อพท. ร่วมกับ The People จัดงานอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนข่าวเพื่อสร้างประสิทธิผลด้านการสื่อสาร” เพื่อส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารและการประชาสัมพันธ์แก่บุคลากรนักการสื่อสารของ อพท. ณ โรงแรมเดอะควอเตอร์ ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้ข่าวสารมีรูปแบบการเคลื่อนไหวที่เร็วขึ้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เล็งเห็นว่า การส่งเสริมทักษะด้านการสื่อสารแก่นักประชาสัมพันธ์ในองค์กรจะสามารถทำให้การเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ของ อพท. มีประสิทธิภาพตรงกับกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสร้างประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรและผู้รับสารในประเทศได้ จึงเป็นที่มาของโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนข่าวเพื่อสร้างประสิทธิผลด้านการสื่อสาร” โดยร่วมมือกับ The People ในการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ระหว่างวันที่ 12-13 ธันวาคม ปี 2562
“ตามที่รัฐบาลต้องการให้ทุกหน่วยงานสามารถดำเนินการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจในผลการดำเนินงานแก่ประชาชนทั่วไป งานประชาสัมพันธ์จึงมีบทบาทสำคัญ เพราะเป็นงานที่จะสื่อสารผลการปฏิบัติงานของ อพท. ให้เกิดการรับรู้แก่ประชาชนในวงกว้าง ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ เหล่านักสื่อสารขององค์กรจะมีความเข้าใจและรู้เท่าทันต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาด้านการสื่อสาร เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรต่อไป” ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการ อพท. กล่าว
โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การเขียนข่าวเพื่อสร้างประสิทธิผลด้านการสื่อสาร” แบ่งหัวข้อการบรรยายออกเป็น 4 หัวข้อ ได้แก่
หัวข้อที่ 1 เขียนข่าวอย่างไรให้ได้เผยแพร่ (How to Write an Article to be Published) เป็นการพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ โดย อัญญาพร ธรรมติกานนท์ และ จักรพงษ์ คงมาลัย ในประเด็นที่ว่าอาชีพนักการประชาสัมพันธ์ต้องปรับตัวอย่างไร ในวันที่สื่อเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม หัวข้อดังกล่าวมี อนันต์ ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการบริหาร The People เป็นผู้ดำเนินรายการ
เมื่อถูกถามถึงภาพรวมของอาชีพนักการประชาสัมพันธ์ อัญญาพร ธรรมติกานนท์ ผู้บริหาร AGATE Communications และ Speaker ด้านการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านงานประชาสัมพันธ์ที่มีประสบการณ์กว่า 20 ปี เผยว่า ปัจจุบันภาพรวมของอาชีพนักการประชาสัมพันธ์นับว่าเปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนมาก โดยเฉพาะปี 2562 ถือว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมากเป็นพิเศษ ทั้งจากช่องทางสื่อเก่าที่ค่อย ๆ หายไป และมีสื่อใหม่เกิดขึ้นมาแทนที่ โดยสื่อใหม่ในที่นี้ ไม่สามารถกล่าวรวมเป็นสื่อเว็บไซต์หรือสื่ออินเทอร์เน็ตได้อีก เพราะช่องทางออนไลน์อื่นๆ อย่างเฟซบุ๊กแฟนเพจ กรุ๊ปไลน์ หรือการสื่อสารผ่านแชแนลยูทูบของบล็อกเกอร์ก็นับเป็นสื่อเช่นกัน นักการประชาสัมพันธ์จึงจำเป็นต้องศึกษาวิธีใช้เครื่องมือ รวมถึงรูปแบบวิธีการสื่อสารในช่องทางต่างๆ ทั้งยังจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสารให้หลากหลายขึ้น เพื่อให้สามารถก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่ออาชีพของตนเอง
ด้านการวัดผล ในเมื่อรูปแบบการสื่อสารเปลี่ยนไป ตัวชี้วัดความสำเร็จของแต่ละชิ้นงานจึงไม่สามารถประเมินได้ตามมาตรฐานเดิม จักรพงษ์ คงมาลัย ผู้บริหารดิจิทัลพีอาร์เอเจนซี Moonshot ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล กล่าวว่า มากกว่าการมองว่าข้อมูลของเราจะได้ตีพิมพ์ หรือนำเสนอผ่านสื่อใหญ่หรือไม่ นักการประชาสัมพันธ์อาจต้องเปลี่ยนมาคาดหวังว่างานของเราจะถูกพูดถึง และส่งต่อออกไปในโลกออนไลน์มากน้อยเพียงไรแทน เพราะยิ่งข้อมูลถูกพูดถึงมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่ายิ่งมีผู้ได้รับสารที่เราต้องการสื่อมากเท่านั้น
มากกว่าการพิจารณาความน่าเชื่อถือของสื่อ นักการสื่อสารยังจำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของสื่อและเนื้อหาที่อยากเผยแพร่ออกไปด้วย เพราะปัจจุบันมีช่องทางการสื่อสารที่จำเพาะเจาะจงมากขึ้น การเลือกใช้สื่อที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการพิจารณาเลือกสื่อที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายใหม่ของนักประชาสัมพันธ์ที่หากไม่ปรับตัวให้เข้ากับบริบทก็อาจไม่สามารถอยู่รอดได้ ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีกำลังทำให้คำอธิบายของอาชีพนี้เปลี่ยนแปลงไป
เมื่อได้รับรู้ถึงสถานการณ์ของอาชีพนักประชาสัมพันธ์ในช่วงเช้าไปแล้ว ในช่วงบ่าย ผู้เข้าอบรมยังได้รับฟังเรื่องราวจากฝั่งของนักทำสื่อในหัวข้อที่ 2 เล่าเรื่องแบบไหน ในโลกที่เปลี่ยนไป (Change of Media Landscape) การบรรยายภาพรวมของวงการสื่อในยุคเปลี่ยนผ่านในรูปแบบวงสนทนาของ 3 วิทยากรผู้คร่ำหวอดในวงการสื่อออนไลน์ ได้แก่ ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ The Cloud พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Matter และ ธงชัย ชลศิริพงษ์ บรรณาธิการ Brand Inside ดำเนินรายการโดย ณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ The People ซึ่งหัวข้อนี้เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ของผู้คนที่ทำงานในแวดวงสื่อสารมวลชนตั้งแต่ยุคที่ ‘สื่อ’ คือชื่อเรียกของสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุ จนกระทั่งความหมายของคำคำนี้เปลี่ยนมาเป็นช่องทางออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องแข่งขันกับคนจำนวนมากที่มีสื่อในมือของตัวเอง
ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการ The Cloud พูดถึงภาพรวมที่เปลี่ยนแปลงไปของแวดวงสื่อว่า ภาพรวมของสื่อตอนนี้เปลี่ยนไปตั้งแต่คำนิยาม เมื่อก่อนคนทำสื่อจะถูกเรียกว่า ‘สื่อมวลชน’ ซึ่งเป็นชื่อเรียกของคนที่เรียนจบมาในสาขาวิชานี้ แล้วมาทำงานในสถาบันสื่อ หรือต่อให้ไม่ได้จบมาทางนี้แต่ถ้ามาทำงานในองค์กรสื่อ ก็จะถูกอบรมหล่อหลอมให้ทำงานออกมาในรูปแบบเดียวกัน แต่ตอนนี้พอโซเชียลเน็ตเวิร์คเข้ามา ทุกคนมีสื่อในมือ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ แต่ทุกคนสามารถผลิตสื่อได้เอง เลยนำมาซึ่งวิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป ข้อดีคือรูปแบบจะหลากหลายขึ้น น่าสนใจขึ้น แต่ข้อเสียคือคนทำอาจไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูล หรือไม่ได้ระวังในการเผยแพร่ทัศนคติที่อาจจะไม่เหมาะสม
เนื่องจากพื้นที่สื่อมีความกว้างขวางมากขึ้น รูปแบบการนำเสนอจึงไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในรูปแบบเดียว ยุคนี้สื่อสามารถเป็นได้ทั้งบทความ คลิปวิดีโอ หรือแม้แต่ไฟล์เสียง ซึ่งราวกับเป็นการรวมเอาหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และวิทยุมารวมไว้ในที่เดียว พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการ The Matter มองว่าสถานการณ์นี้แม้รูปแบบการนำเสนอจะคล้ายกับสื่อดั้งเดิม แต่ที่จริงกลับแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
“ความแตกต่างของการทำสื่อตอนนี้กับเมื่อก่อน สิ่งที่หายไปคือสิ่งที่เราเรียกกันว่า mass media เราไม่สามารถคาดหวังว่า เราส่งสารแบบนี้ไปแล้ว งานชิ้นนั้นจะเข้าถึงคนในวงกว้างได้อย่างเมื่อก่อน เพราะคนยุคนี้สามารถเลือกจะเสพหรือไม่เสพสิ่งที่เราทำออกไปก็ได้ แต่ข้อดีของมันคือการที่มีพื้นที่ให้กับเนื้อหาเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งการทำงานลักษณะนี้จะไม่มีทางเกิดใน mass media เพราะเมื่อก่อนพื้นที่สื่อมีไว้สำหรับข่าวใหญ่เท่านั้น พอตอนนี้มีพื้นที่สำหรับเรื่องเฉพาะกลุ่ม เราจึงเห็นได้ว่า ที่จริงมีคนมากมายที่สนใจในเรื่องเดียวกัน นี่คือข้อดีในแง่ของคนรับ แต่ถ้าในแง่ของคนทำสื่อ เราถูกกดดันด้วยความเร็ว ถึงแม้ว่าเราจะพยายามคำนึงถึงความถูกต้อง แต่ก็ยังจำเป็นต้องคิดเรื่องความเร็วอยู่ เพราะเราจะช้ากว่าคู่แข่งไม่ได้ ดังนั้น การหาสมดุลระหว่างความเร็วกับความถูกต้อง จึงเป็นโจทย์ใหญ่ของคนทำสื่อยุคนี้” พงศ์พิพัฒน์ กล่าว
นอกจากรูปแบบการทำสื่อที่เปลี่ยนไปแล้ว ความเป็นเอกลักษณ์ ยังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สื่อยุคใหม่จำเป็นต้องคำนึงถึง ท่ามกลางสนามข้อมูลที่มีผู้คนจำนวนมากกระโจนลงมาทำผลงานรูปแบบคล้ายคลึงกัน คนทำสื่อยุคนี้ต้องทำอย่างไร จึงจะสามารถโดดเด่นขึ้นมาจากคู่แข่งอื่นๆ ได้
คำถามนี้ ธงชัย ชลศิริพงษ์ บรรณาธิการ Brand Inside ตัวแทนจากสื่อธุรกิจที่มีคู่แข่งเป็นสื่อประเภทเดียวกันจำนวนมาก ให้คำแนะนำว่า คนทำสื่อใหม่จำเป็นต้องหาจุดแข็งของเนื้อหาตัวเองให้เจอ โจทย์ของ Brand Inside คือการทำเรื่องธุรกิจ แต่จะพูดเรื่องธุรกิจอย่างไรให้ไม่ดูเหมือนหนังสือพิมพ์ จะทำข่าวอย่างไรให้ไม่ดูเหมือนสื่อโทรทัศน์ ทางออกคืออย่าทำตามเขา จงทำสิ่งที่แม้แต่เรายังอยากอ่าน อยากเห็น ยิ่งกว่านั้น นอกจากเนื้อหาที่ต้องคำนึง ช่องทางหรือเครื่องมือที่เราใช้ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องศึกษา สื่อยุคใหม่ต้องศึกษาเรื่อง SEO หรือการทำคอนเทนต์ในรูปแบบที่เหมาะกับแต่ละช่องทาง เรื่องราวแบบนี้ควรเขียนสั้นหรือยาว ทำเป็นภาพ เป็นคลิปวิดีโอ การออกแบบชิ้นงานให้เหมาะกับเนื้อหาแต่ละแบบก็เป็นสิ่งสำคัญ
ในวันที่ 2 ผู้เข้าร่วมอบรมได้เริ่มต้นเรียนรู้วิธีการทำสื่อออนไลน์ในหัวข้อที่ 3 กรณีศึกษาเรื่องการเขียนบนสื่อออนไลน์/ออฟไลน์ เขียนอย่างไรให้ปัง (Writing Classification)
หัวข้อนี้เป็นการบรรยายจำแนกรูปแบบการเขียนเชิงสื่อสาร ในพื้นที่สื่อประเภทต่างๆ โดยมี ณัฐกร เวียงอินทร์ บรรณาธิการ The People และผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนคอนเทนต์บนสื่อออนไลน์เป็นวิทยากร ภาพรวมการบรรยายเริ่มต้นจากการแนะนำให้รู้จักกับคอนเทนต์ออนไลน์ประเภทต่างๆ พร้อมทั้งทำความเข้าใจธรรมชาติของสื่อออนไลน์ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นักสื่อสารยุคใหม่จึงจำเป็นต้องศึกษาหลักการเขียนคอนเทนต์ที่จะสามารถดึงดูดความสนใจของผู้รับสาร โดยทำความเข้าใจกรณีศึกษาจากตัวอย่างความสำเร็จของคอนเทนต์ประเภทต่างๆ เพื่อออกแบบ Super Content ที่เหมาะสมกับช่องทางการสื่อสารของตนเอง พร้อมทั้งศึกษาวิธีการอ่านตัวเลขสถิติต่างๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์และปรับใช้ให้เข้ากับการประชาสัมพันธ์สื่อในความดูแลของ อพท. ต่อไป
เมื่อรู้จักกับคอนเทนต์ ในช่วงบ่ายจึงเป็นการเริ่มต้นลงมือเขียนคอนเทนต์ของตนเอง ในหัวข้อที่ 4 จับมือเขียน ให้เป็นข่าว (Writing for Communication) โดย สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ บรรณาธิการ The People ซึ่งจะแบ่งเป็นการอบรมวิธีการเขียนข่าว และการสร้างสรรค์คอนเทนต์ให้เหมาะสมกับช่องทางการเผยแพร่ของแต่ละหน่วยงาน
“ก่อนจะไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาทักษะการเขียนให้ดีขึ้น ทั้งในแง่การใช้คำการเรียบเรียง หรือเทคนิคการเขียน เราควรจะทราบก่อนว่า ‘ประเด็นหลัก’ ที่เราต้องการสื่อสารคืออะไร ในเมื่ออำนาจยังอยู่ในมือผู้รับสาร การสื่อสารในแบบที่เคยทำมา อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้รับสารอยากรู้ เราต้องปรับวิธีคิดเนื้อหาว่าไม่ใช่เพียงนำเสนอแต่สิ่งที่เราอยากบอก แต่ต้องคิดถึงสิ่งผู้อ่านอยากทราบด้วย คอนเทนต์ที่เราเผยแพร่จึงจะสื่อสารไปถึงผู้อ่านได้”
หลังจากปรับมุมมองและวิธีคิดเกี่ยวกับการออกแบบเนื้อหา รวมถึงวิธีการนำเสนอคอนเทนต์แล้ว ต่อมาจึงเข้าสู่การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะต้องนำเสนอเรื่องราวในหัวข้อ “เอาของดีในท้องที่มาเล่าเรื่อง” ซึ่งเป็นการเล่าเรื่องศักยภาพของท้องที่ หรือวิธีจัดการท้องที่จนทำให้ท้องที่นั้นๆ ให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
การอบรมช่วงนี้แบ่งกลุ่มเวิร์คช้อปออกเป็น 4 กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะได้รับบรีฟแนวคิด “เอาของดีในท้องที่มาเล่าเรื่อง” ใน 4 หัวข้อที่แตกต่างกันออกไป สมาชิกแต่ละกลุ่มจะต้องนำข้อมูลจากหัวข้อที่ได้มาแตกประเด็นออกแบบเนื้อหา รวมถึงออกแบบช่วงเวลา และสื่อที่จะกระจายคอนเทนต์ไปให้เหมาะสม เขียนบทความและสคริปต์วิดีโออย่างง่าย เพื่อนำมาเสนอเป็นภาพวิดีโอผ่านการแสดง Role Play ในเวลาไม่เกิน 5 นาที ซึ่งแต่ละทีมจะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา คอยแนะนำการออกแบบเนื้อหาตลอดการเวิร์คช้อป
การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะด้านการสร้างสรรค์คอนเทนต์ออนไลน์ รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสื่อยุคใหม่ให้แก่บุคลากรนักการสื่อสาร นับเป็นความร่วมมือครั้งแรกระหว่าง อพท. และ The People โครงการดังกล่าวมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร ในการสื่อสารภาพลักษณ์ และผลงานของอพท.ให้เกิดการรับรู้ได้ในวงกว้าง