เสน่ห์งานไม้… จากหนึ่งสมองสองมือ

ใจความสำคัญ –

“การสร้างสรรค์ผลงานภายใต้พื้นที่จำกัด สำเร็จ คือสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของมนุษย์”

“ความเป็นไปได้มีอยู่จริง หากลงมือปฎิบัติอย่างเข้าใจ”

“หากชำนาญทางด้านทักษะแล้ว ความคิดสร้างสรรค์จะตามมาไม่หยุดยั้ง”

“หากเริ่มต้นด้วยความรักและความชอบ จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในวิชาชีพ”

                                                                          designer พชร พ่วงสกุล

 

แม้โลกการออกแบบ จะมีหลากสาขาวิชาชีพเกี่ยวข้องกับมนุษย์นานนับพันปี แต่ปฎิเสธไม่ได้ว่า “หลักการออกแบบงานไม้ เพื่อประโยชน์ใช้สอย” คือหนึ่งในทักษะสำคัญ ซึ่งช่วยส่งเสริมมนุษย์ให้เกิดการพัฒนาทางสังคม ศิลปะ วัฒนธรรม หลักการอยู่อาศัย และสถาปัตยกรรมอันวิจิตรงดงาม

ในฐานะนักออกแบบรุ่นใหม่ ซึ่งคลุกคลีงานไม้ตั้งแต่อายุสิบขวบ นายพชร พ่วงสกุล หรือช่างเบนซ์ (ผลงานเครื่องดริปกาแฟ จากเทคนิก Kumiko) ได้ร่วมให้เกียรติหยิบยกเรื่องราว ทั้งถ่ายทอดประสบการณ์ซึ่งตนประสบพบเจอ ผ่านพื้นที่สัมภาษณ์เล็ก ๆ มุมหนึ่งใน Craft “N” Roll

 

ความหลังครั้งเยาว์

ช่างเบนซ์: ผมเกิดและโตที่จังหวัดเพชรบุรี วัยเด็กจะชอบติดตามคุณลุงซึ่งมีอาชีพเป็นนักออกแบบสร้างเรือประมง ไปทำงานบ่อยครั้ง ดังนั้นการหยิบจับอุปกรณ์จึงได้รับการซึมซับมา แต่เป็นเพียงขั้นตอนพื้นฐาน เช่น ตอกตะปู ขัดไม้ เลื่อยไม้ เจาะนอต งานประกอบ และทาสีรอบกราบเรือ

เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ สาขาประติมากรรม และปริญญาโท คณะมัณฑณศิลป์ สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างนั้นก็ทำงานไม้มาตลอด อย่างผลงานที่โดดเด่นจะมีกรอบภาพไม้ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ซึ่งใช้เทคนิกการเข้ามุม-ตั้งฉาก หรือการสร้างตู้เก็บสีน้ำมัน ซึ่งช่วยในเรื่องระบบระบายอากาศได้ดี ทั้งช่วงนั้น ผมเคยประกวดผลงาน Sculpture (ประติมากรรม)  และได้รับทุนไปจัดแสดงงานที่รัฐเวอร์มอนต์ สหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษา ก็ออกมาทำอิสระ เริ่มจากรับงานจัดดิสเพลย์ตามแหล่งนิทรรศการ สร้างเฟรมกรอบรูป ผลิตของใช้ชิ้นเล็ก (งานไม้) เพื่อจัดจำหน่ายออนไลน์

 

จุดสมมาตรและสมการองศา

ช่างเบนซ์: สมดุลบุคคลย่อมแตกต่างกัน แต่ผมกลับมองว่ามันเป็นเสน่ห์ในโลกการออกแบบ เพราะถ้ามนุษย์ทำสิ่งใดเหมือนกันหมด จะเกิดภาวะซ้ำซากจำเจ ไร้การพัฒนา  แต่ว่า “ความต่าง” ย่อมต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง การจะสร้างผลงานสักชิ้น คุณต้องเริ่มจากจำลองแบบในสมองเป็นภาพสามมิติก่อน จากนั้นลงมือสเก็ตช์แปลนลงกระดาษ เพื่อคำนวนองศา เมื่อวางแปลนสำเร็จ จึงจะเป็นเรื่องทักษะความชำนาญทางฝีมือ ซึ่งเกิดจากการฝึกฝน ยิ่งชั่วโมงบินสูงก็ยิ่งเก่ง ทั้งมีตัวแปรอื่น เช่น การตัดสินใจหน้างาน ซึ่งหาประสบการณ์ได้จากลงมือปฎิบัติจริงเท่านั้น

 

ควานหาความเป็นไปได้ภายใต้พื้นที่อันจำกัด

ช่างเบนซ์: ตามหลักกระบวนการคิดและสร้างสำหรับผม ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

Functional Process (สร้าง – เน้นตอบโจทย์ผู้ใช้งาน) โดยให้ความสำคัญกับเรื่องประสิทธิภาพโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเสา คาน ฐาน หรือส่วนต่อขยายอื่น ๆ ยิ่งเราพยายามลดข้อผิดพลาดได้มาก ก็จะยิ่งช่วยให้ผลงานสมบูรณ์

Custom Process (ภาพลักษณ์และการตกแต่งภายนอก) เป็นสิ่งดึงดูดสายตาผู้คนให้ผลงานได้รับความสนใจ ในส่วนนี้อาจต้องพึ่งพาทักษะงานศิลป์และรสนิยมบุคคลส่งเสริม เช่น เส้นสาย ลวดลาย เหลี่ยมมุม และสีสันจำเพาะ

ผลงานล่าสุด แท่นดริปกาแฟและฐานรองแก้วไม้ ล้วนมาจากแนวทาง “ควานหาความเป็นไปได้ภายใต้พื้นที่อันจำกัด” โดยใช้เทคนิก “Kumiko” จากประเทศญี่ปุ่น หมายถึงการประกอบส่วนต่าง ๆ ระหว่างกันอย่างมีชั้นเชิง

 

ฐานรองแก้วไม้ ผลิตจากไม้บีชและไม้วีเนียร์วอลนัท เริ่มจากกำหนดรูปทรงฐานขนาด 6 เหลี่ยม หรือ 3 เหลี่ยม จากนั้นตัดแบ่งไม้เป็นชิ้นเล็ก ประมาณ 8 เซนติเมตร โดยพยายามมองหาเหลี่ยมมุมองศาและวิธีจัดวางภายใน เริ่มจาก 30 – 45 – 60 องศา ไล่ระดับไปเรื่อย ๆ จนเกิดลวดลายงดงาม

 

แท่นดริปกาแฟไม้ ผลิตจากไม้โอ๊กและไม้วีเนียร์วอลนัท ใช้วิธีประกอบชิ้นไม้คล้ายกับลวดลายประตูวงกบญี่ปุ่น ตัวฐานสร้างจากรองแก้วไม้ จากนั้น แต่งเติมเสาเอกส่วนกลาง พร้อมประกอบเหลี่ยมมุมลักษณะเรขาคณิต แท่นดริปตัวนี้ เป็นหนึ่งในผลงานภูมิใจ ซึ่งต่อยอดมาจาก “น้อม” ได้รับรางวัล DE Mark Award 2018

 

ศิลป์ร่วมสมัย

ช่างเบนซ์: สำหรับผม นักออกแบบไทยและต่างประเทศมีข้อแตกต่างเด่นชัด (ยุคเก่า) นักออกแบบต่างประเทศ จะนิยมสรรหาวัสดุแปลกใหม่ หรือไม่สามารถหาได้ในเขตพื้นที่ประเทศ มาผลิตและสร้างเป็นผลงาน กลับกันนักออกแบบไทย จะคุ้นชินกับการใช้วัสดุเดิม ๆ ซึ่งหาได้เฉพาะถิ่นฐานใกล้เคียง

ทว่าปัจจุบัน นักออกแบบไทยรุ่นใหม่ เริ่มมีพัฒนาการยิ่งขึ้น เริ่มสรรหาสิ่งแปลกใหม่ เพื่อลดความซ้ำ และสิ่งน่าเบื่อเดิม ๆ ถ้าถามต่ออีกว่ากระแสการออกแบบงานไม้ปัจจุบันเป็นอย่างไร ผมกลับมองว่า ผู้คนเริ่มโหยหาความดั้งเดิม โหยหาความเก่าทางด้านภาพลักษณ์ แต่กลับอยากได้ฟังก์ชันการใช้งานที่ทันสมัย ดังนั้นแล้ว “วิถีร่วมสมัย” จึงกลายเป็นสิ่งตอบโจทย์ ซึ่งได้รับความนิยมใน ค.ศ. 2019 – 2020

 

อุปกรณ์เปลี่ยนโลก บนพื้นฐานความจริง

ช่างเบนซ์: หากนึกถึงความหลงใหลต่อวัสดุอุปกรณ์งานช่าง ผมมี 4 ตัวเลือก

ไม้มะฮอกกานี คุณสมบัติพิเศษ กลิ่นหอมนิด ๆ กายภาพยืดหยุ่นปานกลาง ลวดลายซับซ้อน เนื้อไม้สีแดงทึม หากนำมาขัดให้เนียน จะเกิดความวาว เมื่อยามต้องแสง เหมาะแก่การนำไปทำเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านเรือนทรงไทย

สิ่ว เหมาะสำหรับใช้ขุด เจาะ ตัดแต่งเนื้อไม้ เพื่อสร้างรายละเอียดพื้นผิว ทั้งส่วนเข้าถึงง่าย – เข้าถึงยาก เสน่ห์ของสิ่วส่วนใหญ่ ถูกอิงร่วมกับงานศิลป์ ประเภทประติมากรรม หรือจิตรกรรมฝาผนัง

กบไส มี 2 ลักษณะ หากเป็นฝั่งยุโรปจะเป็นการไสผลักออกจากตัว ส่วนฝั่งเอเชีย (ญี่ปุ่น) จะไสเข้าหาตัวผู้ใช้

ค้อน ขนาดและน้ำหนักเป็นปัจจัยหลักต่อการใช้งานตามประเภท เช่น ค้อนหัวแบน เหมาะสำหรับใช้ตอกกับสิ่ว เพื่อขุดเจาะ ส่วนค้อนหัวนูน เหมาะกับการใช้งานตอกตะปู

 

หลักการและสัญชาติญาณ

ช่างเบนซ์: แม้จะวางแผน หรือร่างแปลนได้ดีสักเพียงใด ก็ไม่ควรละเลยการฝึกฝน มันก็เหมือนกับการที่เราไม่ได้ทำสิ่งใดเป็นระยะเวลานาน กล้ามเนื้อก็จะค่อย ๆ อ่อนแรงและลดการจดจำ ยิ่งการทำงานไม้ น้ำหนักมือและอุปกรณ์ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญมาก ดังนั้น ต่อให้มีเวลาว่างก็ควรหมั่นฝึกฝนไม่ขาด เพราะผมเชื่อเสมอว่า “กฎของการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานเกิน 10,000 ชั่วโมง จะช่วยให้เราเกิดทักษะความชำนาญทางสายอาชีพระดับสูง”

 

บริบทสังคม

ช่างเบนซ์: อาชีพนักออกแบบงานไม้ในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะถูกสังคมมองว่าเป็นเพียงช่างฝีมือธรรมดา ซึ่งข้อนี้ทำให้เราแตกต่างจากญี่ปุ่น หรืออเมริกา ที่ต่างประเทศอาชีพช่างไม้ จะถูกยกให้ความสำคัญมากกว่า เนื่องจากผู้คนมองว่าเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ ซึ่งควรค่าแก่การเก็บรักษา

แต่จะไปโทษมุมมองทางสังคมอย่างเดียวก็ไม่ถูก เพราะส่วนใหญ่การผลิตงานไม้ในไทย นักออกแบบกับช่างจะเป็นคนละคนกัน น้อยมากที่จะเป็นทั้งนักออกแบบและช่างเอง ทั้งนี้ จากการสังเกตของผม ปัจจุบัน นักออกแบบเริ่มหันมาลงมือผลิตเองมากขึ้น อาจจะเพราะลดต้นทุนการจ้าง หรือเพราะต้องการให้ตรงสเปค จะเห็นได้จากตามโรงงาน บ้าน หรือโค – เวิร์คกิ้งสเปซ รอบกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล

 

ส่งท้ายผ่านตัวอักษร

ช่างเบนซ์: “ไม้” ในประเทศไทยเป็นไม้คุณภาพดีมาก แต่จำนวนเริ่มลดน้อยลงน่าตกใจ ดังนั้น ในฐานะนักออกแบบ ผมจึงพยายามดัดแปลงและประยุกต์การใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้ทรัพยากรธรรมชาติลดการสูญเปล่า สุดท้าย ผมเชื่อว่ามนุษย์เราทุกคนสามารถช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ได้ หากมีกระบวนการคิดและระบบจัดการอย่างถูกวิธี

Categories: