จากความหลงใหลใน Music Festival สู่ผ้าพันคอลายเก๋ “Ocharnakorn โอชานคร”

เมื่อพูดถึงงานศิลปะ ไม่มีคำว่า ถูก ผิด หรือกฎเกณฑ์ที่ตายตัว

ศิลปินบางคนชอบใช้สีน้ำ บางคนใช้สีสเปรย์ บางคนถึงขั้นใช้เลือดวาดภาพก็ยังมี แต่ก็มีศิลปินอีกหลายคนที่รังสรรค์ผลงานผ่านคอมพิวเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ Photoshop, Illustrator หรือโปรแกรมวาดภาพอื่นๆ

ซึ่งในปัจจุบัน โปรแกรมเหล่านี้สามารถเรียนรู้ได้ง่ายมากจากโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดศิลปินหน้าใหม่ที่มีผลงานเฉพาะตัวมากมาย แต่ท่ามกลางผลงานเป็นหมื่นเป็นแสน มีไม่กี่คนที่สามารถเปลี่ยนกราฟิกเหล่านั้น ให้กลายเป็นสินค้าที่จับต้องได้จริง

Craft ‘N’ Roll จึงอยากนำเสนอเรื่องราวของ “อัมรินทร์ โอชา (สต๊อป)” เจ้าของแบรนด์ Ocharnakorn โอชานคร แบรนด์ที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ และเปลี่ยนลวดลายในจินตนาการ ให้กลายเป็นผลงานที่ใครเห็นก็ต้องเหลียวมอง

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเป็น Ocharnakorn โอชานคร

สต๊อป : ผมเป็นคนที่หลงใหลงานเทศกาลดนตรี (Music Festival) เพราะมีโอกาสได้ไปงานเทศกาลเหล่านี้ค่อนข้างบ่อย ซึ่งงานส่วนใหญ่ก็จะจัดบริเวณชายหาดริมทะเล

เมื่อเข้าไปอยู่ในบรรยากาศของเทศกาลเหล่านี้ ผมก็จะซึมซับเอาความสนุก วัฒนธรรม และสีสันของเทศกาลดนตรีที่พบเจอ มาเล่าผ่านลวดลายกราฟิกในสไตล์ของผมเอง

“โอชานคร มาจากคำว่า โอชา นามสกุลของผม และ นคร จังหวัดนครศรีธรรมราชบ้านเกิดของผม”

 

ประสบการณ์ที่หล่อหลอมจนเป็นลายเส้นของตัวเอง

สต๊อป : ผมได้ประสบการณ์ด้านออกแบบผลิตภัณฑ์จากสมัยเรียนที่ไทยวิจิตรศิลปอาชีวะ ในตอนทำงานก็มีโอกาสทำกราฟิก ทำพร็อพประกอบฉากในรายการโทรทัศน์และอีเวนต์ต่างๆ จากนั้นได้มีโอกาสออกแบบลายเสื้อยืดให้กับแบรนด์ error

ประสบการณ์ทั้งหมดที่ผ่านมาทำให้ผมพัฒนาทักษะจนมาถึงทุกวันนี้

 

ผ้าพันคอ สร้างการจดจำให้ Ocharnakorn

สต๊อป : จาก Passion ที่มีต่อเทศกาลดนตรี ผมจึงตัดสินใจทำสินค้าแรกของตัวเองนั่นก็คือ ผ้าพันคอผู้หญิง เพราะผมคิดว่าผ้าพันคอเป็นสินค้าที่ถ่ายทอดความสนุกออกมาได้ง่าย เพราะมันสามารถนำไปสวมใส่ได้หลากหลายรูปแบบ

ตอนนั้นผมจำได้ว่าขายที่ตลาดนัดในเชียงใหม่ ถือว่าขายดีเลยนะ เพราะในตอนนั้นผ้าพันคอส่วนใหญ่เป็นไซส์ 1×1 เมตร ผมเลยทำแบบ 1.4×1.4 เมตรไปเลย ซึ่งมันใช้งานได้หลากหลายกว่า และลวดลายก็โดดเด่นแตกต่างจากผ้าพันคอลายอื่นๆ

จากผ้าพันคอในตอนแรก Ocharnakorn ก็เริ่มทดลองผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เสื้อผู้หญิง จนไปถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ แต่สิ่งที่สำคัญคือ เอกลักษณ์ของลายเส้นที่ใครก็ลอกเลียนแบบไม่ได้

 

ความแตกต่างระหว่างออกแบบลายเสื้อยืด กับเป็นเจ้าของธุรกิจเอง?

สต๊อป : ตอนทำเสื้อยืด ผมออกแบบให้คนอื่น แต่เมื่อทำธุรกิจของตัวเอง ผมต้องรู้ทุกอย่าง ไปคุยกับซัพพลายเออร์ ไปดูที่โรงงานเอง ฉะนั้นผมถึงรู้ว่า ลวดลายที่ผมทำเหมาะกับการพิมพ์แบบไหน? โรงงานไหนมีคุณภาพมากที่สุด? ผ้าซีฟอง ผ้าซาติน ผ้าแคนวาส ผ้า 600d แตกต่างกันอย่างไร?

เรื่องพวกนี้ คุณต้องลงมาศึกษาเอง ถึงจะรู้

สิ่งที่อยากฝากถึงนักออกแบบคนอื่นๆ

สต๊อป : ผมรู้สึกว่าคนเราต้องมีกลิ่น มีสไตล์เป็นของตัวเอง ถ้าเห็นคนอื่นทำเลยอยากทำบ้าง ผมว่ามันไม่ใช่ อย่างสินค้าของ Ocharnakorn ที่ทำจะเน้นไปทางผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ของผู้หญิง เสื้อผู้หญิง ก็เพราะลวดลายที่ผมทำมันเหมาะกับชายทะเล เทศกาลดนตรี และเหมาะกับผู้หญิงที่ต้องการพรีเซนต์ความสดใส ความเป็นเด็กออกมา

ฉะนั้นสินค้าของผมจะไม่ค่อยแมสขนาดนั้น เพราะมันไม่ใช่ลายที่ใส่ได้ทุกวัน แต่เมื่อกลิ่นของผมมันไปเตะจมูกคนที่ใช่ เดี๋ยวมันก็ขายได้ ผ้าพันคอ หรือชุดราคาหลายพัน มันก็ขายได้ด้วยสไตล์ของมันเอง

ภาพ : Ocharnakorn

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , TALKS