คุยกับ PALINI ว่าด้วยเรื่องของ หมวก แบรนด์ และการทำงานเป็นทีม

คุณอาจเคยได้ยินแบรนด์ PALINI ปาลิณีย์ ผ่านหูมาบ้าง เพราะพวกเขาเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยมีสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และออกแบบ หมวกทรงแปลกๆ ที่เอามาแมตซ์กับเสื้อผ้าแล้วดูโดดเด่นขึ้นมาทันที

วันนี้ Craft ‘N’ Roll จะพาไปรู้จัก เบนซ์-ปัณณรุจน์ เนติพีระพงศ์ ผู้ก่อตั้ง PALINI แบรนด์แฟชั่นที่ไม่ได้ดีไซน์แค่หมวกและเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังดีไซน์เรื่องราว ปรัชญาชีวิต และวิธีคิดการทำงานพวกเขาอีกด้วย

 

ทำไมต้องเป็น “หมวก”

ปัณณรุจน์ : ตั้งแต่วัยรุ่นผมเป็นคนชอบแต่งตัวอยู่แล้ว ชอบจนขนาดที่ว่าไปขอเขาทำงานร้านเสื้อผ้าที่จตุจักรชื่อว่า “เบลอ บันด็อก Blur Bundok” ซึ่งตอนนั้นไม่ได้โฟกัสที่เงินอยู่แล้ว เราแค่อยากขายเอามันส์เพราะเราชอบเสื้อผ้า

ผมไปช่วยเขาเปิดร้านตั้งแต่เช้าเลย พอตกเย็นขายเสร็จเราก็ไม่ได้เงินเพราะไม่เคยคุยเรื่องค่าจ้าง และตอนนั้นผมไว้ทรงนักเรียนเกรียนๆ เลย พี่เจ้าของร้านมองดูเรา ดูการแต่งตัวก็รู้สึกว่าโอเคแล้วล่ะ แต่หัวมันยังโล้นๆ ก็เลยให้หมวกมาหนึ่งใบเป็นค่าจ้างทุกอาทิตย์

ฉะนั้นหลังจากขายของเสร็จ เวลาผมไปเที่ยวต่อกับเพื่อน ผมก็จะใส่หมวกใบใหม่ๆ อยู่เสมอ พอผมเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องเครื่องแบบอะไร ผมก็เลยใส่หมวกตอนนั้นด้วย มันก็เลยเป็นภาพจำของคนรอบข้าง และความเคยชินที่ติดตัวมาว่า “เบนซ์มันต้องใส่หมวก”

งานแรกที่ทำ

ปัณณรุจน์ : ผมเริ่มจากเป็นคอลัมนิสต์ที่ Cheeze Looker ได้มีโอกาสทำงานทั้งไปสัมภาษณ์คน และทำสไตลิสต์ด้วย (จัดเซ็ตเสื้อผ้า) ซึ่งผมไม่ได้จบแฟชั่นมานะ ผมจบนิเทศน์โฆษณามา แต่เพราะผมชอบแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยลองทำมันดู และยิ่งทำมันก็ยิ่งสนุก

การเป็นคอลัมนิสต์ ทำให้ได้พูดคุยกับคนเก่งๆ ทำให้เราได้แนวคิด ธุรกิจ และวิธีการต่างๆ ส่วนการเป็นสไตลิสต์ ทำให้เราได้ออกแบบ คิด และสร้างสรรค์แฟชั่นในสไตล์ที่เราเรียนรู้มา

การได้ทำงาน 2 ด้านนี้ เหมือนเป็นบาลานซ์ของชีวิต ได้ท้าทายตัวเองอยู่เสมอ เพราะถ้าให้ผมสัมภาษณ์คนอย่างเดียว ผมจะเบื่อ หรือจะให้ผมทำสไตล์ลิสต์ทุกวันก็คงไม่ได้เหมือนกัน

 

จุดเริ่มต้นของการทำธุรกิจ

ปัณณรุจน์ : หลังทำงานมาประมาณ 5 ปี ผมก็เลยออกมาเพราะอยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เลยมองย้อนที่ตัวเองว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง ก็นึกถึง 3 อย่างที่เป็นตัวเรา คือ หมวก เสื้อฮาวาย และครามไทย จากนั้นก็ลองเอาสิ่งเหล่านี้มาทำเป็นสินค้าดู ออกมาเป็น หมวกที่ใส่ได้ 2 ด้าน คือ ด้านฮาวาย และครามไทย

เสน่ห์ของไอเท็มชิ้นนี้ คือ เวลาเอาเสื้อฮาวายที่เป็นวินเทจจริงๆ มาวางคอมโพสทำหมวก ลายที่ได้จะไม่เหมือนกันเลย ส่วนครามไทย ผมก็เอามาย้อมด้วยเทคนิคชิโบริที่เป็นการมัดแบบญี่ปุ่น ทำให้หมวกของ PALINI เป็นการผสมผสานทางวัฒนธรรมแล้ว (Mixed Culture) และมีลูกเล่นพิเศษที่เราใส่ลงไปอีกด้วย

โดยความรู้เรื่องหมวกนั้นได้จากตอนทำงานล้วนๆ เพราะตอนทำคอลัมนิสต์ ผมได้มีโอกาสคุยกับคนทำหมวกเก่งๆ หลายคน และผมก็เป็นอาจารย์พิเศษวิชา Fashionary ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประมาณ 5-6 ปี จนถึงปัจจุบันก็ยังสอนอยู่ สอนประวัติศาสตร์ของหมวก หมวกแบบนี้เรียกว่าอะไร ทำนองนี้ครับ เลยทำให้เราต้องทบทวนความรู้เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษาอยู่ตลอดเวลา

 

การตั้งชื่อ แบรนด์ PALINI ปาลิณีย์

หลายคนอาจคิดว่า ชื่อแบรนด์เป็นองค์ประกอบเล็กๆ ไม่ได้สำคัญอะไร แต่มีงานวิจัยมากมายยืนยันแล้วว่า ชื่อของแบรนด์ ส่งผลหลายด้านต่อผู้บริโภค ซึ่งสำหรับเบนซ์เอง เรื่องนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ปัณณรุจน์ : หลังจากที่ทำไอเท็มแรกออกมาผมกับแฟนคิดแล้วว่าเราต้องมีแบรนด์เป็นของตัวเอง ชื่อที่คิดได้ตอนแรกๆ เช่น Aphrodite,Mysteric หรืออะไรทำนองนี้ ซึ่งในตอนแรกมันฟังดูความหมายดีนะ แต่พอตื่นขึ้นมาอีกวันหนึ่ง ฟังแล้วมันโคตรเลี่ยน ส่วนตัวผมเองก็ไม่ใช่ที่มั่นใจอะไรในตัวเองขนาดนั้นที่จะเอาชื่อตัวเองมาเป็นแบรนด์เหมือนดีไซน์เนอร์ดังๆ เลยคิดว่าชื่ออะไรที่เราจะอยู่กับมันได้นานๆ ก็ปิ๊งชื่อของคุณแม่ ‘ปาลิณีย์’

อีกเหตุผลหนึ่งคือ ผมช่วยงานที่บ้านมาตลอด ทำให้ใกล้ชิดกับคุณพ่อคุณแม่ ผมจึงคิดว่าชื่อนี้เป็นชื่อที่ดี และทำให้เรารู้ว่าเรากำลังทำเพื่อใครอยู่ นอกจากนั้น ปาลิณีย์ PALINI เวลาเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้ว มันสวย อ่านง่าย และโมเดิร์นอีกด้วย

การเขียน Brand Proposal

ปัณณรุจน์ : ต่อมาสิ่งที่ผมตั้งใจทำและใช้เวลาค่อนข้างมากคือ การเขียน Brand Proposal ซึ่งผมได้เรื่องพวกนี้ตั้งแต่ทำงานที่เก่า พี่ปู-จิรัฏฐ์พรพนิตพันธุ์ หัวหน้าผมที่ Cheeze สอนผมมาตลอดถึงความสำคัญของการมีไบเบิลที่ดีทำให้รู้ว่า แบรนด์จะเติบโตไปในทิศทางไหน แบรนด์ต่อไปจะเป็นยังไง ลูกค้าคือใคร คือเหมือนทำการตลาดที่เอาทฤษฎีมาผสมกับชีวิตจริง

พอไบเบิลของเราแข็งแรงแล้ว เราก็เลยรู้ว่าสิ่งที่เราต้องทำต่อไปมันคืออะไร จุดที่พอใจที่สุดของเราอยู่ตรงไหน

ทำไมPALINI ถึงชอบ Collaboration กับแบรด์อื่น

ปัณณรุจน์ : เป็นความสนุก และการท้าทายตัวเองครับ

การเลือกแบรนด์ที่จะมาร่วมงานผมเลือกจากทัศนคติของผู้ก่อตั้งแบรนด์มากกว่า อยากทำอะไรกับคนที่มีไอเดียสนุกเหมือนกัน เพราะฉะนั้นแค่ได้เริ่มทำ แค่ได้ภาพร่างของสินค้ามันก็เติมเต็มให้เราตั้งแต่ของยังไมได้วางขายด้วยซ้ำ เช่นตอนที่กำลังจะเปิดตัวแบรนด์ PALINI ที่ร้านMuzina ที่เป็นร้านของเพื่อนเราก็ส่งผ้าฮาวายของเรา ไปให้เขาทำรองเท้ารุ่น Limited Edition ออกมา

หรือเคสที่คนคาดไม่ถึง คือ การไปจับมือกับแบรนด์หมวกด้วยกันเองก็มี ซึ่งเป็นความท้าทายมากที่ต้องก้าวข้ามกำแพงนั้น เพราะในอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่คนที่ทำสินค้าเหมือนกันมักจะมองอีกฝ่ายเป็นคู่แข่งหรือศัตรู แต่ผมไม่ได้มองอย่างนั้นนะ ถึงสินค้าจะเหมือนกัน แต่เรื่องราวและแรงบันดาลใจของแต่ละแบรนด์ไม่เหมือนกันแน่นอน

ลูกค้าของ PALINI ส่วนใหญ่คือใคร

ปัณณรุจน์ : ช่วงแรก PALINI เน้นขายในแบบออฟไลน์มากกว่าเพื่อให้ลูกค้าได้เข้ามาลอง และสัมผัสสินค้า เพราะผมคิดว่าหมวกเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยเหมือนกัน อย่างตอนคุยโทรศัพท์กับลูกค้าถามเรื่องขนาดของศีรษะ มีน้อยคนมากที่รู้เรื่องนี้ แต่พอลูกค้าได้ลองใส่แล้วติดใจคราวนี้ก็กลับมาซื้อออนไลน์ได้เลย ตอนนี้เราวางใน 32 สาขา และกำลังขยายช่องทางออนไลน์มากขึ้น

Target ที่เราวางไว้ในตอนแรกก็คือกลุ่มคนแบบ Artistic Lifestyle คนที่ชื่นชอบศิลปะชอบการทำงานกับวัสุต่างๆ แต่ก็ไม่ได้ Artist ขนาดที่ว่าใส่เสื้อม่อฮ่อม อยู่บนภูเขา ไม่ใช้ไฟฟ้า มันก็จะมีความ Urban ปนอยู่ด้วย เช่น ดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือโซนอาร์ตในจตุจักรอะไรแบบนี้มากกว่า

แต่พอขายไปเรื่อยๆ จากที่เราคิดว่าสินค้ามันค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม (Niche) ในตอนแรก กลับเป็นลูกค้าที่ค่อนข้างกว้าง (Mass) เพราะไม่ใช่แค่คนที่ใส่หมวกเพื่อเป็นแฟชั่นเท่านั้น แต่ก็ยังมีคนอีกเยอะเลยที่ใส่เพื่อฟังก์ชั่นบังแดด ฉะนั้นเรามีความสุขมากแล้ว ที่ PALINI สามารถตอบโจทย์คนได้ทุกด้าน

 

เทรนด์การใส่หมวกในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นรึเปล่า

ปัณณรุจน์ : ประเทศไทยเป็นประเทศที่ ‘Always Summer’ อยู่แล้วฉะนั้นหมวกมันจึงใส่ได้เรื่อยๆ ร้อนก็ใส่บังแดด ฝนตกปรอยๆ ก็ใส่กันฝนซึ่งมันจะต่างจากพวกเสื้อโค้ท เสื้อเก็บอุณหภูมิ ที่ใส่ได้บางฤดูกาล

ปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่ทำให้รู้สึกว่าคนใส่หมวกมากขึ้น ก็เพราะว่ามันเป็นไอเท็มที่สังเกตง่ายที่สุด เพราะมันอยู่บนศีรษะเรา แต่ตอนนี้เทรนด์ที่ฮิตจริงๆ อาจเป็นเครื่องประดับชนิดอื่นก็ได้ ในขณะที่คนอาจจะเริ่มใส่หมวกเพิ่มนิดหน่อย เพียงแต่หมวกมันเด่นชัดที่สุดแค่นั้นเอง

ผมว่าศิลปินมีส่วนมากเหมือนกันที่ทำให้คนเริ่มอยากใส่หมวกตามคาแรคเตอร์ที่เขาขื่นชอบ แต่สุดท้ายแล้วคนจะตามเทรนด์นั้นต่อรึเปล่า อันนั้นผมว่าเป็นความชื่นชอบส่วนบุคคลละ ฉะนั้นคงต้องดูกันยาวๆ

 

เป้าหมายของแบรนด์ PALINI

ปัณณรุจน์ : ตอนที่ออกจากงานประจำมาทำธุรกิจ สิ่งที่ผมอยากทำจริงๆ ตอนแรก คือ ของตกแต่งบ้าน (Home Decorations) แต่ความรู้ผมด้านเซรามิค หรือเฟอร์นิเจอร์ยังไม่มี ผมก็กลัวว่าคนจะไม่เข้าใจสิ่งที่จะนำเสนอ ผมเลยลองทำแบรนด์แฟชั่นที่ตัวเองถนัดก่อน จากนั้นเมื่อคนเข้าใจแฟชั่นและแบรนด์มากขึ้นแล้ว ผมค่อยพามารู้จักแบรนด์ของตกแต่งบ้านที่ชื่อว่า PALINI Home

ซึ่งมันก็จะย้อนกลับไปถึง Brand Proposal ที่ผมวางแผนไว้ว่า ผมจะเริ่มทำแบรนด์ PALINI ให้แข็งแรง จากนั้นในปีที่ 4 ค่อยเปิดตัว PALINI Home และในช่วงที่ผมทำ PALINI ผมก็คุยกับซัพพลายเออร์ ติดต่อโรงงาน และหาความรู้เรื่องของตกแต่งบ้านมาโดยตลอด

ตอนนี้เราก็กำลังทำตามแผนที่วางไว้ สาเหตุที่ผมต้องวางแผนค่อนข้างละเอียดก็เพราะว่า ผมไม่ได้อยากให้ PALINI เป็นแบรนด์ที่หรูหราอะไรขนาดนั้น แต่ผมอยากให้ทุกคนที่อยู่ใน PALINI มีคุณภาพชีวิตที่ดี เช่น เราจะเปิดโอกาสให้ทุกคน ทำโปรเจกต์ร่วมกันภายใต้แบรนด์ PALINI เพราะฉะนั้นนอกจากรายได้หลักที่ได้จาก PALINI แล้ว ยังมีรายได้เสริมที่เป็น Co Partner ในแต่และโปรเจกต์อีกด้วย

 

หัวใจสำคัญในการทำงานของ PALINI

งานชิ้นสำคัญ ไม่มีวันสำเร็จได้ด้วยคนๆ เดียว สำหรับ PALINI ก็เช่นกัน เพราะบรรยากาศในการทำงานของพวกเขา ทีมจึงเดินไปข้างหน้าพร้อมกัน

ปัณณรุจน์ : PALINI ตอนนี้มี 4 คน และทุกคนทำงานหลายหน้าที่มาก (Multifunction) โอเคแต่ละคนมีบทบาทที่ถูกกำหนดไว้ แต่งานบางอย่างทำหลายคนมันสนุกกว่า เช่น การไปคัดเสื้อที่จตุจักร การไปออกบูธงานต่างๆ เป็นต้น ซึ่งมันอาจฟังดูไม่เป็นระบบที่ยกขบวนไปไหนด้วยกันทุกที่ แต่ผมว่ามันเป็นระบบที่ลงตัวของ PALINI เพราะทุกคนก็เคยเจอกันที่ Cheeze มาก่อน เคยทดลองทำงานด้วยกันมานาน เลยรู้ว่าเราชอบทำงานแบบไหนกัน และอีกอย่างที่สำคัญมากๆ คือ พี่ปูที่เป็นหัวหน้าดูแลพวกเราดีมาก ทำให้พอมาทำ PALINI ทุกอย่างเลยไปได้เร็ว

ผมคุยกับพี่ปูเสมอว่า พี่ดูแลผมดียังไง ผมก็ดูแลน้องของผมแบบนั้น บรรยากาศใน PALINI มันก็เลยดูสบายมากๆ และด้วยความที่ผมตั้งใจให้องค์กรมันเล็ก มันเลยดูแลกันได้ เวลานั่งกินข้าวก็ไม่ต้องแยกโต๊ะ ออกไปไหนก็นั่งรถคันเดียวกันไปเลย  นั่งทำงานก็นั่งโต๊ะเดียวกันติดๆ กันแบบนี้เลย ถึงแม้ว่าออฟฟิศใหม่ที่กำลังขยับขยายจะมีพื้นที่เพิ่มมากขึ้น แต่เราก็ยังจะนั่งโต๊ะเดียวกันเหมือนเดิม

 

คนที่มาทำงานกับผมไม่ใช่คนที่เก่งที่สุดนะ แต่เป็นคนที่ทัศนคติดี และเป็นคนที่ผมอยากทำงานด้วยมากที่สุดต่างหาก

 

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , POPULAR , TALKS