Basic Teeory ทฤษฎีเครื่องประดับ กลั่นจากประสบการณ์เกือบ 20 ปี

หนทางสู่การมีแบรนด์ของคนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน บางคนเริ่มสร้างตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัย บางคนต่อยอดจากธุรกิจของครอบครัว

แต่สำหรับแบรนด์ Basic Teeory จิ๊กซอว์แต่ละชิ้นถูกรวบรวมผ่านประสบการณ์ทำงานของ ตี๋-วรชัย ศิริวิภานันท์

 

จิ๊กซอด้านการออกแบบ

“เราจบด้านด้านออกแบบสิ่งทอมา และได้ทำงานด้านสิ่งทอ (Textiles) เป็นเวลาประมาณ 5 ปี ตอนนั้นเป็นช่วงที่สนุกมาก เพราะเราต้องทำงานกับวัสดุที่เราไม่เคยรู้จัก ซึ่งทำให้เรากลายเป็นคนชอบหยิบจับวัสดุที่คนไม่ค่อยใช้มาทำเป็นชิ้นงาน

จากนั้นได้ไปทำงานด้านของตกแต่งบ้าน (Home Decorations) ซึ่งไม่ใช่แค่เฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว แต่จะเป็นงานพื้นผิวต่าง ซึ่งในงานนี้ก็ได้นำประสบการณ์ด้านสิ่งทอมาใช้ด้วย โดยทำงานด้านนี้อีกประมาณ 5 ปี” คุณตี๋กล่าว

 

จิ๊กซอด้านการตลาด

หากได้สั่งสมประสบการณ์ในการทำงานมาสัก 10 ปี เชื่อว่ามีหลายคนเริ่มอยากออกมาทำธุรกิจเป็นของตัวเองแล้วแน่ๆ
แต่สำหรับคุณตี๋ เขาคิดว่าความรู้ด้านธุรกิจของเขายังไม่มากพอ และเขายังสนุกกับการทำงาน อยากที่จะเรียนรู้การสร้างแบรนด์ เขาจึงไปทำงานเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดอีกประมาณ 5 ปี

“จริงๆ แล้ว เราก็อยากทำแบรนด์เป็นของตัวเองแล้วล่ะ เพราะเราทำงานออกแบบมานาน ได้ทำงานกับวัสดุมานาน มันก็มีไอเดียที่อยากทำมากมาย แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจทำงานต่ออีกหน่อย เพื่อเก็บประสบการณ์และเก็บเงินไปในตัว”

ต่อจนกลายเป็น Basic Teeory ที่เล่นกับคำ “Basic Theory ทฤษีพื้นฐานที่ใช้ในการเรียนรู้” แต่เพิ่มชื่อ “Tee ตี๋” เข้าไปด้วย แบรนด์นี้จึงผสมผสานความเชี่ยวชาญในแต่ละด้านของผู้ก่อตั้งลงไปนั่นเอง

 

คอลเลกชันแรก Paper You Can Wear

เครื่องประดับที่เป็นโลหะ และมีเพชรพลอย จำเป็นจะต้องใช้ทักษะช่างโลหะ (Blacksmith Skills) แต่สินค้า Basic Teeory ไม่ใช่กลุ่มนั้น แต่เป็นเครื่องประดับที่ใช้ทักษะการเย็บ การปัก การทอ การพับ ที่มาจากความชำนาญของคุณตี๋

โดยคอลเลกชัน Paper You Can Wear ทำมาจากกระดาษเหลือใช้จากที่ต่างๆ เช่น โรงงานกระดาษ บรรจุภัณฑ์ต่างๆ นำมาม้วน เคลือบ และทาสีด้วยการทดลองหลายปี จนได้เครื่องประดับที่สวยแปลกตา และไม่ค่อยเห็นในท้องตลาด

 

สินค้าพูดไม่ได้ เราต้องพูดเอง

การเล่าเรื่อง (Storytelling) เป็นสิ่งสำคัญมากในการส่งข้อความไปถึงลูกค้า ฉะนั้นเวลา Basic Teeory ไปออกบูธที่ไหน จะเห็นป้ายบอกเรื่องราวของคอลเลกชันหรือแบรนด์อยู่เสมอ และถ้าลูกค้าได้เอ่ยปากถามเมื่อไหร่ คุณตี๋ก็พร้อมเล่าเรื่องราวของสินค้าทุกชิ้นอย่างไม่มีกั๊ก (บทสัมภาษณ์นี้ก็เช่นกัน)

“เครื่องประดับของเรา ลูกค้าส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าเป็นกระดาษ ฉะนั้นเราก็ต้องพยายามเล่าเรื่องของเราให้เขารับรู้ด้วย”

 

ตัวตนของ Basic Teeory?

“ด้วยการประสบความสำเร็จของคอลเลกชันแรก มันทำให้คนจำว่าเราเป็นเครื่องประดับจากกระดาษเหลือใช้ แต่จริงๆ แล้ว Basic Teeory ไม่ได้แบรนด์รีไซเคิลขนาดนั้น เราแค่อยากใช้วัสดุเหลือใช้ วัสดุที่คนไม่ค่อยเห็นค่ามาพัฒนาให้กลายเป็นสินค้า ปัจจัยหลักก็คือวัสดุเหล่านี้ราคาถูกมาก เพราะฉะนั้นในอนาคตข้างหน้าก็มีวัสดุอีกมากที่เราสามารถทำได้”

“อย่างอันนี้ก็ทำมาจากท่อยางของโรงงาน มีเศษแก้ว เศษกระจกอยู่ข้างใน หรือบางชิ้นเราเจอผ้าไหมไทย เราก็นำมาทำเป็นเครื่องประดับที่ชาวต่างชาติเองก็อึ้งเหมือนกัน ว่าผ้าไหมทำแบบนี้ได้หรอ”

 

บทเรียนสำหรับคนทำงานคราฟต์

1.เล่าเรื่องให้เป็น

วิธีการที่ดีที่สุดในช่วงเริ่มต้น คือ ผู้ก่อตั้งต้องเป็นคนสื่อสารให้ลูกค้าได้ทราบเองว่าสินค้าของเราคืออะไร มันคราฟต์อย่างไร ทำไมถึงราคาสูงกว่าสินค้าทั่วไป เป็นต้น

2.เดินบนทางของตัวเอง

อย่างที่กล่าวไปในตอนแรกว่า หนทางสู่การมีธุรกิจของคนแต่ละคนไม่เหมือนกัน ฉะนั้นคุณไม่จำเป็นเอาเรื่องราวของคนอื่นมาเป็นไม้บรรทัดวัดความสำเร็จของตัวเองมากเกินไป แค่เก็บเอาหลักสำคัญมาปรับใช้ และวางแผนเส้นทางของตัวเองก็พอ

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: