“ผ้าย้อมคราม” ภูมิปัญญาที่เกือบสูญหาย สู่แฟชั่นที่ใครๆ ก็อยากได้

ถ้าพูดถึง “ผ้าย้อมคราม” ในยุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็จะนึกถึงแฟชั่นในรูปแบบเสื้อ กางเกง กระเป๋า ผ้าพันคอ ในรูปแบบที่ทันสมัย ใส่กับอะไรก็ดูดีไปหมด

แต่ถ้าย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อน ภาพลักษณ์ของผ้าย้อมครามไม่ใช่แบบนี้เลยสักนิด เพราะภาพลักษณ์ของผ้าย้อมคราม คือ เสื้อผ้าที่ไม่มีราคา

ทีม Craft ‘N’ Roll ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณประไพพันธ์ แดงใจ ทายาทรุ่นที่ 2 ของแม่ฑีตา แบรนด์ที่บุกเบิกผ้าย้อมครามรายแรกๆ ของประเทศไทย

 

ประวัติสั้นๆ ของแบรนด์แม่ฑีตา

ยุคบุกเบิก
ในช่วงปีพ.ศ.2530-2540 หลังจากที่คุณประไพพันธ์ เรียนจบและทำงานไกลบ้านเป็นเวลาหลายปี เธอตัดสินใจกลับมาที่บ้านนาดี จังหวัดสกลนคร เพื่อกลับมาทำผ้าย้อมคราม โดยได้ความคิดมาจากการเห็นผ้าย้อมครามที่แม่เคยให้สมัยเด็กๆ ยังคงมีสีที่สวยงาม และสภาพคงทน

ในตอนเริ่มต้นนั้นไม่ง่าย แม้ว่าคุณฑีตา แม่ของคุณประไพพันธ์จะมีความรู้เรื่องการย้อมคราม แต่ ณ ตอนนั้นก็ไม่มีใครย้อมครามมานานเกือบ 50 ปีแล้ว ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องยากมากที่จะทำให้สูตรดั้งเดิมของการย้อมครามกลับมาได้ ขาดทั้งเมล็ดพันธุ์ พื้นที่ในการเพาะปลูก อุปกรณ์ และอื่นๆ อีกมาก

แต่เธอก็สามารถปลุกผ้าย้อมครามให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และเริ่มเปลี่ยนวิธีการขาย จากการขายเป็นผืนยาวๆ เป็นการตัดเย็บขายเป็นชุด จนทำให้ครอบครัวและคนในชุมชนเริ่มยึดอาชีพนี้ได้

 

ยุคโกอินเตอร์

จากเสื้อผ้าที่มีรูปแบบเดิม ที่มักจะเห็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือชาวนาใส่ กลายเป็นเสื้อผ้าแฟชั่นที่โชว์ตัวในเวทีระดับโลกมากมาย

โดยคุณสุขจิต แดงใจ (มอญ) ทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามาเสริมในจุดที่แบรนด์แม่ฑีตาไม่มี ทั้งเรื่องการออกแบบ การทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ช่องทางการจัดจำหน่าย จนปัจจุบันแม่ฑีตาถือเป็นแบรนด์ผ้าย้อมคราม ต้นตำรับของจังหวัดสกลนคร และประเทศไทยไปเรียบร้อย

ปัจจุบันมีดีไซนเนอร์หลายคน พยายามนำมาผ้าย้อมครามมาออกแบบใหม่ แต่ทำไมของแม่ฑีตาถึงดูโดดเด่นกว่าเพื่อน ?

คุณประไพพันธ์ : เส้นใยที่เราใช้ในการทอมีหลายแบบ ทั้งเอาผ้าไปย้อมทั้งหมด หรือการทอสลับ โดยเราปลูกต้นครามเองจากวิธีการธรรมชาติทั้งหมด ส่วน Green Cotton ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้มีเสือผ้าแต่ละตัวมีลายไม่ซ้ำกัน

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในแต่ละช่วงของแบรนด์แม่ฑีตาคืออะไร?

คุณประไพพันธ์ : น่าจะเป็นการเปลี่ยนสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำ เพราะสมัยก่อนเขาก็ย้อมแล้วขายกันเป็นผืน ฉันก็เอามาตัดเป็นชุดขายก็ไม่ค่อยมีคนเห็นด้วยในตอนแรก
อย่างรุ่นลูก หลังเรียนจบเขาก็มีความคิดเยอะแยะไปหมด แต่ทุกคนก็ไม่ได้เห็นด้วยในตอนแรก ต้องใช้เวลาถึงจะทำให้เข้าใจในรูปแบบที่เปลี่ยนไป

เทรนด์ เรื่องผ้าย้อมคราม ในปัจจุบัน ?

คุณประไพพันธ์ : แต่เดิมผ้าย้อมครามยังไม่ได้รับความนิยมเท่านี้ เพราะคนรู้สึกว่าเป็นเสื้อที่ชาวนาใส่ ลูกค้าบุคแรกๆ ก็มีแต่ผู้ใหญ่และข้าราชการที่ใส่
ปัจจุบันดีขึ้นมากแล้ว เพราะมันสามารถเอาไปตัดเป็นชุด เป็นเสื้อผ้าที่ทันสมัย ใครเห็นก็ชอบ
ทุกวันนี้ผ้าย้อมครามผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย เพราะขายได้ทั้งคนไทย คนต่างประเทศ

ทำไม “ครามสกลนคร” ถึงได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก?

คุณประไพพันธ์ : พอคนเข้าใจผ้าย้อมครามมากขึ้น ราคาของมันก็สูงขึ้น ทำให้มีคนพยายามทำผ้าย้อมครามออกมาขาย แต่การย้อมครามมีขั้นตอนที่ต้องเอาใจใส่มาก ฉะนั้นหลายจังหวัดจึงเอาสารเคมี เอาสารเร่งมาช่วย ทำให้สีสวย และผลิตได้ทัน

แต่ที่จังหวัดสกลนคร ชุมชนส่วนใหญ่ยังคงอนุรักษ์การย้อมครามการย้อมครามแบบธรรมชาติไว้

ข้อคิดจากแบรนด์ “แม่ฑีตา”

1.สังเกต และลงมือทำ

จุดเริ่มต้นของแบรนด์แม่ฑีตา ไม่ได้มาจากธุรกิจครอบครัวที่ย้อมผ้าครามมาตั้งแต่อดีต แล้วค่อยมาพัฒนาดีไซน์ แต่เกิดจากการสังเกตเห็นคุณภาพของผ้าย้อมคราม และลงมือศึกษา บุกเบิกเองตั้งแต่ต้น จนได้ผ้าย้อมครามที่เป็นสูตรของตัวเองขึ้นมา
ฉะนั้นไอเดียในการทำงานคราฟต์หรือทำธุรกิจ สามารถหาได้จากทุกที่ อยู่ที่ว่าคุณสามารถนำมาพัฒนาจนเป็นสินค้าที่คนเข้าใจได้มากขนาดไหน

2.กล้าเปลี่ยนแปลง

ภูมิปัญญาของไทยเป็นสิ่งที่มีค่า ซึ่งประเทศไทยเรามีศิลปะและภูมิปัญญาในแทบทุกด้าน
แต่มันจะไม่มีประโยชน์เลย ถ้าคุณไม่สามารถเอาภูมิปัญญาเหล่านั้น มาทำให้คนในยุคนี้เข้าใจได้ ฉะนั้นถ้าวิธีที่ทำอยู่ไม่ได้ผล อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง

ที่มา : แม่ฑีตา

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , POPULAR , TALKS