดีนี่ล่ะ” ภัทรพรกล่าว

ด้วยรสนิยมส่วนตัวที่ชอบเดินเที่ยวตามย่านตลาดเก่า รวมถึงชอบข้าวของเก่าๆ ทำให้เธอเกิดไอเดียที่จะนำลวดลายจากของเก่าอย่างภาชนะสังกะสีมาใส่ไว้ในสินค้า

“ที่จริงตอนนั้นนอกจากลายจานชามสังกะสีก็ดูไว้หลายอย่าง ลายเครื่องครามสังคโลกแคทก็สนใจ แต่ของพวกนั้นประวัติศาสตร์มันยาวมาก แล้วเรารู้สึกว่าเรายังไม่มีความรู้มากพอ ก็เลยยังไม่กล้าหยิบจับมาวาด อย่างพวกลายถาดสังกะสี ประวัติศาสตร์มันยังไม่ยาว มันเป็นของใช้ที่คุ้นเคย แถมยังมีสไตล์ของมันอยู่ คือมันฉูดฉาด มีเอกลักษณ์ เป็นสีที่เราก็ยังไม่เคยเห็นใครหยิบจับมาใช้ ก็เลยอยากลองเอาลายของเก่าๆ พวกนี้มาเล่าในของใช้ปัจจุบันอย่างพวกกระเป๋าผ้าดู”

ด้วยความนิยมของเทรนด์ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติกในช่วงนั้น เป็นแรงบันดาลใจให้เธอออกแบบทรงของถุงผ้าให้ดูคล้ายกับถุงพลาสติกไปด้วย เพื่อสื่อสารให้หลายคนเปลี่ยนจากการถือถุงพลาสติก มาถือถุงผ้าที่มีลวดลายสวยน่าใช้กว่าแทน คอลเล็กชันกระเป๋าผ้าดังกล่าวมีผลตอบรับดีจนเธอตัดสินใจออกแบบลายกระเป๋าถือเพิ่มขึ้นมาด้วย โดยยังคงเป็นลวดลายฉูดฉาดจากถาดสังกะสี ที่ไม่ว่าจะสะพายไปที่ไหนใครก็ต้องเหลียวมอง

“ก่อนจะวาดแคทก็พยายามหาข้อมูล พยายามถามปู่กับย่าก่อน ที่บ้านเขาจะมีของพวกนี้เก็บไว้เยอะ เราเลยได้รู้ว่าถ้าเป็นพวกถาดเก่า พวกจานชามจีนโบราณที่เขาวาดมือเลย นอกจากดอกไม้เขาจะใส่คำอวยพร ใส่เรื่องโชคลาภลงไปด้วย ลายมันจะละเอียดกว่าถาดพิมพ์ลายสมัยนี้ แคทก็พยายามศึกษา แล้วถึงออกแบบลายที่มันสื่อความหมายดีๆ ออกมา มันไม่ใช่ว่านึกจะวาดก็วาดเลยเหมือนกัน” เธอเล่าถึงที่มาของลวดลายที่เธอออกแบบ

ทั้งความทุ่มเทในการศึกษาค้นคว้ารวมถึงความใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด ทำให้ตอนนี้สินค้าจาก THAItonE_studio ได้รับการติดต่อไปวางประจำที่ร้าน AbsoluteSiam ห้าง Siam Center

เธอตัดสินใจออกแบบกระเป๋า 2 ลายพิเศษชื่อ ‘ศิวิไลรำซิ่ง’ ซึ่งเป็นการผสมผสานการตัดเย็บวัตถุดิบผ้าขาวม้าที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แล้วครอบด้วยพลาสติกสีนีออนสะท้อนแสง ซึ่งเธอบอกว่ามันเปรียบเสมือนการครอบวัฒนธรรม และแปะทับด้วยลวดลายดอกไม้จากถาดสังกะสี กลายเป็นกระเป๋าคอลเล็กชันพิเศษ ที่ตัดเย็บด้วยมือ 100% แถมยังขายแค่ที่ร้าน Absolute Siam เท่านั้น

“มันก็เพิ่งเริ่มต้นค่ะ แคทเริ่มทำแบรนด์จริงๆ จังๆ ประมาณเมษาปีที่แล้ว สงกรานต์ปีนี้ก็น่าจะครบปีพอดี ก็ถือว่าเติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ เราก็หวังให้มันเติบโตมากกว่านี้อีก แต่คงต้องดูโอกาส ดูความเป็นไปได้ต่อไปก่อน”

แม้จะค้นพบว่าการตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาปั้นแบรนด์ THAItonE_studio นั้นจะเหนื่อยแสนเหนื่อย แต่ภัทรพรก็บอกว่ามันเป็นความเหนื่อยที่ปนกับความสุข เธอยังคงมีแรงผลักดันกับการทำสินค้าแฟชั่นที่ไม่ทิ้งโทนความเป็นไทยออกมาขายต่อไปเรื่อยๆ โดยมีความคาดหวังว่าในที่สุดมันจะสามารถกลายเป็นของฝากที่ถูกตาต้องใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ในอนาคต

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

จุลดิศ อ่อนละมุน

ช่างภาพ

Categories: Craftmanship , TALKS