Thai Craft Studio คราฟต์ไทย ใครว่าไกลตัว

          งานหัตถศิลป์ไทย ใครมองก็ชื่นชมว่างาม ว่าสวย ทั้งเส้นสายอ่อนช้อย รายละเอียดแสนประณีต เป็นงานศิลปะจากความคิดสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษที่ใครก็ยากจะทำตาม แต่น่าใจหายที่งานศิลป์เหล่านี้นับวันยิ่งขาดแคลนผู้ศึกษา น้อยคนที่อยากจะมาเรียนรู้เพื่อสืบทอดต่อ

          นี่จึงเป็นประเด็นที่จุดประกายให้ เพียงอัมพร ทองยัง หรือ ครูเพียง ตัดสินใจก่อตั้ง ‘Thai Craft Studio’ สถาบันสอนงานหัตถศิลป์ไทย ที่ตั้งใจจะดึงงานช่างฝีมือเก่าแก่ ให้กลับเข้ามาอยู่ในชีวิตคนไทยได้อีกครั้ง

 

          ครูเพียงเล่าถึงจุดเริ่มต้น และที่มาที่ไปของสตูดิโอให้เราฟังว่า หลังจากเรียนจบจากวิทยาลัยเพาะช่าง เธอพบปัญหาของวงการหัตถศิลป์ไทยว่าไม่ใช่คนไทยไม่สนใจมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ แต่พวกเขาไม่รู้จะไปเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งได้จากที่ไหนต่างหาก

          “ที่ผ่านมาคนไทยอาจจะเคยเห็นวัด เห็นพระพุทธรูป เครื่องประดับ การแต่งกาย อะไรที่มันเป็นแบบไทยๆ มาตลอดชีวิต แต่เขาไม่เคยรู้เลยว่ามันคืออะไร มันทำแบบไหน ใครเป็นคนทำมัน แล้วเขาจะทำมันได้ยังไง จะไปทำมันที่ไหน เขาจะไม่รู้ เราก็เลยอยากจะเป็นที่คนพางานพวกนี้เข้าไปให้เขารู้จักมากขึ้น ให้เขารู้ว่าทุกคนสามารถทำได้ เรียนรู้ได้ ก็เลยก่อตั้งที่นี่ขึ้นมา” เธอกล่าว

[แหล่งรวมคราฟต์ไทยหลากรูปแบบ]

 

          ไทย คราฟต์ สตูดิโอ เปิดสอนคลาสงานหัตถศิลป์ไทย ที่ส่วนใหญ่จัดอยู่ในหมวดของช่างสิบหมู่ แม้จะเป็นเพียงบทเรียนระยะสั้น แต่ครูเพียงกลับยืนยันว่าจะไม่มีใครไม่รู้สึกภูมิใจกับชิ้นงานที่ได้

          อย่างวันนี้เป็นคลาสงานปิ่นทอง ก็จะเป็นการประดับลวดลาย ปิดทอง ลงยา ประดับพลอย ที่ต้องใช้ความปราณีตชนิดหนึ่ง คลาสอื่นๆ ก็จะเป็นงานโบราณ เช่น งานลายรดน้ำ งานปักผ้าด้วยดิ้นทอง งานหัวโขน หุ่นกระบอก งานที่ดูเหมือนเป็นงานยากๆ เราจะพยายามตัดทอนความยากทุกอย่างออก แล้วก็เพิ่มเติมความง่าย เพิ่มเติมเทคนิค และรูปแบบใหม่ๆ เข้าไป ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และทำมันได้ภายใน 1 วัน แต่ถึงอย่างนั้น เราก็ยังไม่ลืมที่จะคงความละเอียด ความประณีตของงานไว้ เพราะเราจะไม่ให้เวลามันกลายมาเป็นประเด็นสำคัญ ในการตัดทอนความงดงามออก”

          “ต่อให้เป็นงานที่ทำแค่หนึ่งวัน มันก็จะต้องเป็นงานที่ดี มีคุณค่า ทุกคนกลับไปจะต้องภูมิใจในงานของตัวเอง”

          ปัญหาใหญ่ๆ ของงานหัตถศิลป์โบราณคือ การเตรียมวัสดุต่างๆ เช่น ยางรัก ที่ได้มาแล้วต้องนำไปเคี่ยว ก่อนจะนำไปผสมสมุก แล้วถึงนำมาใช้ ไทย คราฟต์ สตูดิโอจึงตัดสินใจเตรียมวัสดุเหล่านั้นไว้ก่อน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้มันได้ทันที

          “คือสมัยนี้ทุกคนเขาใช้ชีวิตอยู่กับความเร็ว วันปกติก็ทำงาน พอวันเสาร์อาทิตย์มาเรียน ทุกคนก็ยังรีบ สิ่งที่เราทำได้ก็คือปรับหลักสูตรให้มันเข้ากับวิถีชีวิตของเขาให้มากที่สุด ต่อให้มีเวลาแค่นี้ ก็ขอให้เขาได้ลองหลวมตัวเข้ามาเถอะ มาอยู่ในโลกของงานหัตถศิลป์ไทย ได้ลองทำของที่เขาเคยแต่มองที่อื่น เคยคิดว่า เฮ้ย สวยจัง อยากได้ อยากลองทำ ต้องทำยังไง พอเขาได้นั่งทำ ได้เรียนรู้มัน เขาก็จะเริ่มรู้จัก แล้วก็อาจจะรักมันมากขึ้น คือเราหวังไว้แบบนั้นนะ”

[กระจายความรู้ออกไปให้กว้างที่สุด]

 

          ช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ที่อากาศร้อนจัด ในขณะที่ลูกศิษย์คนอื่นๆ ของเธอกำลังลงสีปิ่นทองกันอย่างขะมักเขม้น ครูเพียงเล่าถึงเป้าหมายหลักๆ ของไทย คราฟต์ สตูดิโอ ว่าสถาบันนี้ต้องการจะกระจายองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ออกไปให้กว้างที่สุด เธอบอกว่าที่ผ่านมางานช่างไทยถูกมองเป็นของสูง ครูช่างที่มีทักษะก็ได้รับการยกย่องให้เกียรติเป็นอย่างมาก ศาสตร์ที่ถูกเทินว่าลึกซึ้งล้ำค่า จึงถูกส่งผ่านในวงการที่แคบ ผลสุดท้ายกลุ่มคนที่มีทักษะจึงกลายเป็นร่อยหรอ

          “ศาสตร์พวกนี้มันเป็นศาสตร์เก่าแก่ เป็นศาสตร์ที่คนไทย หรือว่าครูช่างโบราณเองมีส่วนทำให้เรารู้สึกว่ามันจับต้องยาก จะต้องเป็นลูกเป็นหลานเท่านั้น จะต้องเป็นทายาทเท่านั้น จะต้องดั้นด้นมาเรียนมาเท่านั้น ถึงจะรู้ได้ ตรงนี้มันทำให้คนหลายๆ คนเริ่มเพิกเฉย แล้วก็ลืมมันไป เพราะเขารู้สึกว่า ฉันก็คงไม่ใช่คนที่จะสืบทอดมัน ขอดูเฉยๆ แล้วกัน คือเราถูกปลูกฝังมาแบบนั้น”

          ครูเพียงเล่าว่าถ้าอยากจะให้งานคราฟต์ไทยสามารถไปได้ต่อ วิธีการที่เธอเลือกจะทำจึงเป็นการกระจายองค์ความรู้เหล่านี้ออกไปให้กว้างที่สุด ทำให้ทุกคนรู้จัก ทำให้มันกลายเป็นสิ่งธรรมดา

          “เรามองว่าความมั่นคงในจุดยืนมันสำคัญ อย่างญี่ปุ่น เขามีการย้อมผ้าที่ชื่อ ชิโบริ ใช่ไหม ที่มันอยู่มาได้ขนาดนี้เพราะเขาไม่เคยทำให้มันหายไป เขาย้อมมาใช้ไม่ใช่มาเก็บ ทำกันเป็นชีวิตประจำวัน ถ้าเราจะทำอย่างนั้น ก็ต้องมาปรับความคิดกันก่อน คือถามว่าที่เราสอนนี่หวังให้ทุกคนเอาไปทำเป็นอาชีพเลยไหม ก็ไม่ แต่แค่อยากให้มีสักคนที่รู้ ทำเป็นแล้วสามารถสอนคนอื่นได้ต่อ แต่ถึงทุกคนจะทำได้หมด เราก็รู้สึกว่า ยิ่งทุกคนเก่ง ยิ่งทุกคนมีงาน ทุกคนมีอาชีพ มันจะต้องยิ่งดีขึ้นสิ ถ้าเราขายคนไทยกันเองไม่ได้แล้ว ทุกคนทำปิ่นหมด ช่างมัน ไปขายเมืองนอก ส่งออกไป ให้มันเป็นโรงงานทำปิ่นไปเลย ขายให้มันแพร่หลาย เอาให้มันเป็น OTOP ประเทศไปเลยก็ได้คือถ้าจะคิดอย่างนั้น”

[ตีความคำว่า ‘อนุรักษ์’ เสียใหม่]

 

          โจทย์สำคัญของวงการหัตถศิลป์ไทยในตอนนี้คือการไร้ผู้สืบสาน ครูเพียงเล่าว่าถ้าจะแก้ปัญหากันตอนนี้ เราอาจจะต้องปรับมุมมอง และตีความคำว่า ‘อนุรักษ์’ กันเสียใหม่

          “บางคนความตั้งใจของเขาก็แค่ ฉันต้องการแค่ปิ่นกับตุ้มหูคู่นี้ เพื่อที่จะเอาไปใส่ หรือเป็นของขวัญ บางคนมาบอกเราว่า พี่คะ หนูจะแต่งงานแล้ว หนูจะเอาไปใส่วันแต่ง ความต้องการเขามีแค่นั้น ถ้าเกิดเราไปมองว่า ถ้าทุกคนทำเป็นหมด แล้วเราจะไปทำอะไร อาชีพช่างฝีมือจะถูกแย่ง อย่างนั้นมันก็เหมือนเดิมเลย เข้าไปอยู่อีหรอบเดิมไม่แตกต่าง”

ความหวงแหนในมรดกวัฒนธรรมเก่าแก่ อาจไม่ใช่แค่การเก็บรักษามันไว้เฉยๆ

          “เราเคยโดนตำหนิเรื่องสอนชาวต่างชาติด้วย เขาบอกว่านี่มันงานไทย ถ้าทำอย่างนี้ลูกหลานเราจะทำอะไรต่อ คือเรามองว่า งานหัตถศิลป์ไทยก็คือศิลปะชนิดหนึ่ง คนที่เขามาหาเราเขาก็แค่มีใจรัก แล้วก็มีสิทธิ์ที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าเขาเรียนแล้วไปเล่าให้คนอื่นเขาฟังว่า ฉันไปเรียนอันนี้มาจากประเทศไทยนะ มันก็โอเคออกไม่ใช่เหรอ”

[“คนไทยมีความลิเกในใจกันทุกคน”]

 

          “จริงๆ แล้วคนไทยทุกคนมีความลิเกอยู่ในหัวใจนะ นี่คือสิ่งที่เรารู้สึก มันเป็นความน่ารักเล็กๆ ที่เราจะแอบชอบของวิบวับ ของทองๆ มีลายกนกแบบไทยๆ อะไรพวกนี้ แต่แค่เราไม่แสดงออก เราจะต้องรอฤกษ์งามยามดีมาถึง อ้าว ไปเที่ยวงานอุ่นไอรักกัน หรือว่า ละครมา ออเจ้ากันเต็มเมือง เราถึงจะลุกฮือกันขึ้นมาแต่งตัวเวอร์วังกันโดยที่ไม่ขัดเขิน”

          ครูเพียงเล่าว่าถึงแม้คนส่วนใหญ่จะรักและหวงแหนมันอยู่ลึกๆ แต่ความนิยมในคนรุ่นใหม่ ที่จะมาศึกษาด้านนี้ก็ยังน้อยจนน่าเป็นห่วง กรณีนี้จะส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กร และสถาบันที่เปิดสอน เธอจึงตั้งใจที่จะใช้สถาบันเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสารให้คนเข้าใจว่า เรียนจบด้านนี้แล้วจะไปทำอะไรต่อ

          “น้องๆ หลายคนที่จบมา ก็มาทำงานที่นี่ ซึ่งมันก็จะช่วยให้เขาได้ฝึกฝน สิ่งที่เขาเพิ่งจะเรียนจบมา ได้ปั้น ได้เขียน ได้ปักผ้า ปิดทอง สั่งสมความแข็งแรงไปเรื่อยๆ วันนึงเค้าก็จะกลายเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ ที่จะออกไปกระจายความรู้ให้กับคนอื่นได้ต่อ ถึงเราจะไม่ใช่องค์กรใหญ่โต แต่เราจะเป็นอีกตัวอย่างเลยที่พิสูจน์ว่าจบมามันมีอาชีพ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ” ครูเพียงกล่าว

          นอกจากจะมีสถาบันที่สอนงานหัตถศิลป์ไทยในกรุงเทพแล้ว ครูเพียงยังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อส่งต่อความรู้ไปสู่คนที่สนใจในพื้นที่ห่างไกลได้

          “มันเป็นโครงการระบบการเรียนรู้ทางไกล ที่ทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาหาความรู้ในคลังปัญญาได้ ก็สามารถจะเข้าไปใช้ข้อมูล แล้วก็ใช้ภาพโดยไม่โดนลิขสิทธิ์ ครูเพียงเองก็ใส่เนื้อหาทุกอย่างไว้ในนั้น ไม่ว่าจะเป็นคลาสลายรดน้ำ คลาสการทำแม่พิมพ์หล่อ หรืองานเสวนาต่างๆ ที่เราจัด เพื่อให้คนที่อยู่ทางไกล หรือมีทุนทรัพย์น้อย แต่อยากจะเรียนรู้พื้นฐาน สามารถที่จะเข้าไปเปิดดูแล้วก็หยิบมาใช้ได้”

[หันมาทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องธรรมชาติ]

 

          ครูเพียงกล่าวว่า เหตุผลที่งานคราฟต์ไทยยังดูห่างไกลจากชีวิตปกติ เพราะเรามักมองมันจากมุมเดิมๆ ด้านเดิมๆ ทางออกของปัญหานี้จึงเป็นการทำให้มันกลายเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสีย

          “สิ่งที่เราทำก็คือการเอามันมานำเสนอในรูปแบบใหม่ๆ แล้วเชื้อเชิญให้มันใกล้ตัวเขามากขึ้น ทำให้เขาเข้าถึงมันได้ง่ายขึ้น คือทำทุกอย่างให้มันเหมาะ ให้มันเข้ากับยุคสมัย เราโดนบอกตลอดเลยว่านี่ศิลปะไทย ศิลปะโบราณ ศิลปะของสูง ของต่ำ ห้ามนู่นห้ามนี่ เราพยายามจะละลายมันออก ทำให้มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ทำยังไงก็ได้ให้มันอยู่ด้วยกันได้ แบบสันติสุข ไม่ต้องโบราณจ๋า ไม่ต้องยากมาก แต่มันอยู่ได้ ไม่ต้องบังคับกัน”

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

จุลดิศ อ่อนละมุน

ช่างภาพ

Categories: