‘รพิ ริกุลสุรกาน’ ข้าราชการ ผู้หลงรักอักษรวิจิตร

Calligraphy หรือ อักษรวิจิตร เป็นศาสตร์การเขียนตัวอักษรที่มีประวัติยาวนานหลายร้อยปีแล้ว มันถูกคิดค้นขึ้นในยุคที่ประเทศอังกฤษกำลังเฟื่องฟูด้านการค้าและการติดต่อกับต่างประเทศ เป็นรูปแบบตัวอักษรที่ใช้ในหนังสือราชการ เพื่อให้ดูเป็นทางการ และสวยงามสมเป็นประเทศที่มีอารยะ ภายหลังเมื่อศาสตร์การเขียนตัวอักษรเหล่านี้เริ่มแพร่หลายไปในอเมริกาจึงได้มีการคิดค้นรูปแบบตัวอักษรอื่นๆ ขึ้น จนปัจจุบันมีรูปแบบตัวอักษรเหล่านี้อยู่มากมายเต็มไปหมด

แม้อักษรวิจิตรจะมีจุดเริ่มต้นจากการใช้งานในหนังสือการค้า หนังสือราชการ หรือสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ปัจจุบันมันถูกเปลี่ยนบทบาทให้กลายเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง ศิลปะที่มีเหล่า Penman ผู้หลงใหลในความงามของตัวอักษรหันมาให้ความสนใจและศึกษาค้นคว้าอยู่มากมายทั่วโลก

หนึ่งในนั้นคือข้าราชการหนุ่มผู้สนใจในศิลปะการเขียนตัวอักษร ‘มด’ รพิ ริกุลสุรกาน ข้าราชการตำแหน่งนักวิเทศสัมพันธ์ ประจำสำนักประธานศาลฎีกา และเจ้าของเพจ Rapigraphy

 

ข้าราชการ ผู้หลงรัก ‘ศิลปะ’

 

มดเล่าว่า ก่อนจะหันมาเริ่มเขียนอักษรวิจิตร เขาค้นพบตัวเองว่าชอบทางด้านศิลปะมาตั้งแต่เด็ก แต่เพราะในตอนนั้นค่านิยมของสังคมยังไม่เปิดกว้างและให้ความสำคัญกับคนที่ทำอาชีพสายศิลปะ เขาจึงตัดสินใจเข้าเรียนด้านนิติศาสตร์ตามความนิยมของกลุ่มเพื่อน และแรงสนับสนุนจากครอบครัว

“คือไอ้เรื่องความสนใจในสิ่งสวยงาม หรือการหาความสุขเล็กๆ ในชีวิต มันติดตัวเรามาตั้งแต่เด็กแล้ว อาจจะไม่ได้เป็นคนชอบทำ แต่ว่าชอบฟังเพลง ชอบเล่นดนตรี เคยอยู่ชมรมร้องเพลงประสานเสียงของโรงเรียนด้วย คือตอนนั้นก็แค่อยากเรียนรู้ อยากมีประสบการณ์ แต่ก็คิดว่าของพวกนี้แหละ ที่มันค่อยๆ หล่อหลอมเราให้เห็นความสวยงามหลายๆ อย่างในชีวิต”

จากคัดลายมือ สู่ศิลปะการขีดเขียน

 

คงต้องขอบคุณวิชาการคัดลายมือจากโรงเรียนดาราสมุทร ศรีราชา ที่ทำให้เขาได้รู้จักกับศิลปะการเขียนตัวอักษร

“มันเป็นวิชานึงเลยที่ให้เราคัดตัวหนังสือด้วยปากกาสปีดบอล คือตอนนั้นมันไม่มีโรงเรียนไหนเขามาเรียนอะไรแบบนี้หรอก เราจะต้องมีสมุดปกแข็ง มีหมึกอินเดียอิงค์ แล้วก็มีปากกาสปีดบอลหัวตัด มานั่งคัดตัวหนังสือตามฟอร์มของเขา แต่ว่าตอนนั้นเขาสอนแค่การคัดเป็นตัวๆ เรายังเอามาประกอบคำไม่ได้ ลองทำแล้วมันไม่สวย ก็เลยคิดว่ามันคงมีความลึกอะไรบางอย่างอยู่ในศาสตร์นี้ เพียงแต่พอจบออกมาไม่ได้เอาไปใช้ทำอะไรต่อ มันก็เลยเหมือนเป็นความสนใจที่ยังติดค้างอยู่ในใจเรา”

มดกลับมาฝึกเขียนตัวอักษรอย่างจริงจังหลังจากผ่านไป 4-5 ปี เพราะเห็นภาพการ์ดที่เขียนด้วยลายมือแสนสวยบนอินสตาแกรม ความประทับใจในศาสตร์การเขียนตัวอักษรที่งดงาม อ่อนช้อย ทำให้เขาอยากกลับมาเริ่มฝึกเขียนอีกครั้ง

“คือทีแรกเรานึกว่ามันเป็นเพราะปากกาที่ใช้เขียน เราเห็นเขาใช้ปากกาหน้าตาแปลกๆ แล้วเขียนออกมาสวยมาก (มันคือ oblique pen) ก็เลยนึกว่ามันต้องเป็นเพราะปากกาแน่ๆ ตอนนั้นก็สั่งปากกามาเลย ทีนี้พอได้ปากกามาลองเขียนปุ๊บ ถึงได้รู้ว่า มันไม่ใช่ที่ปากกานี่หว่า มันคือฝีมือล้วนๆ หลังจากนั้นเราเลยฝึกเขียนจริงจัง”

การฝึกฝนที่ไม่หยุดยั้ง

 

เขาเริ่มต้นจากการเรียนรู้ และค้นคว้าเอง ทั้งจากการทำตาม และตำราที่หาได้จากอินเทอเน็ตก่อนจะตัดสินใจเริ่มเข้าเรียนเขียนอักษรวิจิตรอย่างจริงจังในภายหลัง เพราะการจะวาดตัวอักษรที่มีแบบแผนสวยงาม มีขนบชัดเจน และองศาการเขียนถูกต้อง จำเป็นต้องให้เวลาแก่การฝึกฝนอย่างจริงจัง จึงจะสามารถเขียนได้อย่างพลิ้วไหว สวยงามตามแบบฉบับของตัวอักษร Calligraphy

การฝึกฝนที่ว่า ยังรวมไปถึงฝึกกล้ามเนื้อมือ ให้สามารถควบคุมปากกาได้อย่างใจนึก เพราะยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เราส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับการเขียนเป็นเวลานานๆ ไปเสียแล้ว

“ตอนจับปากกาครั้งแรกเรารู้สึกได้เลยว่ามันไม่ชิน พอเขียนไปก็ยิ่งรู้สึกได้ว่ามือมันสั่น การจะคุมน้ำหนัก จะบังคับเส้นให้นิ่ง เราทำไม่ได้เลย แล้วยิ่งพอฝึกไปสักพัก วันต่อมาเรารู้สึกปวดมือมาก ตอนนั้นถึงได้รู้ว่าที่จริงมือเรามันอ่อนแอกว่าที่คิด (หัวเราะ) แบบเพิ่งรู้ว่ามันมีกล้ามเนื้อตรงนี้ด้วยที่ต้องใช้งาน”

มดใช้เวลาฝึกฝนไปเรื่อยๆ หลังจากเลิกงาน ทำอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ กว่าจะเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง หรือรู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้น เวลาก็ผ่านไปกว่า 6 เดือน

“พอมาศึกษาจริงจังแล้ว ที่จริงการเขียนตัวอักษรพวกนี้มันมีทฤษฎีอยู่นะ ตัวอักษรแต่ละแบบมันก็มาจากช่วงเวลาที่ไม่เหมือนกัน มันมีคำอธิบายรองรับว่าสคริปต์นี้มาจากช่วงไหน ทำไมมันถึงหน้าตาแบบนี้ คือมันมีวัฒนธรรม มีการกลั่นกรองที่ลึกซึ้งของมันอยู่ แล้วมันก็ท้าทายเราให้ยิ่งอยากรู้ อยากทำมากขึ้นอีก ไม่ใช่ว่าการเขียนแบบโมเดิร์นมันไม่ดีนะ แค่เรารู้สึกว่าตรงนี้มันคลาสสิก แล้วก็เติมเต็มเราได้มากกว่า”

แต่ใช่ว่าเส้นทางของการฝึกฝนตลอด 5 ปี จะไม่มีช่วงเวลาที่เขาท้อ ถึงอย่างนั้นมดก็ยังเดินหน้าต่อ เพราะเขารู้ว่าความรู้สึกนี้ต้องมีกันทุกคน

“มันไม่ใช่ว่าเราไม่มีนะ ไอ้ความรู้สึกท้อ หงุดหงิดว่าทำไมเราทำไม่ได้สักที มันมีกันทุกคนนั่นล่ะ ก็มีท้อ มีอยากเลิก คนเรามันจะมีเหตุผลให้ตัวเองเสมอเวลาที่กำลังจะยอมแพ้เรื่องอะไรสักอย่าง แต่เราเสียดายอุปกรณ์หลายๆ อย่างที่ซื้อมาแล้ว ตอนนั้นของทุกอย่างที่คนอื่นเขาใช้กัน เรามีหมด มันอยู่ที่ตัวเราอย่างเดียวอะ ก็ถามตัวเองว่าเราจะเลิกเหรอ ตัวหนังสือเรารู้จักมาตลอด เราเขียนหนังสือมาทั้งชีวิต แล้วทำไมเราไม่ลอง คือพอถึงตรงนั้นข้อแก้ตัวมันน้อยมาก เราก็เลยลอง ก็เลยทำ”

งานอดิเรกขัดเกลาตัวตน

 

แม้จะเริ่มต้นแค่เพียงความหลงใหล แต่เมื่อเวลาผ่านไปมดกลับพบว่ามันกลายเป็นสิ่งที่ให้อะไรกับเขาหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเห็นคุณค่าความพยายามของตัวเอง รวมถึงคุณค่าของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ รอบตัวของเขา

“ชัดเจนที่สุดคือ เราคุณค่าของการที่เราไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้ไปก่อน เรารู้สึกว่ามันเป็นแรงผลักดันที่เราสามารถเอาไปใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้ อย่างสมมุติว่าเราไปเจอเรื่องที่เรารู้สึกว่าสิ่งนี้มันยาก เราก็พอมีความมั่นใจว่า แม้กระทั่งเรื่องยากๆ แบบนี้เรายังเคยทำได้เลย ต่อให้มีเรื่องนี้อีกทำไมเราจะทำไม่ได้ มันทำให้เราไม่กลัวที่จะเผชิญหน้ากับอะไรก็ตามที่เรากลัวไปเองก่อน แล้วก็รู้สึกมีสมาธิมากขึ้น จดจ่อกับอะไรได้นานขึ้น อีกอย่างก็คือรู้สึกถึงคุณค่าของความรู้สึกตัวเอง เวลามีคนชมก็ดีใจ พองฟูไปกับเรื่องเล็กๆ คือมันสามารถขัดเกลาเราให้กลายเป็นคนที่ละเอียดละออ”

ทั้งยังทำให้เขากลายเป็นศิลปินนักเขียนอักษรวิจิตร ผู้มีนิทรรศการศิลปะของตัวเองเป็นครั้งแรก กับนิทรรศการ Accidentally Professional ที่จัดแสดง ณ ร้าน Craftsman Roastery เป็นการจัดแสดงผลงานของศิลปินที่อาจจบมาไม่ตรงสาย แต่กลับมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งที่รัก จนมีผลงานเป็นที่ยอมรับไม่ต่างจากมืออาชีพ แน่นอนว่ามดถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในศิลปินเหล่านั้น


“ตอนที่เริ่มทำเราไม่ได้คิดอะไรมาก ไม่ได้คิดว่าจะทำไปอีกกี่ปี มันก็แค่เป็นสิ่งที่เราสนใจ เป็นทักษะที่เราอยากมีติดตัว เอาไว้ทำของขวัญให้เพื่อน เขียนจดหมาย เขียนการ์ดเล็กๆ ด้วยลายมือ ให้คนรับเขาเห็นแล้วมีความสุข รู้สึกว่ามันมีคุณค่า เราแค่อยากทำตรงนี้ แต่พอได้รับโอกาสแบบนี้ บอกตามตรงก็คือเราดีใจ มันเปลี่ยนอะไรในตัวเราไปหลายอย่าง”

ศิลปินที่กำลังจะก้าวต่อ

 

“เมื่อก่อนเราก็จะรู้สึกเขินๆ เหมือนกันนะเวลามีคนมาเรียกเราว่าศิลปิน ทั้งที่จริงๆ ตอนเด็กมันก็เป็นสิ่งที่เราเคยบอกคุณครูว่าโตไปเราอยากเป็นจิตรกรอะไรอย่างนี้ แต่พอมองในแง่ที่ว่าศิลปินมันคือคนที่ทำงานศิลปะ ตอนนี้เราก็ว่าเราภูมิใจที่ถูกเรียกแบบนั้น รู้สึกว่าเรามีคุณค่าในตัวเอง แล้วเราก็อยากพัฒนา ทำให้มันดีขึ้น”

แม้ว่าชื่อของนิทรรศการจะเป็น การกลายเป็นมืออาชีพโดยอุบัติเหตุ แต่ก็ดูเหมือนท้ายที่สุดแล้วอุบัติเหตุครั้งนี้ จะผลักดันให้เกิดศิลปินตัวจริงขึ้นมาประดับวงการอีกคนแล้ว

“ที่ผ่านมาเราเขียนไปทีละแผ่นๆ เราก็ไม่เคยรู้หรอกว่าทำไปแค่ไหน จนได้มีโอกาสนำมันออกมากางดู เอามาแปะโชว์ เราถึงเพิ่งรู้ว่าที่จริงเราก็มาได้ไกลแล้ว ยิ่งพอได้พูดคุยกับคนอื่น คนที่สนใจอะไรคล้ายๆ กัน มันยิ่งจุดประกายไอเดียบางอย่างในตัวเรา เราเริ่มอยากลองทำอะไรหลายอย่างนอกเหนือไปจากคัดสคริปต์ตามแบบ อยากลองทำแบบนั้นแบบนี้เพื่อดูว่ามันจะออกมาเป็นยังไง มันเหมือนเป็นตัวช่วยผลัก ให้เราข้ามไปสู่อีกก้าวหนึ่งของงาน” มดกล่าว

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: