Textile 101 – เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับผ้า ผ้าคืออะไร

ยาวไปอยากเลือกอ่าน

ผ้าคืออะไร

การนำผ้าไปใช้ประโยชน์

ประเภทของสิ่งทอ

กระบวนการผลิตสิ่งทอ

แหล่งสิ่งทอ

ผ้าคืออะไร และจุดเริ่มต้นของสิ่งทอ

กี่ทอผ้า loom

            ผ้าคืออะไร คำว่า “Textile” มาจากภาษาละตินจากคำว่า “texere” ซึ่งแปลว่า “ทอผ้า” คำนิยามเดิมจะหมายถึง ผ้าทอ เท่านั้น แต่ในปัจจุบันครอบคลุมถึงเส้นใย เส้นด้าย ผืนผ้า หรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากเส้นใย เส้นด้าย หรือผืนผ้าด้วย โดยได้จากการนำวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่สังเคราะห์ขึ้นมาสานหรือทอจนเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ฝ้าย ใยไหม ไนลอน

            “ผ้า” มีมานานแล้วตั้งแต่ก่อนคริสต์ศักราช จากการสำรวจพบผ้าลินินในถ้ำที่จอร์เจีย (Republic of Georgia) เมื่อกว่า 34,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช สำหรับในไทย เราพบว่าผ้าคืออะไร จากหลักฐานทางโบราณคดีแสดงว่าเคยมีการใช้ผ้าและทอผ้าได้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาตร์ หรือเมื่อราว 2,000-4,000 ปีมาแล้ว โดยได้พบเศษผ้าติดอยู่กับคราบสนิมของกำไลทองสำริด และอุปกรณ์ปั่นด้ายดินเผาแบบง่ายๆ รวมทั้งลูกกลิ้งแกะลายสำหรับใช้ทำลวดลายบนผ้าเป็นจำนวนมาก อยู่ที่บริเวณแหล่งวัฒนธรรมบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี นับเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับการใช้ผ้า และการทอผ้าของไทยในอดีต

สงครามโลกครั้งที่ 2

            ใน ค.ศ. 1935 มีการพัฒนาการทอผ้าโดยใช้เครื่องจักรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยกระทรวงกลาโหมได้จัดตั้งโรงงานทอผ้าสำหรับใช้ในราชการทหารขึ้น เรียกว่า “โรงงานฝ้ายสยาม” เพื่อผลิตผ้าและสำลีใช้ในกิจการทหาร มีการสั่งซื้อเครื่องจักรทอผ้าและฝ้ายจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินงาน นับเป็นการเริ่มต้นอุตสาหกรรมทอผ้าด้วยเครื่องจักรแห่งแรกในประเทศไทย

            หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างแข็งขันตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มขึ้นในรัฐบาลของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ค.ศ. 1958-1963) มีการสนับสนุนการจัดตั้งอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งได้กลายเป็นอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างหนึ่งของประเทศ มีการลงทุนตั้งโรงงานทอผ้าด้วยเครื่องจักรของเอกชนจำนวนมาก ส่งผลให้ผ้าที่ผลิตด้วยเครื่องจักรมีปริมาณมากกว่าผ้าพื้นเมืองที่ทอด้วยเครื่องมือแบบกี่หรือหูกอย่างเทียบกันไม่ได้ การทอผ้าพื้นเมืองจึงซบเซาลงอย่างรวดเร็ว

การนำผ้าไปใช้ประโยชน์

เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ผ้าคืออะไร

            ผ้านั้นถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลายด้าน แต่ที่พบมากที่สุดคือ การนำมาตัดเย็บเป็นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ประเภทผ้าต่างๆ สิ่งทอที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดไม่แพ้เสื้อผ้าก็คือ เคหะสิ่งทอ (Home Textile) หมายถึง ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับผ้าที่ใช้ประดับตกแต่งภายในบ้าน โรงแรม อาคารสถานที่ทัวไป เช่น ผ้าม่าน ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู เป็นต้น และในด้านอื่นอีกหลากหลาย เช่น การตกแต่งสถานที่ ถุงชา ที่กรองกาแฟ

 

ผ้าสำหรับชุดดับเพลิง

            สิ่งทอเฉพาะทาง (Technical Textiles) ยังถูกใช้สำหรับงานยานยนต์ ชุดป้องกัน เช่น ความร้อนและรังสีสำหรับเสื้อผ้าดับเพลิงกับโลหะเหลวสำหรับช่างเชื่อม เกราะป้องกัน เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน ฉนวนกันความร้อนบนยานอวกาศ 

          การใช้งานทางการแพทย์ เช่น ไตเทียม ไหมเย็บแบบละลาย มีกระบวนการผลิตที่แตกต่างออกไป มักเป็นการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเส้นใยซึ่งเรียกวาผ้าไหมถัก ไม่ทอหรือนอนวูฟเวน (Nonwoven) และสิ่งทอสำหรับการเกษตร (Agrotextiles) เพื่อป้องกันพืช เช่น กันนก แมลง แสงแดด

 

ผ้าร่มชูชีพ

            การใช้งานเบ็ดเตล็ดของสิ่งทอ ได้แก่ ธง เป้สะพายหลัง เต็นท์ มุ้ง ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขี้ริ้วทำความสะอาด ลูกโป่ง ว่าว อุปกรณ์การขนส่ง เช่น ใบเรือ และร่มชูชีพ สิ่งทอยังใช้เพื่อเสริมความแข็งแกร่งในวัสดุคอมโพสิต (Composite) เช่น ไฟเบอร์กลาส (Fiberglass) สิ่งทอที่ใช้ในงานฝีมือแบบดั้งเดิมหลายอย่าง เช่น การเย็บ (Sewing) ควิลท์ (Quilting) และปัก (Embroidery)

            สิ่งทอนับเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจําวันมนุษย์อย่างเหนียวแน่น

 

ประเภทของสิ่งทอ

ประเภทสิ่งทอ ไหม

 

            สิ่งทอทำจากวัสดุหลายชนิด แบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก จากธรรมชาติ คือ สัตว์ (ขนสัตว์ ผ้าไหม) พืช (ฝ้าย ปอกระเจา ปอกระเจา) แร่ (ใยหิน ใยแก้ว) และจากสารสังเคราะห์ (ไนลอน โพลีเอสเตอร์ อะคริลิก)

            สิ่งทอนั้นมีหลากหลายความแข็งแรง (Strengths) และ ระดับความทนทาน (Durability) จากไมโครไฟเบอร์ Microfibre) เส้นใยที่บางกว่า 1 ดีเนียร์ (Denier) จนถึงหนาแบบผ้าใบ

 

ดีเนียร์ (Denier) เป็นหน่วยการวัดขนาดของเส้นใย โดยเป็นน้ำหนักในหน่วยกรัมของเส้นใยที่มีความยาว 9,000 เมตร เส้นใยที่มีค่าดีเนียร์ต่ำจึงมีความละเอียดมากกว่า เส้นใยที่มีค่าดีเนียร์สูงเนื่องจากมีน้ำหนักน้อยกว่าในความยาวที่เท่ากัน

 

           

           วัสดุที่ใช้ในการผลิตผ้านั้นมีหลายประเภท ดังนี้

 

เส้นใยธรรมชาติ (Natural Fibers)

 

  • เส้นใยพืช เช่น ฝ้าย (Cotton) ลินิน (Linen) ปอ (Jute) ป่าน (Ramie) นุ่น (Kapok) กัญชง (Hemp) สับปะรด (Pineapple) เป็นต้น ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ได้ คือ เสื้อผ้าสวมใส่ในฤดูร้อน ทำผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดมือ ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน เสื้อผ้า เด็กอ่อน ผ้าอ้อม ผ้าลูกไม้ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเช็ดปาก

เส้นใยฝ้าย

 

  • เส้นใยสัตว์ เช่น ขนสัตว์ (Wool) ไหม (Silk) ผม (Hair) ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ได้ คือ เสื้อขนแกะ ผ้าไหม สูท เสื้อกันหนาว ผ้าห่ม

เส้นใยธรรมชาติจากแกะ

 

  • แร่ธรรมชาติ เช่น แร่ใยหิน (Asbestos) และใยบะซอลต์ ตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ที่ได้คือ ผ้าคลุมด้านล่างของประตูที่มีความทนทานมากๆ นิยมในต่างประเทศ สำหรับป้องกันรอยขีดข่วนจากสัตว์โดยเฉพาะ เช่น สุนัข แมว เป็นต้น แต่ปัจจุบันแร่ใยหินถูกสั่งห้ามใช้ในบางประเทศแล้วเพราะพบว่ามีอันตรายต่อร่างกายเมื่อสูดดมผลิตภัณฑ์ ฝุ่นผงจากแร่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด

แร่ใยหิน

 

เส้นใยประดิษฐ์ (Man-made Fibers)

 

  • ประดิษฐ์จากธรรมชาติ เช่น เรยอน (Rayon) ใช้ทำเสื้อผ้าไหมเทียมอะซิเทต (Acetate) ใช้ทำผ้าแพรต่วน ผ้าที-ซี (T/C) (ผ้าที่มีส่วนผสมของใยฝ้าย 65% และใยพอลิเอสเทอร์ 35%) ใช้ตัดเสื้อผ้าทั่วไป ผ้าซีทีซี (CTC) (ผ้าที่มีส่วนผสมของใยฝ้าย 70% และใยพอลิเอสเทอร์ 30%)ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้าแทนผ้าฝ้าย และมีความทนทานกว่าผ้าฝ้าย

ผ้าเรยอน rayon

 

  • เส้นใยสังเคราะห์ เช่น อะคริลิก (Acrylic) ใช้ทำเสื้อขนสัตว์เทียม ผลิตผ้าที่มีขนไหมพรม ผ้าห่ม ถุงเท้า พรมปูพื้น โพลีเอสเทอร์ (Polyester) ใช้เลียนแบบและผสมกับเส้นใยอื่นได้ดีนิยมใช้ในวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้า ไนลอน (Nylon) ใช้ทำถุงน่องสตรีและเสื้อผ้าต่างๆสแปนเด็กซ์ (Spandex) หรือไลครา (Lycra) ใช้ทำเสื้อชั้นในสตรี ยางยืด และผ้าที่ใช้ทางการแพทย์ เป็นต้น

polyester fabric

 

  • แร่และเหล็ก เช่น โลหะ (Metal) แก้ว (Glass) เซรามิกส์ (Ceramics) กราไฟต์ (Graphite)
    carbon fibers

ปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติของเส้นใย

 

            เมื่อทราบแล้วว่าผ้าคืออะไร และแบ่งประเภทตามเส้นใยได้อย่างไร ต้องรู้ว่าปัจจัยที่มีผลต่อคุณสมบัติของเส้นใยมีผลโดยตรงต่อสมบัติของผ้าที่ทำขึ้นจากเส้นใยนั้นๆ ผ้าที่ทำจากเส้นใยที่แข็งแรงก็จะมีความแข็งแรงทนทานด้วย หรือเส้นใยที่สามารถดูดซับน้ำได้ดีจะส่งผลให้ผ้าสามารถดูดซับน้ำและความชื้นได้ดี ดังนั้นการที่เข้าใจสมบัติของเส้นใย จะช่วยทำให้สามารถทำนายสมบัติของผ้าที่มีเส้นใยนั้นๆ เป็นองค์ประกอบ รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สุดท้ายได้ ซึ่งจะช่วยให้สามารถเลือกชนิดของผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้น ได้ถูกต้องตามความต้องการ ของการนำไปใช้งาน โดยการคาดเดาจากองค์ประกอบที่แจ้งไว้ในป้ายสินค้า

yarn wool knitting

            ความแตกต่างของเส้นใยขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ โครงสร้างทางกายภาพ องค์ประกอบทางเคมี และการเรียงตัวของโมเลกุล

 

โครงสร้างทางกายภาพ

 

  • ความยาวเส้นใย (Fiber Length)

            เส้นใยสั้น (Staple Fiber) เป็นเส้นใยที่มีความยาวอยู่ในช่วง 2 ถึง 46 เซนติเมตร เส้นใยธรรมชาติทั้งหมดยกเว้นไหมเป็นเส้นใยสั้น ยกตัวอย่างเช่น เส้นใยฝ้าย นุ่น ขนสัตว์ เส้นใยสั้นที่มาจากเส้นใยประดิษฐ์มักทำเป็นเส้นยาวก่อนแล้วตัด (chop) เป็นเส้นใยสั้นตามความยาวที่กำหนด

            เส้นใยยาว (Filament Fiber) เป็นเส้นใยที่มีความยาวต่อเนื่องไม่สิ้นสุด มีหน่วยวัดเป็นเมตรหรือหลา เส้นใยยาวส่วนใหญ่เป็นเส้นใยประดิษฐ์ ยกเว้นไหมซึ่งเป็นเส้นใยยาวที่มาจากธรรมชาติ เส้นยาวที่ออกมาจากหัวฉีด (spinnerets) จะมีลักษณะเรียบซึ่งมีลักษณะเรียบคล้ายเส้นใยไหม หากต้องการลักษณะเส้นใยที่หยักก็จะต้องนำไปผ่านกระบวนการทำหยัก (crimp) ซึ่งเส้นใยที่ได้จะมีลักษณะคล้ายเส้นใยฝ้าย หรือขนสัตว์ ซึ่งส่วนมากเส้นใยที่ทำหยักมักจะนำไปตัดเพื่อทำเป็นเส้นใยสั้น

 

  • ขนาดเส้นใย (Fiber size)

                ขนาดของเส้นใยมีผลต่อการใช้งานและสมบัติทางผิวสัมผัส (hand properties) เส้นใยที่มีขนาดใหญ่จะให้ความรู้สึกที่หยาบและแข็งของเนื้อผ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความแข็งแรงมากกว่าเมื่อเทียบกับเส้นใยชนิดเดียวกันที่มีขนาดเล็กกว่า ผ้าที่ทำจากเส้นใยที่มีขนาดเล็กหรือมีความละเอียดก็จะให้ความนุ่มต่อสัมผัส และจัดเข้ารูป (drape) ได้ง่ายกว่า โดยทั่วไปขนาดของเส้นใยธรรมชาติแต่ละชนิดมีดังตัวอย่างข้างล่างนี้

เส้นใยฝ้าย 16-20 ไมโครเมตร
ขนสัตว์ (แกะ) 10-50 ไมโครเมตร
ไหม 11-12 ไมโครเมตร
เส้นใยลินิน 12-16 ไมโครเมตร

            สำหรับเส้นใยประดิษฐ์ที่ผลิตในอุตสาหกรรม ขนาดของเส้นใยจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างเช่น ขนาดของรูในหัวฉีด (spinneret holes) การดึงยืดขณะที่ปั่นเส้นใยและหลังการการปั่นเส้นใย รวมไปถึงปริมาณและความเร็วของการอัดน้ำพลาสติกผ่านหัวฉีดในกระบวนการปั่นเส้นใย หน่วยที่มักใช้วัดความละเอียดของเส้นใยประดิษฐ์คือดีเนียร์ และ เท็กซ์

ดีเนียร์ (Denier) เป็นหน่วยการวัดขนาดของเส้นใย โดยเป็นน้ำหนักในหน่วยกรัมของเส้นใยที่มีความยาว 9,000 เมตร เส้นใยที่มีค่าดีเนียร์ต่ำจึงมีความละเอียดมากกว่า เส้นใยที่มีค่าดีเนียร์สูงเนื่องจากมีน้ำหนักน้อยกว่าในความยาวที่เท่ากัน

เท็กซ์ (Tex) เป็นหน่วยการวัดขนาดของเส้นใยคล้ายกับดีเนียร์ แต่เป็นน้ำหนักในหน่วยกรัมของเส้นใยที่มีความยาว 1,000 เมตร

            ดีเนียร์ต่อฟิลาเมนต์ (Denier per Filament, DPF) เป็นค่าที่วัดความละเอียดของเส้นใยที่อยู่ในเส้นด้ายซึ่งมีจำนวนเส้นใยตั้งแต่ 2 ขึ้นไป ดังนั้นค่าดีเนียร์ต่อฟิลาเมนต์จึงเท่ากับดีเนียร์ของฟิลาเมนต์นั้นหารด้วยจำนวนฟิลาเมนต์ (หรือจำนวนเส้นใย) ทั้งหมด

            โดยทั่วไปเส้นใยที่ใช้สำหรับเสื้อผ้ามีขนาดอยู่ในช่วง 1 ถึง 7 ดีเนียร์ เส้นใยสำหรับทำพรมมีขนาดใหญ่อยู่ในช่วง 15 ถึง 24 ดีเนียร์

 

  • รูปร่างหน้าตัดขวางของเส้นใย

                รูปร่างหน้าตัดขวางของเส้นใยมีผลต่อความเป็นมันวาว ลักษณะเนื้อผ้า และสมบัติต่อผิวสัมผัส เส้นใยมีรูปร่างหน้าตัดที่หลากหลาย

                ความแตกต่างของรูปร่างหนาตัดขวางของเส้นใยธรรมชาติเกิดจากลักษณะการสร้างเซลลูโลสในขณะที่ พืชเติบโตเช่นในเสนใยฝ้าย หรือการกระบวนการสรางโปรตีนในสัตว์เช่น ขนสัตว์หรือรูปร่างของช่อง (orifice) ในตัวไหมที่ทำหน้าที่ฉีดเส้นใยไหมออกมา สำหรับเส้นใยประดิษฐ์รูปร่างของหน้าตัดของเส้นใยขึ้นอยู่กับรูปร่างของรูในหัวฉีด

  • ลักษณะผิวภายนอกของเส้นใย

                ลักษณะผิวของเส้นใยมีทั้งแบบเรียบ เป็นแฉก หรือขรุขระ ซึ่งลักษณะผิวนี้มีผลต่อความเป็นมันวาว สมบัติต่อผิวสัมผัส เนื้อผ้า และการเปื้อนง่ายหรือยาก

  • ความหยัก (crimp)

                ความหยักในเส้นใยช่วยเพิ่มความสามารถในการยึดเกาะ (cohesiveness) ระหว่างเส้นใย ทำให้สามารถคืนตัวจากแรงอัด (resilience) ได้ดี ทนต่อแรงเสียดสี (resistance to abrasion) มีความยืดหยุ่น มีเนื้อเต็ม (bulk) และให้ความอบอุ่น (warmth)

 

องค์ประกอบทางเคมี

 

            เส้นใยประกอบด้วยโมเลกุลจำนวนมาก โมเลกุลเหล่านี้มีลักษณะเป็นเส้นยาวเรียกว่าโพลิเมอร์ (polymer) ที่เกิดจากการเรียงตัวของหน่วยโมเลกุลเล็กๆ คือมอนอเมอร์ (monomer) และเชื่อมต่อกันด้วยพันธะเคมีด้วยกระบวนการสังเคราะห์ที่เรียกว่า โพลิเมอไรเซชัน  (polymerization) ขนาดของโพลิเมอร์ขึ้นอยู่กับความยาวของโมเลกุลซึ่งบอกได้จากจำนวนของมอนอเมอร์ที่อยู่ในโพลิเมอร์นั้น (degree of polymerization) โพลิเมอร์ที่มีเส้นโมเลกุลยาวจะมีน้ำหนักโมเลกุล มากกว่าโพลิเมอร์ที่มีเส้นโมเลกุลสั้นเนื่องจากจำนวนมอนอเมอร์ที่มากกว่านั่นเอง ซึ่งจะมีผลต่อความแข็งแรงของเส้นใยที่โพลิเมอร์นั้นเป็นองค์ประกอบอยู่

 

alkene polymerization

โมโนเมอร์ของสไตรีนที่ผ่านกระบวนการพอลิเมอไรเซชัน กลายเป็นสายยาว

 

การเรียงตัวของโมเลกุล

 

            โมเลกุลหรือโพลิเมอร์ที่อยู่ในเส้นใยจะมีการเรียงตัวแตกต่างกัน เมื่อแต่ละโมเลกุลมีการเรียงตัวอย่างไร้ทิศทาง (random) ก็จะทำให้เส้นใยบริเวณนั้นมีความเป็นอสัณฐาน (amorphous) ส่วนในบริเวณที่โมเลกุลมีการเรียงซ้อนขนานอย่างเป็นระเบียบก็จะมีความเป็นผลึก (crystalline) เกิดขึ้น เส้นใยที่มีความเป็นผลึกมากก็จะมีความแข็งแรงมากกว่าเส้นใยที่มีความเป็นผลึกน้อย รวมไปถึงทิศทางการจัดเรียงตัวของโมเลกุลที่เป็นระเบียบเหล่านี้ด้วย ถ้าโมเลกุลมีการจัดเรียงตัวอยู่ในทิศทางที่ขนานกับแกนตามความยาวของเส้นใย ก็จะช่วยให้เส้นใยมีความแข็งแรงมาก

 

โครงสร้างเส้นขน

การเรียงตัวของโมเลกุล เคราติน หรือ เส้นขน

กระบวนการผลิตสิ่งทอ

แบ่งตามประเภทการถักทอ

            เมื่อแบ่งแยกตามลักษณะการผลิต สามารถแบ่งประเภทของผ้าออกเป็น 3 แบบ คือ ผ้าทอ (woven fabrics) ผ้าถัก (knitted fabrics) และ ผ้าอื่น ๆ

 

ผ้าทอ (Woven Fabrics)

ผ้าทอ woven fabrics

            เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการทอโดยใช้เครื่องทอ (weaving loom) โดยมีเส้นยืน (warp yarn) และเส้นพุ่ง (filling or weft yarn) ที่ทอขัดในแนวตั้งฉากกัน และจุดที่เส้นทั้งสองสอดประสานกัน (interlacing) จะเป็นจุดที่เส้นด้ายเปลี่ยนตำแหน่งจากด้านหนึ่งของผ้าไปด้านตรงข้าม การทอในปัจจุบันมีการพัฒนาจากการทอด้วยมือ (hand looms) ไปเป็นการใช้เครื่องจักรในการทอ โดยใช้เทคนิคหลากหลายรูปแบบ แตกต่างกัน เช่น Air-jet loom, Rapier loom, Water-jet loom, Projectile loom, Double-width loom, Multiple-shed loom, Circular loom, Triaxial loom

ประเภทของผ้าทอ
ผ้าทอแบ่งเป็นหลายชนิดขึ้นกับลักษณะการทอ เช่น Plain, Basket, Twill, Satin, Crepe, Dobby, Jacquard, Doublecloth, Pile, Slack-tension, Leno และ Swivel

 

ผ้าถัก (Knitted Fabrics)

การถัก knitting

            เป็นผ้าที่เกิดจากการใช้เข็ม (needles) ถักเพื่อให้เกิดเป็นห่วงของด้ายที่มีการสอดขัดกัน (interlocking loops) โดยจะมีเส้นที่อยู่แนวตั้ง (wales) และเส้นที่อยู่ในแนวนอน (courses)

ประเภทของผ้าถัก
Filling-Knit fabrics เช่น Jersey, Rib structure, Interlock structure, Purl knits
Warp knit fabrics เช่น tricot warp knit, Raschel warp knit, Simplex, Milanese

 

ผ้าอื่นๆ

            เป็นผ้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตอื่นที่นอกเหนือไปจากการถักและทอ เช่น การขึ้นรูปเป็นแผ่นฟิล์มทั้งจากสารละลายและจากการฉีดพลาสติกหลอม การขึ้นรูปเป็นโฟม และการขึ้นรูปเป็นผ้าจากเส้นใยโดยตรง เรียกว่า ผ้าไม่ถักไม่ทอ (nonwovens)

ผ้าไม่ถักไม่ทอ (Nonwovens)

ผ้าไม่ถักไม่ทอ

            มีลักษณะโครงสร้างเป็นแผ่นผ้าที่เกิดจากการสานไปมาของเส้นใย (fibrous web) มีการยึดกันด้วยการ ที่เส้นใยพันกันไปมา (mechanical entaglement) หรือโดยการใช้ความร้อน เรซิน หรือสารเคมีในการทำให้ เกิดการยึดกันระหว่างเส้นใย ผ้าไม่ถักไม่ทอสามารถผลิตได้โดยหลายกระบวนการผลิตคือ

 

  • Dry-laid: โดยการใช้ลมพ่นเส้นใยลงบนสายพานที่กำลังเคลื่อนตัวไป โดยการเรียงตัวของเส้นใยจะไม่มีทิศทาง (random oriented) ทำให้มีความแข็งแรงเท่ากันในทุกทิศทาง ตัวอย่างผ้าที่ได้จากการผลิตโดยกระบวนการนี้คือ ผ้าเช็ดเอนกประสงค์ กระดาษแยกช่องแบตเตอรี่ (battery separators) ไส้กรอง (filters) เป็นต้น

 

  • Wet-laid: โดยการกระจายเส้นใยสั้นในน้ำ แล้วทำการกรองผ่านเพื่อแยกน้ำออกจากเส้นใย ที่มีการเรียงตัวในทุกทิศทาง ตัวอย่างผ้าที่ได้จากการผลิตโดยกระบวนการนี้คือ ไส้กรอง ไส้ฉนวน ผ้าเช็ดเอนกประสงค์ และกระดาษแยกช่องแบตเตอรี่

 

  • Spun-bonded: เป็นการเตรียมผ้าโดยตรงจากเส้นใยที่ถูกฉีดออกมาจากหัวฉีดเส้นใย (spinnerets) เส้นใยต่อเนื่อง (continuous filament) ที่กำลังร้อนก็จะถูกฉีดสานไปมาบนสายพานที่กำลังหมุนอยู่ เส้นใย ที่เย็นตัวลงจะมีการเชื่อมติดตรงจุดที่มีการพาดผ่านระหว่างเส้นใยด้วยกัน การเชื่อมติดอาจทำเพิ่มเติม โดยการใช้ความร้อนและแรงกด นอนวูฟเวนที่ได้จากการผลิตโดยวิธีนี้จะมีค่าการทนต่อแรงดึงและแรงฉีก และบาง (low bulk) ตัวอย่างการใช้งานได้แก่ พื้นพรม (carpet backing) ผ้าที่ใช้ในงานธรณี (geotextiles) เสื้อผ้าป้องกัน (protective apparel) ไส้กรอง เป็นต้น

 

  • Hydroentangled หรือ spunlace: กระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตนอนวูฟเวนแบบ spun-bonded ยกเว้นใช้น้ำแรงดันสูงฉีดผ่านโครงสร้างที่สานไปมาของเส้นใย ทำให้เกิดโครงสร้างที่มีลักษณะคล้ายผ้าทอ ผ้าที่ได้จะมีความยืดหยุ่น (elasticity) และโค้งงอ (flexibility) มากกว่า spun bond

 

  • Melt-blown: เป็นการฉีดเส้นใยผ่านหัวฉีดไปยังอากาศร้อนที่มีความเร็วสูง ทำให้เส้นใยเกิดการขาด เป็นเส้นใยสั้นๆ ซึ่งจะถูกเก็บลงบนสายพานที่เคลื่อนที่ การยึดติดเกิดจากการสานไปมาของเส้นใย และการใช้ความร้อน เนื่องจากเส้นใยไม่ได้ผ่านการดึงยืดก่อน ผ้าที่ได้จะมีความแข็งแรงน้อยกว่าชนิดอื่น เส้นใยที่ใช้เทคนิคการผลิตนี้มากคือเส้นใยโอเลฟินและโพลีเอสเทอร์ (Olefin and polyester fibers) ตัวอย่างการใช้งานได้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทางการแพทย์ และกระดาษแยกช่องแบตเตอรี่

 

  • Needle punching: เป็นการเตรียมแผ่นนอนวูฟเวนโดยเทคนิค dry-laid แล้วนำมาผ่าน เครื่องปักเข็ม (needle loom) เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะและความแข็งแรงของแผ่นนอนวูฟเวนให้มากขึ้น

 

 

แบ่งตามประเภทสีย้อมสิ่งทอ

 

สีย้อมผ้าแบบผง

            กระบวนการย้อมสีเป็นกระบวนการทางเคมีที่ทำให้วัสดุสิ่งทอมีสีติดโดยสีย้อมมีความสามารถในการติดสี (affinity) กับเส้นใย กระบวนการย้อมจะขึ้นอยู่กับสภาวะการย้อมต่างๆ ได้แก่ เวลา อุณหภูมิ และสารย้อม

            สีที่เห็นจากสีย้อมนั้นเกิดจากอิเล็กตรอนในพันธะคู่ซึ่งอยู่ในโมเลกุลของสีย้อมนั้นมีความสามารถดูดกลืนพลังงานในช่วงสเปคตรัมต่างกัน พลังงานแสงที่สายตามองเห็นจะมีความยาวคลื่นช่วง 400-700 นาโนเมตร

            ทั้งนี้เราสามารถแบ่งสีย้อมออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

 

สีย้อมธรรมชาติ (Natural dyestuffs)

 

            เป็นสีย้อมที่มาจากแหล่งธรรมชาติ โดยเฉพาะพืชและสัตว์ สีย้อมที่มาจากส่วนประกอบพืช เช่น ส่วนลำต้น ส่วนดอก ส่วนที่เป็นเปลือก ส่วนที่เป็นใบ เป็นต้น ตัวอย่างเช่น สีดำจากลูกมะเกลือ สีน้ำเงินจากต้นคราม สีเหลืองจากเนื้อไม้โอ๊ก สีแสดจากดอกกรรณิการ์ สีแดงจากรากต้นเข็ม ส่วนสีย้อมที่มาสัตว์ เช่น สีม่วงแดงของครั่ง สีม่วงจากหอยสังข์หนาม เป็นต้น โดยส่วนประกอบทางเคมีของสีย้อมจากธรรมชาติมักเป็นสารพวกฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) แทนนิน (Tannins) เทอร์พีนอยด์ (Terpenoids) แนฟโทควิโนน (Naphthoquinone) แอนทราควิโนน (Anthraquiaones) และอัลคาลอยด์ (Alkaloids)

            สิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญคือ สมบัติด้านความคงทนของสีบนวัสดุสิ่งทอ โดยการทดสอบสมบัติดังกล่าวมีอยู่หลายด้าน เช่น การทดสอบค่าความคงทนของสี ต่อการขัดถู การซักล้าง การซักแห้ง การกดทับด้วยความร้อน แสงแดดเทียม เหงื่อ ฯลฯ ซึ่งมาตรฐานที่เกี่ยวข้องก็มีอยูหลายมาตรฐาน่ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) AATCC ASTM ISO เป็นต้น

natural dye stuff

 

สีย้อมสังเคราะห์ (synthetic dyestuffs)

            เป็นสีย้อมที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางเคมี

หsynthetic dyestuffs

แบ่งตามการทำให้สิ่งทอเกิดลวดลาย

การพิมพ์ (Printing)

            การพิมพ์สกรีนก็ถือเป็นอีกหนึ่งในหลากหลาย กรรมวิธีที่นำมาใช้ในการทำให้เกิดลวดลายบนผ้า โดยผ้าที่ถูกนำมาใช้ในการพิมพ์สกรีนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ผ้าหลา(ผ้าม้วน) และผ้าชิ้น (รวมถึงเสื้อสำเร็จรูป) ซึ่งกระบวนการที่ถูกนำมาในการพิมพ์ผ้ามีทั้งที่เป็นแบบใช้เครื่องจักร อัตโนมัติโดยเฉพาะอุตสาหกรรมรมการพิมพ์ผ้าขนาดใหญ่และตามโรงงาน เช่นเครื่องพิมพ์แบบ Rotary Screen, Roller Screen, Flat Bed Screen , Digital Printing เป็นต้น และการพิมพ์ผ้าโดยอาศัยแรงงานคน (Hand Printing) 

โดยประเภทการพิมพ์สกรีนลงบนผ้าสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

textile screening

การพิมพ์โดยตรง (Direct Printing)

            จะใช้แป้งพิมพ์ซึ่งผสมกับหมึกพิมพ์ตามประเภทที่เหมาะกับเนื้อผ้าและ ผสมสารเคมีอื่นๆ เพื่อช่วยเพิ่มความคมชัดของลายและความเข้มของสี แล้วจึงทำการพิมพ์

  • การพิมพ์ดิสชาร์จ (Discharge Printing) เทคนิคนี้ใช้กับการพิมพ์ลวดลายบนผ้าที่ถูกย้อมสีมาก่อนแล้ว โดยใช้สารกำจัดสี (Discharging agent) เพื่อทำลายสีพื้นของผ้าที่ถูกย้อมทำให้เกิดเป็นลวดลายสีขาว (White discharge) ในกรณีที่ต้องการให้เกิดลวดลายสีอื่นๆ (color discharge) จะเติมสีซึ่งมีคุณสมบัติทนต่อสารกำจัดสีผสมลงไป เมื่อทำการพิมพ์ ลวดลายสีพื้นของผ้าย้อมจะถูกทำลายแต่สีที่เติมลงไปคงอยู่และเข้าไปแทนที่สีที่ถูกกัด เมื่อไปผ่านกระบวนการอบและซักแห้งแล้วจึงจะเห็นเป็นลวดลายปรากฏ

 

  • การพิมพ์รีซิส (Resist Printing) เป็นการพิมพ์ลายโดยผสมสารกันสี (Resisting agent) ลงในแป้งพิมพ์เพื่อป้องกันสีย้อมซึ่งจะถูกย้อมหรือพิมพ์ทับในภายหลัง หลังจากย้อมและนำไปซักจะเห็นเป็นลวดลายพิมพ์สีขาว (White Resist) ตรงส่วนที่พิมพ์ลายกันสีไว้ และหากต้องการให้เกิดลวดลายสี (Color Resist) จะเติมสีที่ต้องการผสมลงไปในแป้งพิมพ์พร้อมสารกันสีแล้วจึงพิมพ์ลายก่อนนำไปย้อม วิธีการนี้นิยมใช้กันในการทำผ้าบาติก

 

  • การพิมพ์เบิร์นเอ๊าท์ (Burn-Out Printing) เป็นการทำให้เกิดลวดลายบนเนื้อผ้าที่มีเส้นใยผสม 2 ชนิด ด้วยการผสมสารเคมีที่มีคุณสมบัติทำลายเส้นใยของผ้าลงในแป้งพิมพ์ เพื่อทำให้เส้นใยชนิดใดชนิดหนึ่งที่ถูกทำลายเกิดเป็นลวดลาย

 

  • การพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิตอล (Digital printing) เป็นการพิมพ์ผ้าโดยใช้เครื่องพิมพ์ที่อาศัยหลักการเดียวกับการพิม์กระดาษ ด้วยเครื่อง Printer ทั่วไป เพียงแต่เปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นพิมพ์ตรงลงบนเนื้อผ้า ซึ่งกระบวนการพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องพิมพ์ดิจิตอลปัจจุบันมีทั้งที่ใช้ในโรงงาน อุตสาหกรรมและใช้พิมพ์เสื้อสำเร็จรูป ซึ่งการพิมพ์โดยด้วยเครื่องดิจิตอลจำเป็นต้องนำผ้าไปผ่านกระบวนการ Pre-Treat ก่อนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพิมพ์และต้องมีการอบเคลือบสีหลังจากการพิมพ์ (finishing) เพื่อให้หมึกพิมพ์ติดทนบนเนื้อผ้า

 

การพิมพ์แบบอ้อม (Indirect Print) หรือ แบบถ่ายโอนความร้อน (Heat Transfer)

indirect print

           เป็นเทคนิคการพิมพ์โดยวิธีการพิมพ์ลายลงบนกระดาษ แล้วนำไปผ่านกระบวนการกดหรือรีดด้วยความร้อน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ

  • อาศัยหลักการระเหิดของหมึก (Dye Sublimation) การพิมพ์วิธีนี้จะใช้การพิมพ์ลายลงบนกระดาษโฟโต้อิงค์เจ็ทที่ใช้สำหรับพิมพ์ภาพถ่ายทั่วไป โดยใช้หมึกดูราซับ (Durasub) ซึ่งเป็นหมึกประเภทที่มีคุณสมบัติในการระเหิดของสีเมื่อโดนความร้อน (Sublimation Ink) ส่วนเครื่องพิมพ์จะต้องเป็นเครื่องอิงค์เจ็ทที่รองรับหมึกที่มีความเข้มข้น สูงอย่าง Sublimation ink เมื่อพิมพ์ลงบนกระดาษแล้วนำไปกดทับด้วยเครื่องรีดความร้อนหมึกจะระเหิด กลายเป็นไอเกาะติดและย้อมลงไปบนเส้นใยผ้าเกิดเป็นลวดลาย โดยหมึกประเภทนี้จะมีคุณสมบัติทนต่อการซักล้างและทนแดด เหมาะกับการพิมพ์ผ้าที่มีสีอ่อนและผ้าใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์หรือไนลอน
  • อาศัยกาวเป็นตัวยึดเกาะ โดยการพิมพ์ลงบนกระดาษหรือฟิลม์โดยมีกาวเคลือบ เมื่อนำไปรีดความร้อนกาวจะเป็นตัวยึดเกาะระหว่างสีกับเนื้อผ้า ซึ่งการพิมพ์โดยวิธีนี้ถูกนำไปใช้ในหลายประเภทงานพิมพ์เนื่องจากหมึกพิมพ์ สามารถใช้ได้กับหลากหลายชนิดงานพิมพ์ เช่น งานพิมพ์ออฟเซต งานพิมพ์กราเวียร์ งานพิมพ์สกรีน และงานพิมพ์อิงค์เจ็ต ซึ่งแต่ล่ะประเภทงานก็มีความแตกในเรื่องของความละเอียดความคมชัดของงานและ ปริมาณที่จะพิมพ์ โดยในงานพิมพ์อิงค์เจ็ตจะใช้กระดาษทรานเฟอร์ซึ่งเป็นกระดาษชนิดพิเศษที่มี การเคลือบกาว แล้วใช้หมึกพิมพ์อิงค์เจ็ทธรรมดาหรือหมึกกันน้ำ(ดูราไบท์)พิมพ์ลงบนกระดาษ ทรานเฟอร์ด้วยเครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ท แล้วจึงนำไปรีดด้วยเครื่องรีดความร้อน กาวจะเป็นตัวยึดเกาะระหว่างหมึกพิมพ์กับเส้นใยของผ้า ซึ่งวิธีนี้จะเหมาะกับผ้าการพิมพ์ลงบนผ้าฝ้าย 100 %

 

การต่อผ้า (Patchwork)

           การต่อผ้าคืออะไร คือการต่อผ้าชิ้นเล็กๆ ที่มีสีแตกต่างกัน เพื่อใช้ตกแต่งเสื้อผ้าที่เป็นงานตกแต่งและดัดแปลงเสื้อผ้าอีกรูปแบบหนึ่งที่ต้องอาศัยศิลปะและฝีมือผสมกัน การต่อผ้าส่วนใหญ่จะนิยมต่อเป็นรูปเรขาคณิตเพราะง่ายต่อการเก็บริมผ้าให้สวยงามและง่ายต่อการต่อผ้าด้วย เช่น สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สามเหลี่ยมด้านเท่า สี่เหลี่ยมจัตุรัส ครึ่งวงกลมและรูปหกเหลี่ยม การต่อผ้าเพื่อการตกแต่งเสื้อผ้าคนไทยบางกลุ่มจะนิยมมากและนําไปฝึกให้เกิดทักษะ จนกลายเป็นศิลปะประจําหมู่บ้าน เช่น ชาวไทยโซ่ง แม้วและกะเหรี่ยง เป็นต้น

quilt patchwork

 

การกันสีย้อม (Resist Method)

การสร้างลวดลายบนผืนผ้าด้วยวิธีการกันสีย้อม (Resist Method) มี 3 วิธี ได้แก่ มัดหมี่ มัดย้อม และบาติก

 

มัดหมี่ (Mudmee)
หมายถึง กรรมวิธีในการทอผ้าอย่างหนึ่ง เอาเชือกมัดด้ายหรือไหมเป็นเปลาะๆ ตามลายแล้วย้อมสี เมื่อนำเส้นด้ายเหล่านั้นมาทอแล้วจะได้ลวดลายต่างๆตามที่มัดไว้ เรียกผ้าที่ทอด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ว่า ผ้ามัดหมี่

mudmee การมัดหมี่

 

มัดย้อม (Tied-and-Dyed)
            การมัดย้อมผ้าคืออะไร เป็นการนำผ้าทอสีพื้นมามัดและย้อมให้เกิดลาย ความหมายของคำว่ามัดย้อมบ่งชี้ความเป็นลักษณะเฉพาะของเทคนิคการทำ โดยใช้วิธีการกันสีด้วยวัสดุบางอย่าง เช่น ยางรัด เชือก หมุดปักผ้า ตัวหนีบกระดาษ หรือการเย็บ ซึ่งจะช่วยกันไม่ให้สีแทรกซึมลงไป การออกแบบการกันสีขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ นอกจากนั้นผลการออกแบบยังขึ้นอยู่กับปริมาณสีย้อม และการแทรกซึมของสีในผืนผ้าที่มัดด้วย

            การมัดย้อมในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า ชิโบริ (Shibori) เป็นการจัดการกับผ้าก่อนนำไปย้อม มาจากรากศัพท์ ชิโบรุ (Shiboru) ซึ่งหมายถึง การบิด การบีบ การกด คำนี้ มีชื่อเรียกที่มีความเหมือนกันในกระบวนการกันสีย้อมผ้า เช่น การเย็บเพื่อกันสีบนผืนผ้าซึ่งทำกันทั่วไปในญี่ปุ่น และเทคนิคคล้ายกันอื่นๆ ที่พบในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก ทั้ง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาลายู แอฟริกา ยุโรป อเมริกาเหนือ และอเมริกาใต้

การมัดย้อม

            กลุ่มคำในภาษาอังกฤษ ไม่มีคำศัพท์ในภาษาใดครอบคลุมความหลากหลายของเทคนิคชิโบริ ซึ่งต้องใช้คำ 3 คำในการแยกวิธีการชิโบริ ออกมา นั่นคือ คำว่า พลางงี (Plangi) ในภาษามาเล-อินโด หรือ พันธนะ (Bandhana) ในภาษาอินเดีย ซึ่งหมายถึงกระบวนการรวบและพับผ้า และคำว่า ตริติก (tritik) ในภาษามาเล-อินโด ที่หมายถึงการกันสีด้วยการเย็บเนาผ้า

            กล่าวโดยสรุป มัดย้อม หมายถึง การออกแบบลายบนผืนผ้าด้วยกรรมวิธีกันสีย้อม โดยการมัดผ้า พับผ้าแล้วมัด เย็บผ้า ผูกผ้าเป็นปม หนีบหรือห่อวัสดุแล้วมัด มัดให้แน่นเพื่อกันไม่ให้สีย้อมแทรกซึมเข้าไปหรือแทรกเข้าไปได้น้อยที่สุด แล้วนำผ้านั้นไปย้อมสี เมื่อแกะปมที่ผูกมัดออก จะปรากฏลวดลาย

ผ้ามัดย้อมคราม

 

บาติก (Batik)

            เป็นการสร้างลวดลายให้ผ้าโดยใช้เทียนปิดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีและใช้วิธีการแต้ม ระบายหรือย้อมในส่วนที่ต้องการให้ติดสี มีทั้งพิมพ์เทียน แต้มสี ระบายสี ย้อมสี ดังนั้น ผ้าบาติกจึงเป็นได้ทั้งงานหัตถอุตสาหกรรม และงานทางศิลปะประยุกต์รวมอยู่ในตัวเดียวกัน การลงสี ย้อมสี ในบางครั้งอาจทำให้สีซึมเข้าไปในเนื้อผ้าอีกสีหนึ่งหรืออาจซึมเข้าไปตามรอยแตกของเส้น เทียน จึงทำให้ผ้าบาติกมีลักษณะปลีกย่อยแตกต่างกัน แม้จะใช้แม่พิมพ์อันเดียวกัน นั่นหมายถึงว่าผ้าบาติกแต่ละผืนนั้นมีความสวยงามแตกต่างกัน

เขียนผ้าบาติก

การปัก (Embroidery)

การปักผ้าคืออะไร คือการสร้างลวดลายให้ผ้าด้วยการใช้ด้าย ไหม หรือริบบิ้น โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท

  • การปักหน้าเดียว หมายถึง การปักให้เห็นความสวยงามเพียงด้านหน้าด้านเดียว ส่วนด้านหลังเส้นด้ายหรือไหมอาจจะห่างหรือข้ามไปบ้างซึ่งต้องระวังระยะการข้ามไม่ให้ห่างกันเกินไป ส่วนมากใช้กบการปักที่มีลวดลายที่แคบ มีช่วงเส้นด้ายหรือไหมเส้น
  • การปักสองหน้า หมายถึง การปักให้เห็นเหมือนกันทั้งด้านหน้าและด้านหลังซึ่งต้องใช้วิธีการซ่อนปลายด้ายไม่ให้เห็นออกมาด้านนอก การปักลักษณะนี้เป็นการปักที่ต้องการให้มองเห็นทั้งสองด้าน
  • การปักแรงเงา หมายถึง การปักเหลือบสีแรงเงาเป็นงานปักที่ดูเหมือนจริงและสวยงามกว่าการปักหน้าเดียวและการปักสองหน้านิยมปักเป็น รูปดอกไม้ ภาพวิวทิวทัศน์ ภาพลายไทย เป็นต้น

เทคนิคการปัก

การปักหลากหลายวิธีและมีการผสมผสานกันทําให้เกิดลวดลาย สร้างความสวยงามให้กับชิ้นงาน สร้างมิติและเพิ่มความสมบูรณ์ให้กับสิ่งทอ ซึ่งวัสดุสิ่งทอที่นํามาใช้ปักลงบนผืนผ้า 

เทคนิคการเย็บด้วยด้ายหรือไหม

ผ้าปักด้วยไหมหรือด้าย

  • การปักเนา (Running Stitch)
  • การปักเนาสอดด้ายแฉลม (Threaded Running Stitch)
  • การปักด้นถอยหลัง (Back Stitch)
  • การปักด้นถอยหลังด้ายแฉลบ (Threaded Back Stitch)
  • การปักเมล็ดพืช (Seed Stitch)
  • การปักเดินเส้น (Outline Stitch)
  • การปักซิกแซ็ก (Zigzag Stitch)
  • การปักตรึง(Couching)
  • การปักลูกโซ่ (Chain Stitch)
  • การปักโซ่สอดด้ายทแยง (Whipped Chain Stitch)
  • การปักลูกโซ่เปิดลาย (Open Chain Stitch)
  • การปักลูกโซ่บิด (Twisted Chain Stitch)
  • การปักเลซี่ –เดซี่ (Lazy Daisy Stitch)
  • การปักเลซี่ – เดซี่ 2 ชั้ น (Double Lazy Daisy Stitch)
  • การปักปมฝรั่งเศส (French Knot)
  • การปักปมปะการัง (Coral Stitch)
  • การปักวงล้อ (Wheel Stitch)
  • การปักตัวหนอน (BullionStitch)
  • การปักปมตัวหนอนขด (Bullion Knot)
  • การปักคัทเวิร์ค หรือการปักรังดุม(Cutwork Stitch And Buttonhole)
  • การปักทึบ (Satin Stitch)
  • การปักสั้นยาว (Long And Short Stitch)
  • การปักปีกนก (Fly Stitch)
  • การปักปีกนกไขว้ (Feather Stitch)
  • การปักปีกนกห่างเต็มลาย (Open Cretan Stitch)
  • การปักกระดูกปลา (Fishbone Stitch)
  • การปักกระดูกปลาลายใบไม้ (Leaf Stitch)
  • การปักลายกางปลา (Herringbone Stitch)
  • การปักไขว้ 2 ชั้น (Closed Herringbone Stitch)
  • การปักปมตัวหนอนขด (Bullion Knot)
  • การปักคัทเวิร์ค หรือการปักรังดุม(Cutwork Stitch And Buttonhole)
  • การปักทึบ (Satin Stitch)
  • การปักสั้นยาว (Long And Short Stitch)
  • การปักปีกนก (Fly Stitch)
  • การปักปีกนกไขว้ (Feather Stitch)
  • การปักปีกนกห่างเต็มลาย (Open Cretan Stitch)
  • การปักกระดูกปลา (Fishbone Stitch)
  • การปักกระดูกปลาลายใบไม้ (Leaf Stitch)
  • การปักลายกางปลา (Herringbone Stitch)
  • การปักไขว้ 2 ชั้น (Closed Herringbone Stitch)

 

เทคนิคการปักผ้าด้วยริบบิ้น

การปักด้วยริบบิ้น

            ริบบิ้นที่นํามาใช้ตกแต่งด้วยวิธีการปักจะใช้ริบบิ้นขนาดเล็กมีความกว้างประมาณ 0.3 – 0.61 เซนติเมตรริบบิ้นที่นํามาใช้ปักแทนเส้นด้ายหรือเส้นไหมนี้เป็นริบบิ้นที่มีลักษณะลื่นหรือมันหรือที่มีขอบเรียบไม่หลุดลุ่ยง่ายและไม่ยับ ที่นิยมใช้ คือ ริบบิ้นไหม ริบบิ้นต่วน และริบบิ้นแก้ว

            ซึ่งสามารถนํามาปักบนผ้าได้โดยใช้เข็มที่มีขนาดใหญ่พอที่จะร้อยริบบิ้นเข้าไปได้หรือใช้เข็มถักโครเชต์ ผ้าที่ใช้ควรเป็นผ้าที่มีน้ำหนัก เนื้อค่อนข้างหยาบ พอที่เข็มหรือริบบิ้นสามารถจะปักขึ้นลงได้สะดวก เช่น ผ้าฝ้าย เป็นต้น

 

เทคนิคการปักด้วยเครื่องจักร

การปักด้วยเครื่องจักร

            การปักจักร นอกจากจะใช้วิธีปักตามลายที่วาดไว้บนผืนผ้าแล้วในปัจจุบันได้นํา เทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการปักให้รวดเร็วขึ้นโดยป้อนข้อมูลลวดลายที่จะปักไว้ในเครื่อง คอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์จะเป็นตัวควบคุมการทํางานทั้งหมด ซึ่งทําให้การทํางานสะดวก รวดเร็ว ใช้เวลาน้อยและได้ชิ้นงานมากซึ่งนิยมนํามาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม

 

การออกแบบลวดลายบนผืนผ้า

แนวทางและแหล่งที่มาของแนวความคิดในการออกแบบลวดลายบนผืนผ้าทุกท้องถิ่น ส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่างๆ ดังนี้

  • ความเชื่อในทางศาสนา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากงานศิลปกรรมของโบสถ์วิหาร มาดัดแปลงเป็นลวดลายบนผืนผ้า เช่น ช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันฑป ตลอดจนความเชื่อเรื่องพญานาคในตำนานพุทธศาสนา เป็นที่มาของลายนาคนั่นเอง
  • สภาพแวดล้อม

ลายที่เกี่ยวกับสัตว์เช่น ลายไก่ ลายกบ ลายปู ลายก้างปลา ลายนกยูง ลายเต่าทอง เป็นต้น
ลายที่เกี่ยวกับพืช เช่น ลายดอกแก้ว ลายดอกพิกุล ลายดอกสร้อย ลายหมากบก (กระบก)

ลายต้นสน ลายใบไผ่ ลายสร้อยดอกหมาก เป็นต้น
ลายที่เกี่ยวกับเครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องประดับ เช่น ลายขอ ลายขันหมาก ลายคันไถ ลายประกายเพชร ลายสมอ ลายโคม เป็นต้น
ลายที่เกี่ยวกับธรรมชาติ เช่น ลายภูเขา ลายถ้ำ ลายน้ำไหล ลายสายฝน เป็นต้น

 

แหล่งสิ่งทอ

 

ตลาดพารุรัด

แหล่งซื้อผ้า และอุปกรณ์ตัดเย็บ

ตลาดพาหุรัด
พาหุรัดเกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่พระราชทานที่ดินทรัพย์ส่วนพระองค์ของเจ้าฟ้าหญิงพาหุรัดมณีมัย พระราชธิดาที่สิ้นพระชนม์ลงตอนอายุแค่ 10 ปี จึงสร้างถนนขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ และตั้งชื่อว่า ‘ถนนพาหุรัด’ ซึ่งถือเป็นถนนเส้นสำคัญเลยทีเดียว เพราะเป็นย่านที่ไว้ติดต่อค้าขายกัน หรือแหล่งผ้าดีๆ นั่นเอง ซึ่งแม่ค้าพ่อค้าส่วนใหญก็เป็นชาวซิกข์ อินเดีย ที่เข้ามาค้าขายและรุ่งเรืองขึ้นเรื่อยๆ

ไชน่าเวิลด์ (China World)
ห้างสีแดงติดแอร์ 4 ชั้นที่มีผ้าให้เลือกหลากหลาย ร้านจะแบ่งออกเป็นล็อกๆ ในแต่ละชั้น มีผ้าให้เลือกหลากหลาย ส่วนใหญ่จะเน้นไปทางแฟชั่น เช่น ผ้าลูกไม้ ผ้ากำมะหยี่ ผ้าชีฟอง ผ้าปักเลื่อมต่างๆ

ถนนพาหุรัด
มีร้านขายผ้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่เรียงกัน มีอุปกรณ์สำหรับทำเสื้อผ้า อย่างเช่น ด้าย ยางยืด กระดุม ผ้ากาว เข็ม และอีกหลากหลาย

พาหุรัดเซ็นเตอร์
โซนนี้จะอยู่ติดกับถนนพาหุรัดตรงข้ามกับตึกไชน่าเวิลด์ บริเวณนี้ร้านผ้าส่วนใหญ่จะราคาถูกลงมา มีผ้าทั่วไปขายอยู่หลายร้าน ตั้งแต่ผ้าดิบ ผ้าซับใน ผ้าคอตตอน ผ้าลูกไม้ ผ้าขน ผ้าลูกฟูก ผ้าแคนวาสต่าง ๆ

สะพานหัน
โซนนี้ขายตั้งแต่ผ้าและอุปกรณ์ตกแต่งเสื้อผ้า กระดุม ริบบิ้น ขนนก ตัวรีด

 

แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งทอ

ผ้าคืออะไร ต้นกำเนิดผ้าไทย สุดยอดผ้าหายาก และหัตถศิลป์ไทยรวมอยู่ที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าไทยในสมเด็จพระนางเจ้าฯ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (SACICT)

 

แบรนด์คราฟต์สิ่งทอที่เราแนะนำ

 

แบรนด์เสื้อผ้า

  • แม่ฑีตา MaeTeeta แบรนด์ที่บุกเบิกผ้าย้อมครามรายแรกๆ ของประเทศไทย
  • Black Sugar เสื้อผ้าขาวดำ ตอกย้ำความเชื่อ “ไม่มีใครแก่เกินเรียน” 

 

แบรนด์เครื่องแต่งตัว 

  • ปาลิณีย์ PALINI แบรนด์แฟชั่นที่ไม่ได้ดีไซน์แค่หมวกและเสื้อผ้าเท่านั้น แต่ยังดีไซน์เรื่องราว ปรัชญาชีวิต และวิธีคิดการทำงานพวกเขาแฝงอยู่ด้วย
  • โอชานคร Ocharnakorn  แบรนด์ที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ และเปลี่ยนลวดลายในจินตนาการ ให้กลายเป็นผลงานที่ใครเห็นก็ต้องเหลียวมอง

 

แบรนด์อื่นๆ

  • แบรนด์ Human & Hound ปลอกคอเชื่อมคนกับหมา ด้วยผ้าธรรมชาติ

 

แหล่งข้อมูลและเครือข่ายสิ่งทอ

รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอสามารถขอข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.science.mju.ac.th
https://en.wikipedia.org/wiki/Textile
http://www2.mtec.or.th
http://siweb.dss.go.th
http://resource.tcdc.or.th
https://thai.tourismthailand.org
http://www.elfar.ssru.ac.th

Craft 'N' Roll

นักเล่าเรื่องสายคราฟต์ที่นำความรู้เชิงลึกและกว้างมาเสิร์ฟให้คุณ

Categories: CRAFT 101 , Materials