เปิดประตูสู่ความสร้างสรรค์ ไปกับ Creative Siamese Club by Tareeya

ท่ามกลางบรรยากาศบ้านเมือง และเศรษฐกิจที่ตึงเครียด พาให้ใครต่อใครต่างก็ห่อเหี่ยวไร้แรงบันดาลใจจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ การได้พบปะเข้าสังคมพร้อมกับสร้างสรรค์งานศิลปะ อาจเป็นเหมือนช่วงเวลาแห่งการบำบัดที่ช่วยกระตุ้นให้เหล่าผู้ที่กำลังเบื่อหน่ายพลันเกิดความคิดสร้างสรรค์

นี่คือแนวคิดที่เป็นจุดเริ่มต้นของสตูดิโออย่าง Creative Siamese Club by Tareeya

“เราได้ยินเป็นเสียงเดียวกันจากเพื่อนๆ ในแวดวงธุรกิจ แล้วก็พ่อค้าแม่ค้าต่างๆ ว่าช่วงนี้เศรษฐกิจมันซบเซานะ คุยกับใครก็ดูเครียดๆ อึมครึมกันไปหมด แล้วด้วยความที่เราทำงานด้านดีไซน์ ก็เลยมีไอเดียอยากลองเปิดพื้นที่ของเราให้คนที่อาจจะรู้สึกไม่มีแรงบันดาลใจ หรืออยากลองทำอะไรใหม่ๆ มาเรียนรู้มันดู เผื่อจะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของเขา หรือแม้แต่ทำให้เขาสามารถเอาไปต่อยอดเป็นรายได้เสริมของตัวเองได้”

Creative Siamese Club by Tareeya คือโรงเรียนสอนเวิร์คช้อปงานศิลปะไทย ที่ตั้งอยู่ในย่านท่องเที่ยวที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวต่างชาติอย่างย่านคลองสาน แม้จะเป็นสตูดิโอคราฟต์ที่เพิ่งเปิดได้ไม่นาน แต่ผู้อยู่เบื้องหลังการก่อตั้งกลับไม่ใช่มือสมัครเล่นในแวดวงงานออกแบบเลย

“ที่จริงก่อนหน้านี้เราทำธุรกิจเกี่ยวกับงานดีไซน์ที่แสดงออกถึงความเป็นไทยอยู่แล้ว ชื่อแบรนด์ว่า Tareeya งานของเราคือการออกแบบของขวัญ ของฝาก ของชำร่วย ภายใต้คอนเส็ป “Thainess you can carry.” หรือการนำความเป็นไทยมาทำอะไรที่มันดูจับต้องได้ ใช้งานได้จริง ลายพวกนี้เราก็จะออกแบบและจดลิขสิทธิ์เป็นของเราเอง ก็เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ๆ นึง ที่อยู่มาจะสิบปีแล้วค่ะ”

อัจฉรียา จิรายุส หรือ ต้า คือผู้ที่นั่งคุยกับเราถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจโรงเรียนสอนศิลปะในบ่ายวันอาทิตย์วันหนึ่ง เธอเล่าว่าที่ผ่านมา หลังจากคลุกคลีกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไทยมานาน ก็เริ่มสั่งสมทั้งความรู้ ความเข้าใจ และความเชี่ยวชาญด้านการนำเสนอความเป็นไทยในรูปแบบของสินค้า จนเกิดความคิดที่อยากจะเปิดช่องทางให้คนอื่นได้เข้ามาเรียนรู้ความเป็นไทยที่จับต้องได้

เธอเลือกก่อตั้งสตูดิโอทำสอนงานศิลปะ เพราะอยากให้คนเข้ามารู้จักงานศิลปะไทยผ่านการทำกิจกรรมสนุกๆ และเข้าใจง่าย แง่หนึ่งก็เพื่อเผยแพร่ตัวตนของแบรนด์ รวมถึงเปิดพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์ของคนที่มีความสนใจเหมือนๆ กัน และเพื่อเติมเชื้อไฟแห่งความสร้างสรรค์ให้กันด้วย

“แนวคิดหลักๆ ของเราคือการเป็นศูนย์รวมเวิร์คชอป เป็นสถานที่เรียนรู้ที่เราจะให้ข้อมูลเชิงทักษะ และงานออกแบบของไทย เปิดให้บุคคลทั่วไปหรือแม้แต่นักท่องเที่ยวได้ลองมาทำงานฝีมือแบบไทยดู แต่ไทยของเราจะเป็นไทยประยุกต์ ที่เข้ากับยุคสมัย เราจะพยายามสอนให้คนที่มาเรียนรู้จักการดึงสน่ห์ความเป็นไทยออกมาผสมผสานกับสิ่งใหม่ๆ จนเกิดเป็นงานที่น่าสนใจขึ้น”คลาสงานสร้างสรรค์ไทยร่วมสมัยในรูปแบบของ Creative Siamese Club by Tareeya จึงออกมาในรูปแบบของชิ้นงานหน้าตาแปลกใหม่ แต่ก็ยังคงใส่สัญลักษณ์บางอย่าง ที่สื่อถึงความเป็นไทยไว้อย่างแจ่มชัด

“บางทีเวลาพูดถึงความเป็นไทย คนจะนึกถึงอะไรที่มันไทยจ๋าๆ ลายกนกต่างๆ ของพวกนี้มันสวย แต่มันจับต้องยาก เพราะดูเป็นของสูง ของขึ้นหิ้ง แต่ที่เราอยากทำคือเราอยากทำให้ใครก็ได้เข้าใจมันมากขึ้น กิจกรรมของเราเลยต้องเน้นความสนุก เข้ามาแล้วได้คุยได้แลกเปลี่ยนกันกับเพื่อนใหม่ มากกว่าจะเป็นการเรียนแบบที่ครูมาสอนให้ทำตามอย่างเดียว”

สตูดิโองานคราฟต์ หน้าใหม่นี้ เรียกได้ว่าเพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน แต่ก็ได้รับความสนใจจากผู้คนในโลกออนไลน์พอสมควร เพราะคลาสที่นำมาดึงดูดความสนใจหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น คลาสทำขนมช่อผกา ที่ใช้วัตถุดิบไทยแบบดั้งเดิมทั้งหมด แต่ปรับรูปแบบการปั้นให้ออกมาหลากหลายและร่วมสมัย โดยใช้เทคนิคการปั้นเเบบวากาชิของญี่ปุ่น


หรือคลาสที่หาเรียนไม่ได้ง่ายๆ อย่าง คลาสงานปั้นเครื่องประดับจิวเวอรี่ จากดิน Polymer Clay ที่แม้จะดูเหมือนยากแต่หากลองมาเข้าคลาสดู ทางสตูดิโอการันตีว่าจะสามารถทำได้ภายในเวลา 3 ชั่วโมงแน่นอน

“เราสอนหมดนะคะทั้งแนวไทยดั้งเดิม และไทยประยุกต์ เราปล่อยให้คนที่มาสามารถออกแบบงานตัวเอง เสนอความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ตลอดเพราะอย่างที่บอกว่าเจตนามันคือกระตุ้นไอเดียใหม่ๆ อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเขาได้แชร์ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเอง แล้วเราก็พยายามสอนเขา ทำให้ไอเดียให้ความฝันเขาเป็นจริง มันก็ตอบโจทย์แรกที่เราก่อตั้งที่นี่ขึ้นมา”

คุณต้าเล่าว่าจากที่เธอศึกษามา คลาสปั้นเครื่องประดับจาก Polymer Clay เป็นที่นิยมไม่น้อยในต่างประเทศ แต่ยังไม่ค่อยมีคนพูดถึงในไทยมากนัก เธอจึงตัดสินใจที่จะนำคลาสนี้เข้ามาสอน เพราะนอกจากจะทำได้ไม่ยาก เหมาะแก่ผู้เริ่มต้นที่ไม่มีพื้นฐานทางศิลปะแล้ว กระบวนการปั้นยังสามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ได้ง่ายกว่างานฝีมือละเอียดๆ ชนิดอื่น

และเพราะเป็นการปั้นจึงสามารถออกแบบเป็นอะไรก็ได้ แม้คลาสแรกๆ จะเป็นการสอนทำเครื่องประดับ แต่เธอก็มีความคิดจะพัฒนาต่อไปเป็นคลาสปั้นของใช้ของอย่าง จานรองแก้ว หรือเซ็ตตกแต่งบ้านอื่นๆ อีก

“หลายๆ คนอาจจะกังวลว่างานดูทำยากนะ มาเรียนแค่ 3 ชั่วโมงจะได้อะไรเหรอ จริงๆ คนที่ไม่มีความรู้ หรือพื้นฐานอะไรมาเลยก็เรียนได้ เพราะเราสอนกันตั้งแต่เริ่มเลย คลาสขนมเราเลยจะมีเด็กๆ มาเรียนเยอะหน่อยเพราะไม่มีขึ้นตอนอันตราย แต่คลาสปั้นนอกจากเรื่องเทคนิคแล้ว เราสอนกันตั้งแต่การเบลนสีของดิน จะผสม จะจับคู่สียังไงให้สวย ให้น่าสนใจ ต้องดีไซน์ยังไงให้มันเล็กใหญ่พอดี คลาสนี้ส่วนผสมเราเตรียมให้ แต่คุณต้องลงมือทำเอง เพราะครูจะสอนเป็นไกด์ไลน์ให้เฉยๆ ไม่เข้าใจไม่เป็นไรเราจะสอนจนกว่าจะทำได้ ไม่ต้องกลัวค่ะ”

นอกจากจะสอนกันตั้งแต่ความรู้พื้นฐานทางศิลปะ และขั้นตอนการทำแล้ว หากใครที่อยากจะต่อยอดเป็นธุรกิจของตัวเอง คุณต้าก็ยินดีให้คำปรึกษาโดยไม่เกี่ยงงอน

“ถามได้หมด เราแนะนำได้หมดเลยเพราะเราทำธุรกิจตรงนี้มา คือมาเรียนที่นี่เราอยากให้เขาได้อะไรกลับไปมากกว่าได้ของ บางคนที่มาเรียนเขามาเพราะอยากจะทำธุรกิจ แต่มันไม่ใช่ทุกคนบนโลกที่คิดอยากจะทำธุรกิจก็ทำได้ เราก็ไม่ได้คาดหวังว่าเขาเอาไปทำแล้วมันจะต้องประสบความสำเร็จ แต่ถ้าเขาทำได้ นั่นจะเป็นสิ่งที่เราภูมิใจ สมมติเขาจบออกไปแล้วทำขาย ถ้ามีปัญหา มีข้อสงสัยอะไร โทรกลับมาถามได้ เราก็พร้อมจะให้ข้อมูล”

ตัวแทนผู้ก่อตั้งสตูดิโออย่างคุณต้าบอกเราว่า แม้โดยภาพรวมของการเรียนสอนการแบบนี้ สิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าจะได้กลับไปจะเป็นทักษะ และความรู้ใหม่ๆ แต่สิ่งที่พวกเขาอาจนึกไม่ถึงเลยว่าจะได้รับคือ ‘ความภูมิใจ’

เธอบอกว่ามีความรู้สึกที่ดีมาก เวลาได้เห็นนักเรียนยิ้มอย่างมีความสุขเพราะสามารถทำสิ่งที่ไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะทำได้สำเร็จ

“เราเห็นได้ชัดเลยว่าเขาดูภูมิใจมากขึ้น มั่นใจมากขึ้น เพราะอย่างที่บอกว่าสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้มันทำให้คนเฉยชามาก ไม่อินกับอะไรสักอย่าง พอเขาได้มีโอกาสมาทำงานฝีมือที่แน่นอนว่ามันช่วยฝึกสมาธิ รวมถึงพูดคุยสบายๆ กับครู กับเพื่อนใหม่ มันเหมือนเขาได้บำบัดจิตใจไปด้วย ยิ่งพองานเสร็จเขาก็ยิ่งดูดีใจมากๆ ว่าฉันสามารถทำงานแบบนี้ได้ งานที่ฉันไม่เคยคิดว่าจะทำได้มาก่อน”

ต่อจากความภูมิใจ คือความหวังใหม่

“พอเขาลองทำให้มันได้ เขาก็จะมีความหวังขึ้นมา ว่างานแฮนด์เมดแบบนี้มันอาจจะขายได้ เขามีโอกาสจะสร้างรายได้จากมันนะ เราคิดว่าบทบาทของสตูดิโอตอนนี้ มันกลายเป็นคอมมูนิตี้ที่นอกจากจะให้ความรู้ เป็นช่องทางให้คนมาเจอกันแล้ว เรายังให้คำปรึกษาและเติมแรงบันดาลใจให้กันได้อีก คือมันตรงกับโจทย์แรกของเราเลยที่อยากให้ที่นี่เป็นที่ๆ คนที่มาได้รับพลังบางอย่างกลับไป” เธอกล่าว

สตูดิโอ Creative Siamese Club by Tareeya กำลังจะเปิดสอนคลาสงานศิลปะอื่นๆ ให้ผู้สนใจได้ลองไปรู้จักและเรียนรู้กันอีกมากมายต่อจากนี้ ใครที่กำลังอยากหางานอดิเรกใหม่ๆ หรืออยากทำอาชีพเสริม ลองเข้าไปดูรายละเอียดในช่องทางแฟนเพจของสตูดิโอกันได้

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: