“นวยนาด” แบรนด์สกินแคร์กลิ่นอายอีสาน

          “เวลาคนนึกถึงภาคอีสาน เขาก็จะคิดถึงแต่ความแห้งแล้ง อดอยาก ยากจน ดินแตกระแหงอะไรอย่างนี้ เราเลยอยากจะเปลี่ยนภาพจำพวกนั้น อยากให้คนรู้จักอีสานในแบบที่เราอยู่ ที่มันเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ มีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง”

          นี่คือคำพูดของ ‘ว่าน’ ปกาสิต เนตรนคร ชายหนุ่มชาวกรุงเทพฯ ผู้อิ่มตัวกับชีวิตเมืองหลวง และตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่จ.นครราชสีมา เขา และคนรัก ‘ปุ้ม’ นันท์พัทธ์ พูลสวัสดิ์ คือผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘นวยนาด’ (n u a y n a r d) สกินแคร์กลิ่นอายอีสานที่เป็นที่รู้จักอยู่ในแวดวงคนรักสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นสกินแคร์จากวัตถุดิบธรรมชาติ ไร้สารปรุงแต่งร้อยเปอร์เซ็นต์ 

          ว่านเล่าถึงจุดเริ่มต้นของแบรนด์ว่า นวยนาดเริ่มต้นจากการงานอดิเรกของปุ้ม ที่ชอบทำสบู่ไว้ใช้เองเป็นงานอดิเรก หลังจากแบ่งให้คนในบ้านและเพื่อนฝูงใช้ ก็ปรากฎว่ารุ่นน้องที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังรุนแรง สามารถใช้ได้โดยไม่มีปัญหา นั่นจึงเป็นที่มาของแบรนด์สกินแคร์จากธรรมชาติ ที่ใครก็ใช้ได้ ต่อให้มีสภาพผิวแบบไหนก็ตาม

          ชื่อ ‘นวยนาด’ มาจากลักษณะนิสัยของเขาที่ชอบทำอะไรเอื่อยๆ ช้าๆ ไม่เร่งรีบ ว่านบอกว่ามันคือคำที่พูดแล้วเห็นภาพชัด และเหมาะกับพวกเขาสองคนที่สุด

[สกินแคร์แห่งอีสาน]

 

          เอกลักษณ์ของแบรนด์นวยนาดยิ่งเด่นชัดขึ้น หลังจากพวกเขาย้ายมาอยู่ที่จ.นครราชสีมา จากที่มีเพียงสบู่ธรรมดา ก็เริ่มปรับปรุงเป็นสบู่คราม สบู่ใบย่านาง พวกเขาดึงเอาวัตถุดิบที่ได้จากพื้นที่ภาคอีสานเข้ามาผสมผสานกับสินค้า จนออกมาเป็นสกินแคร์หน้าตาหลากหลายไม่ว่าจะเป็น ผลิตพันธุ์บำรุงผิว คลีนซิ่งออยล์ สบู่เหลว หรือแม้แต่ลิปบาล์ม 

          “เรื่องวัตถุดิบเราเริ่มหาจากพื้นที่ที่เราอยู่ ซึ่งก็คือหมู่บ้านซับศรีจันทร์ อ.สีคิ้ว จ.โคราช อย่างใบย่านาง เหล้าอุหมักข้าวกล้อง หรือไวน์หมักเหม้า มันเป็นของที่อยู่ในชีวิตคนอีสานอยู่แล้ว ครามอินทรีย์ คนสมัยก่อนเขาก็ใช้นึ่งไอน้ำ มาประคบผิวบรรเทาอาการแสบร้อนจากแดด พอเอามาใช้กับสบู่ เขาก็มีคุณสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบได้ พวกนี้มันเป็นภูมิปัญญา เป็นของที่เรารู้สึกว่าคนสมัยก่อนเขาคิดค้นกันไว้อย่างดีแล้ว เราแค่ไปหยิบมันมาใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์แค่นั้นเอง” ปุ้มกล่าว

          และอาจจะถือเป็นการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสก็ว่าได้ เพราะเหมู่บ้านซับศรีจันทร์ แม้จะอยู่หลังเขื่อนลำตะคอง ก็ยังมีปัญหาเรื่องน้ำประปา ทำให้ชาวบ้านที่นี่ต้องรองน้ำฝน และน้ำซับธรรมชาติ (ตาน้ำที่ผุดขึ้นมาจากดิน) ไว้ใช้ ผลิตภัณฑ์จากนวยนาดจึงเป็นสกินแคร์ที่ผลิตจากแหล่งน้ำธรรมชาติ 100% ในแบบที่เรียกได้ว่าใช้ทั้งน้ำจากฟ้า และจากดินในการผลิตจริงๆ

[พา ‘น้ำอบไทย’ ให้กลับมาร่วมสมัยอีกครั้ง]

 

          นอกจากนี้นวยนาดยังมีสินค้าที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ คือ คอลเล็กชัน ชื่อว่า “ชื่นจิตชื่นใจ” ซึ่งเป็นเซ็ตน้ำอบไทยควบสบู่เหลว ที่นับเป็นความแปลกใหม่ไม่เบาในท้องตลาด ณ ช่วงเวลาที่สินค้าเพิ่งปล่อย ทั้งยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลายมาจนถึงตอนนี้

          “ตัวน้ำอบ เราได้สูตรมาจากทางแม่ของว่าน ที่เคยเป็นครูคหกรรม เขาก็จะมีสูตรทำน้ำอบเป็นตำราเก่าที่เราเปิดอ่านแล้วสนใจ พอลองๆ ทำดู และศึกษาจากที่อื่นเพิ่ม มันก็เกิดคำถามขึ้นมาว่า น้ำอบมันจะเป็นกลิ่นอื่นได้ไหม มันทำไมต้องมีแค่กลิ่นแบบนี้เขาถึงจะเรียกว่าน้ำอบ สุดท้ายเลยลองผสมอย่างอื่นเข้าไป ได้เป็น 2 กลิ่นชื่อ ชื่นจิต กับ ชื่นใจ ที่ตอนหลังเราทำเป็นเซ็ตร่วมกับสบู่เหลวไว้ใช้คู่กัน” 

          ปุ้มอธิบายว่าที่เป็นน้ำอบเพราะเธอเป็นคนไม่ชอบกลิ่นแรงๆ หรือกลิ่นแอลกอฮอล์ของน้ำหอม และคิดว่าต้องมีคนแบบเดียวกันอยู่อีกมาก น้ำอบ ที่จริงก็คือน้ำหอมที่คนไทยโบราณนิยมใช้ ดังนั้น แม้จะไม่ติดทนยาวนานเหมือนน้ำหอม แต่ก็มีหลักการใช้งานที่ไม่แตกต่างกัน

          “ความท้าทายของเรามันอยู่ตรงที่ หน้าที่ของน้ำอบสมัยนี้มันไปอยู่ในวัด ไปใช้ทางศาสนามากกว่าจะใช้กันเองแล้ว ที่เราทำอยู่ก็ไม่ได้จะหวังให้มันกลับมาเป็นเทรนด์ แต่เรามองไปที่แง่ของการสืบทอดมากกว่า เราอยากทำ เพราะอยากส่งต่อ มันเป็นศาสตร์ที่เราอยากเรียนรู้เพื่อส่งไปให้คนอีกรุ่น ว่ามันมีของแบบนี้อยู่ มันไม่ต้องถึงขนาดใส่สไบใช้ ไม่ต้องไทยมากก็ใช้ได้” ปุ้มกล่าว

[นำเสนอ ‘อีสาน’ ในแบบของนวยนาด]

 

          ถัดจากเรื่องของวัตถุดิบ นวยนาด ก็ไม่ละเลยในเรื่องของหน้าตาผลิตภัณฑ์ พวกเขาใช้ทั้งไม้ไผ่สาน จากฝีมือช่างสานในจ.นครพนม ทำเป็นกระติ๊บเล็กๆ สำหรับบรรจุผลิตภัณฑ์ ที่นำไปใช้งานได้ต่อ ด้ายที่ใช้มัดก็ทำด้วยฝ้ายย้อมธรรมชาติจากอ.ปากช่อง พวกเขาค่อยๆ ปะติดปะต่อและนำเสนอความเป็น อีสาน ให้กลายเป็นสินค้าของนวยนาด

          ปุ้มเล่าว่า หลังจากสินค้าสกินแคร์เริ่มไปได้ดี พวกเขาก็เริ่มคิดอยากจะออกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ “พอหมดจากสกินแคร์ เราก็มาดูว่าในพื้นที่ของเราจะทำอะไรได้อีก อย่างเรามีช่างหิน เรามีดินด่านเกวียน แล้วเราจะทำอะไรให้มันออกมาในแบบนวยนาดได้บ้าง” 

          นี่จึงเป็นที่มาของสินค้าตัวใหม่ที่เพิ่งปล่อยในปีนี้ของนวยนาด “อโรม่า แซนด์ สโตน” เทียนหอมที่มีภาชนะทำจากดินด่านเกวียน และมีฝาปิดทำจากหินทราย ที่มีคุณสมบัติเหมือนก้านหอมกระจายกลิ่น เมื่อใช้เทียนหมดแล้วสามารถนำน้ำมันหอมระเหยมาหยดใช้งานได้ต่อ โดยไม่กลายเป็นขยะเหลือทิ้ง

          “อย่างที่บอกไปว่าคอนเส็ปของนวยนาด มันมาจากทุกอย่างในพื้นที่ๆ เราอยู่ พอเรามาอยู่แล้ว เราก็อยากสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้คนที่นี่ด้วย อย่าง ช่างหิน เมื่อก่อนเขาทำแต่องค์พระ ลูกนิมิตรอะไรพวกนี้ คือเราอยากสร้างมิติใหม่ๆ ให้วัสดุมากขึ้น การทำหินมันคือการแกะออก ไม่ใช่สร้างใหม่ ช่างที่ทำเขาต้องมีทักษะสูงอยู่แล้ว เราเลยอยากเป็นหนึ่งในคนที่เห็นคุณค่างานของเขา โดยการทำให้เขาเห็นว่าทักษะนี้มันยังทำอะไรอีกได้บ้าง” ปุ้มกล่าว

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: