HUH.WHATDOYOUSAY แปลงขยะไร้ค่า ให้กลับมาเจิดจ้าอีกครั้ง

กระแสการผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิล ดูเหมือนจะกลายเป็นเงื่อนไขใหม่ในการสร้างแบรนด์ให้น่าสนใจในยุคสมัยนี้ สาเหตุก็มาจากปัญหาขยะล้นโลก ที่ไม่ว่าจะหาวิธีกำจัดอย่างไรก็ไม่มีวันหมด เพราะขยะใหม่ก็ยังคงถูกสร้างออกมาเรื่อยๆ นั่นจึงทำให้ทางออกอย่างการรีไซเคิล หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ ดูเหมือนจะเป็นวิธีการที่น่าสนใจ เพราะช่วยลดปริมาณของขยะจำนวนมหาศาลที่อาจต้องใช้เวลาที่หลายร้อยปีกว่าจะย่อยสลายหมด

วงการแฟชั่นเองก็เริ่มมีหลายแบรนด์ที่นำแนวคิดการรีไซเคิลมาปรับใช้ในการผลิตสินค้า หนึ่งในแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จอย่างเห็นได้ชัด คงหนีไม่พ้น ‘FREITAG’ เจ้าของไอเดียการนำผ้าใบคลุมรถบรรทุกมาเป็นวัสดุในการผลิตกระเป๋า ที่นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้ว กระเป๋าที่ออกมายังทั้งแข็งแรง ทนทาน แถมยังกันน้ำได้อีก ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ทั้งด้านแนวคิด และคุณภาพ จนกลายเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ รองลงมาจากนาฬิกา และมีดพับ

ประเทศไทยเราเองก็ไม่น้อยหน้า เพราะไม่ว่าจะแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ ก็เริ่มหันมาออกผลิตภัณฑ์แนว Eco-friendly ป้อนสู่ตลาดให้ผู้บริโภคเลือกสรรกันเต็มไปหมด หลากหลายทั้งรูปแบบสินค้า และวัสดุที่เลือกมาใช้ อย่างแบรนด์ชื่อแปลกหูอย่าง ‘HUH.WHATDOYOUSAY’ ก็ถึงกับไปรวบรวมเอาสิ่งที่ถูกมองเป็นขยะ อย่างของเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม มาเป็นวัสดุสำหรับสร้างสรรค์สินค้าแฟชั่น

ไอเดียนี้เป็นของ ‘จอร์จ’ นภัทร แสนศิริพันธุ์ เจ้าของแบรนด์ผู้ได้มีโอกาสได้เข้าไปคลุกคลี และเห็นขั้นตอนการทำงานของโรงงาน โกดัง และโรงสีข้าวในเชียงใหม่ เขาสังเกตเห็นว่าในทุกๆ โรงงานมักจะมีวัสดุเหลือใช้แตกต่างกันออกไป จึงเกิดไอเดียที่จะนำของเหล่านั้นมาทำเป็นสินค้า

โดยคัดเอาวัสดุอย่าง กระสอบข้าวส่งออก ถุงพลาสติกจากโรงเพาะชำ สายพานจากโรงสีข้าว ถุงกระดาษที่ใช้บรรจุผงปูน ผงปุ๋ย หรือสารอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องถูกทิ้งหลังจากที่หมดหน้าที่ในการใช้งาน มาออกแบบสร้างสรรค์เป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีวัสดุอย่าง ‘กระสอบผ้าที่ใช้สำหรับใส่หินสีข้าว’ ที่นภัทรนำมาเป็นวัสดุออกแบบคอลเล็กชันเครื่องแต่งกาย โดยหลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘หิน’ ที่เรานำมาสีจากข้าวเปลือกจนกลายเป็นข้าวสาร ในประเทศไทยมีปริมาณอยู่น้อยมาก

โรงสีที่เขาพบเจอเองก็ต้องสั่งซื้อเข้ามาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเวลาขนส่งมาที่ไทย หินก็จะถูกบรรจุอยู่ในกระสอบผ้าสีครีมเหล่านี้ และเมื่อสุดท้ายมันหมดประโยชน์ แทนที่จะต้องถูกขายไปเป็นผ้าขี้ริ้ว เขาก็นำมันมาเปลี่ยนเป็นสินค้าแฟชั่นอย่างที่เขาชอบแทน

นภัทรเล่าว่า เขาเองก็ไม่ได้เคลมตัวเองว่าเป็นแบรนด์รีไซเคิลขนาดนั้น เพราะวัสดุบางอย่างที่ใช้ในการผลิตมันก็มีบ้างที่ต้องสั่งทำ เพราะถ้าใช้งานแต่วัสดุรีไซเคิล สินค้าที่ได้ก็จะไม่ทนทาน แต่ถึงอย่างนั้น การทำให้ขยะจากภาคอุตสาหกรรมที่ถูกมองว่าไร้ประโยชน์ กลับมามีคุณค่าด้านการใช้งานอีกครั้ง ก็นับว่ามีส่วนช่วยในการช่วยลดปริมาณขยะ และใช้ทรัพยากรของโลกอย่างคุ้มค่าอยู่เช่นกัน

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: Craftmanship , TALKS