ถ้าคุณเคยได้มีโอกาสไปเที่ยว เมืองฮาโกเนะ แหล่งออนเซ็นที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น ก็น่าจะเคยเห็นของฝากที่ทำจากไม้สีสันแปลกตากันมาบ้าง ลวดลายละเอียดประณีตที่อยู่บนข้าวของเหล่านี้ ไม่ได้เกิดจากการลงสีไปบนแผ่นไม้ แต่มาจากการนำไม้ต่างชนิดมาเรียงต่อกันเพื่อให้เกิดแพทเทิร์น นี่คือเทคนิคงานไม้ที่ชื่อ “โยเซกิ ไซกุ”
[วัตถุดิบมากมาย จุดขายเด่นชัด]
โยเซกิ ไซกุ เป็นงานหัตถกรรมไม้เก่าแก่ที่อยู่คู่กับเมืองฮาโกเนะมานานกว่า 150 ปี ด้วยพื้นที่ของ เมืองฮาโกเนะ ที่ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขา จึงทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การตั้งรกรากมาตั้งแต่สมัยเอโดะ
ช่วงศตวรรษที่ 19 ช่างฝีมือคนหนึ่ง ชื่อ นิเฮอิ อิชิกาวะ (1790-1850) พบว่า พื้นที่เมืองฮาโกเนะ ซึ่งเป็นทางผ่านของเมืองใหญ่อย่างโตเกียว และโอซาก้า นอกจากจะเป็นแหล่งแช่ออนเซ็นที่มีชื่อเสียง ยังอุดมไปด้วยวัตถุดิบไม้ชั้นดีอีกด้วย เขาจึงเริ่มคิดค้นหาวิธีนำไม้เหล่านี้มาสร้างงานศิลปะชนิดใหม่ ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วในญี่ปุ่น
เขาเริ่มจากการนำไม้ชนิดต่างๆ มาตัดเป็นแผ่นบาง ก่อนจะเรียงต่อกันเป็นลวดลาย คล้ายงานศิลปะแบบโมเสก แล้วจึงแปะลงบนกล่อง หรือสิ่งของ เพื่อขายเป็นของที่ระลึกแก่ผู้ที่มาเยือนฮาโกเนะ
ด้วยลวดลายเรขาคณิตแปลกตา เมื่อมาอยู่บนสิ่งของที่เคยหน้าตาเรียบๆ ก็กลายเป็นผลงานที่น่าดึงดูด ไม่แปลกอะไร ที่ธุรกิจของเขาจะไปได้ดีจนกระตุ้นให้ชาวบ้านคนอื่นเริ่มหันมาผลิตของที่ระลึกขายตามบ้าง ในที่สุดโยเซกิไซกุก็ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของงานไม้ประจำเมืองฮาโกเนะในภายหลัง
[การพัฒนาเทคนิค]
ด้วยเอกลักษณ์ของพื้นที่ ซึ่งสามารถมองหาไม้ได้หลากหลายชนิด ภายหลังช่างฝีมือจึงสามารถพัฒนารูปแบบและลวดลายให้มีความละเอียดซับซ้อนมากขึ้นไปอีก
เทคนิคงานโยเซกิ ไซกุ ถูกพัฒนามาเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1984 ก็มีการจำแนกประเภทของงานฝีมือชนิดนี้ ไว้เป็น 2 แบบ ได้แก่
- ฮิกิโมโนะ (Hiki-mono) หรือ การนำชิ้นส่วนของไม้ มาต่อเรียงเป็นแพทเทิร์น ก่อนจะใช้กาวทายึดไว้ไม่ให้หลุด ส่วนใหญ่งานไม้ประเภทนี้ จะใช้ทำสิ่งของที่มีฟังก์ชันไม่ซับซ้อนอย่าง จาน ถาดไม้ หรือโต๊ะไม้แบนๆ มากกว่าของชิ้นเล็กที่มีรายละเอียดยิบย่อย
- ซาชิโมโนะ (Sashi-mono) เทคนิคที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในภายหลัง เป็นการเหลา ‘แท่งไม้’ ให้ได้รูปทรงที่ต้องการ ก่อนจะนำมาทากาวประกอบติดกันไว้ จนมองเห็นเป็นลวดลายจากด้านบน จากนั้นจึงใช้อุปกรณ์ไสไม้ ค่อยๆ ไสจนได้ออกมาเป็นแผ่น แล้วถึงค่อยนำไปแปะตกแต่งลงบนชิ้นงาน
[ศาสตร์งานไม้ ที่ไม่ตายจากท้องถิ่น]
ปัจจุบัน ซาชิโมโนะ กลายเป็นเทคนิคการผลิตโยเซกิ ไซกุ ที่นิยมทำกันมากที่สุด เพราะใช้ไม้ปริมาณน้อย จึงผลิตได้ตั้งแต่ของที่ระลึก อย่างกล่องใส่ของเล็กๆ ไปจนถึงตู้ลิ้นชักขนาดใหญ่
นอกจากนี้ ในทุกๆ ปี เมืองฮาโกเนะจะถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับมหาวิทยาลัย โดยถ้วยรางวัลสำหรับผู้ชนะในงานก็เป็นงานไม้โยเซกิ ไซกุ ที่จะมีหน้าตาเปลี่ยนไปทุกๆ ปี ตามแต่ชนิดของไม้ที่หาได้ในช่วงนั้นอีกด้วย
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้โยเซกิ ไซกุ ยากจะลอกเลียนแบบ เพราะแต่ละชิ้นมีหน้าตาที่คล้าย แต่ก็ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแง่ของสัมผัส สีสัน และลวดลาย จึงแทบจะเรียกได้ว่ามีชิ้นเดียวในโลก
แถมกว่าจะผลิตออกมาได้แต่ละแพทเทิร์น ยังต้องใช้เวลาหลายวัน ไปจนถึงหลายอาทิตย์ ดังนั้นต่อให้เป็นจานรองแก้ว หรือที่คั่นหนังสือเล็กๆ ที่คุณอาจจะเผลอซื้อติดมือมาจากร้านขายของฝาก ก็ยังมั่นใจได้ว่าเป็นงานฝีมือที่ได้รับความใส่ใจ และมีคุณค่าไม่แตกต่างจากงานหัตถกรรมไม้ชนิดอื่นๆ
ที่มา
http://www.jtco.or.jp/en/japanese-crafts/…
https://wol.jw.org/th/wol/d/r113/lp-si/102001327
https://japan-brand.jnto.go.jp/crafts/woodcraft/55/
https://en.wikipedia.org/wiki/Puzzle_box
http://japanstore.jp/…/japanese-crafts-hakone-yosegi-zaiku…/