อิทธิพลจาก Freitag ‘ฟรายถาก’ กับเทรนด์ Upcycle ของแบรนด์ไทย

ย้อนเวลากลับไป 10 ปีที่แล้ว หากพูดชื่อแบรนด์ Freitag ฟรายถาก คงมีแต่กลุ่มนักสะสมเท่านั้นที่รู้จัก

แต่ปัจจุบัน คุณจะเห็นคนสะพายกระเป๋า Freitag แทบทุกที่ เห็นการพูดถึงแบรนด์ Freitag มากขึ้น (รวมถึงบทความนี้) และที่สำคัญที่สุดแบรนด์ไทยมากมายได้รับแรงบันดาลใจ และอิทธิพลจาก Freitag ในแง่มุมที่ต่างกันออกไป

กระเป๋า Freitag รุ่นแรก

 

เรื่องย่อของ Freitag

Freitag ก่อตั้งในปี 1993 โดยสองพี่น้องชาวสวิตเซอร์แลนด์ Markus และ Daniel Freitag ที่ต้องการกระเป๋าที่ทนทาน กันน้ำ และใช้ได้ในทุกกิจกรรม เพื่อจะสะพายกระเป๋านี้ปั่นจักรยานไปได้ทุกที่ พวกเขาจึงนำผ้าใบคลุมรถบรรทุก ยางในของล้อจักรยาน และเข็มขัดนิรภัย มาทดลองประดิษฐ์เป็นกระเป๋าใช้เอง

โดยในช่วงแรก สองพี่น้องผลิตกระเป๋าเองทั้งหมด ทำได้ล็อตละ 10 ใบ ก็ขายให้แค่เพื่อนและคนรู้จัก จนแบรนด์ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสองคนจึงตัดสินใจเปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นแบรนด์ Freitag จนมาถึงปัจจุบัน
ทำจากวัสดุรีไซเคิล และ ไม่มีลายซ้ำกัน น่าจะเป็นคำนิยามของแบรนด์นี้ได้ดีที่สุด

 

Freitag ในประเทศไทย

ในช่วงปี 2011-2012 ร้านมัลติแบรนด์ Pronto ได้เริ่มนำกระเป๋า Freitag มาวางขายในประเทศไทย ซึ่งต้องยอมรับว่าสินค้าของ Freitag ก็ไม่ได้พื้นที่ในร้านเยอะ การโฆษณาในสื่อต่างๆ ก็ไม่ได้ทำ แต่สิ่งที่พวกเขามีเยอะกว่าแบรนด์อื่น ก็คือ เรื่องราว

จากเรื่องราวตรงนั้นเอง ทำให้คนเริ่มรู้จัก Freitag มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋าที่มีลายเดียวเท่านั้นบนโลก แบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุแปลกๆ ที่ไม่เคยได้ยิน หรือแนวคิดในการทำธุรกิจ

เมื่อมีคนที่ไม่รู้จัก Freitag ถามว่านี่คือกระเป๋าอะไร ผู้ใช้ Freitag ก็พร้อมที่จะแชร์เรื่องของแบรนด์ให้ฟังเสมอ

ร้าน Freitag

F-Store กรุงเทพฯ สาขาที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย

ความโด่งดังของ Freitag ในไทยมีมากจน ทำให้ Freitag ตัดสินใจจับมือกับ Pronto เปิดช้อปอย่างเป็นทางการที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ในปี 2016 โดย F-Store ที่กรุงเทพฯ นั้นเป็นช้อปที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอีกด้วย

อิทธิพลของ Freitag ฟรายถาก ที่มีต่อแบรนด์ไทย

งานคราฟต์หรืองานหัตถกรรมของไทยมีมาตั้งแต่โบราณ แต่ในยุคนี้งานคราฟต์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ งานปั้น งานโลหะ งานทอ อีกต่อไป แบรนด์ไทยมากมายกำลังเรียนรู้จากแรงบันดาลใจจากแบรนด์ที่ประสบความสำเร็จทั่วโลก

1.มองหาวัสดุทางเลือก

สิ่งที่ Freitag ทำเรียกว่า Upcycling คือการนำวัสดุที่ถูกใช้แล้ว มาผ่านวิธีการคิดจนได้สินค้าชิ้นใหม่ ซึ่งนอกจากจะได้สินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้น ยังลดทรัพยากรที่ต้องใช้ทำวัสดุใหม่ทั้งหมดอีกด้วย

ปัจจุบันมีแบรนด์ไทยจำนวนไม่น้อยที่เริ่มนำ วัสดุที่คนไม่เห็นค่านำมารีไซเคิล นำมาแปรรูป จนเปลี่ยนเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามากขึ้นได้ วัสดุที่เริ่มมีการนำมาใช้ เช่น ยางรถยนต์ ถุงน้ำยาล้างไต ถุงกระสอบ ใบไม้ เศษผ้าเหลือใช้ พลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น

Craft ‘N’ Roll เชื่อว่ายังมีวัสดุใกล้ตัวอีกมากมาย ที่สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าเจ๋งๆ ได้ เพียงแต่คุณต้องรู้จักวัสดุนั้นให้ดีพอ ใช้เวลาศึกษามัน ทดลองทำครั้งแล้วครั้งเล่า ถึงจะสามารถพัฒนาให้กลายเป็นสินค้าที่ทุกคนอยากได้

2.เล่าเรื่องราวของแบรนด์ให้ชัดเจน

งานคราฟต์เกือบทั้งหมด มีราคาสูงกว่าสินค้าประเภทเดียวกัน ฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์จำเป็นต้องทำ คือ สื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจว่าทำไมพวกเขาถึงควรจ่ายแพงกว่า

Freitag เล่าเรื่องของตัวเองมาตั้งแต่เริ่มต้นทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการแสวงหาวัตถุดิบ ขั้นตอนการทำงาน ทุกเรื่องราวที่เกี่ยวกับแบรนด์ถูกบันทึกลงในเว็บไซต์ โดยจะมีผู้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่สองพี่น้อง Freitag จนไปถึงพนักงานในแต่ละแผนก

ปัจจุบันแบรนด์ไทยที่ประสบความสำเร็จทั้งในเรื่องของยอดขาย และการรับรู้ของผู้บริโภคต่างก็มีการเล่าเรื่องผ่านเว็บไซต์ ฉะนั้นถึงแม้ว่าคุณจะใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางหลัก แต่ก็อย่าลืมที่จะทำเว็บไซต์ให้น่าเชื่อถือ เพราะในวันหนึ่งที่คนอยากรู้จักแบรนด์ของคุณมากขึ้น เว็บไซต์เป็นแพล็ตฟอร์มที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีกว่า

 Rubber Killer แบรนด์ที่เปลี่ยนยางในล้อรถยนต์ให้กลายเป็นกระเป๋าสุดเท่

 

แม่ฑีตา แบรนด์ผ้าย้อมคราม ที่เล่าเรื่องผ่านเว็บไซต์ของตัวเองทุกขั้นตอน

 

ภาพ : Freitag

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight