Kanita Leather แบรนด์เครื่องหนัง ที่ค่อยๆ หาเอกลักษณ์ของตัวเองเจอ

กว่าผลงาน 1 ชิ้น จะเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ไม่ใช่เรื่องง่าย
ดีไซน์เนอร์บางคน อาจต้องทุ่มเททั้งชีวิต และเป็นที่รู้จักในช่วงบั้นปลาย
บางคนอาจมีพรสวรรค์ ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย

แต่สำหรับ คณิตา คนิยมเวคิณ (ฉัตร) หนทางของเธอไม่ได้ยาก ไม่ได้ง่าย แต่อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงบนโลกธุรกิจ

เธอค่อยๆ สะสมทักษะและประสบการณ์ของตัวเอง จนเมื่อโอกาสมาถึง เธอสามารถคว้ามันไว้ และสร้างแบรนด์เครื่องหนัง Kanita Leather จนประสบความสำเร็จในที่สุด

เรื่องราวของ Kanita Leather จึงเป็นบทเรียนชั้นดีสำหรับ ดีไซน์เนอร์ เมกเกอร์ หรือคนที่กำลังพัฒนาสินค้าเป็นของตัวเอง

 

คลุกคลีกับ เสือป่า ย่านขายหนังเก่าแก่

คุณคณิตาเล่าให้ทีม Craft ‘N’ Roll ฟังว่า เธอเรียนด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Product Design) จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบก็ได้ทำงานที่บริษัทที่เกี่ยวกับเครื่องหนังในย่านเสือป่า ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ที่ค้าขายเครื่องหนังมายาวนาน

ประกอบกับเธอเป็นคนชอบทำงานฝีมืออยู่แล้ว เธอจึงลองหยิบจับหนัง มาทำเป็นของใช้เล็กๆ ให้คนที่ทำงานดู

ทดลองขายในตลาดจริง

หลังจากได้ผลตอบรับที่ดีจากเพื่อน เธอจึงลองนำผลงานไปขายในตลาดสวดลุมไนท์บาร์ซ่า โดยทำเป็นสมุดปกหนังที่สามารถ Custom ชื่อของตัวเองลงไปได้ ผลตอบรับนั้นดีมาก ทำออกมาเท่าไหร่ก็ขายได้หมด โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติ

เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำสมุดหนัง และเครื่องหนังประเภทอื่นๆ ขายควบคู่ไปด้วย

ออกจาก Comfort Zone สู่ Challenge Zone

ในช่วงที่ทำเครื่องหนังขายตามตลาดนัด หรืองานแฟร์ต่างๆ รายได้จากเครื่องหนังก็สามารถเลี้ยงเธอได้ แต่เธอก็ตัดสินใจท้าทายตัวเองด้วยการเข้าโครงการ DeMark ซึ่งเป็นโครงการระดับประเทศที่จะให้รางวัลกับสินค้าที่มีผ่านเกณฑ์การออกแบบยอดเยี่ยมทั้งการออกแบบ และการใช้งาน

การเข้าร่วมโครงการ DeMark ทำให้เธอไม่สามารถหยุดอยู่แค่การทำสมุดปกหนังที่ใครๆ ก็ทำได้ เธอจึงต้องใช้ทักษะทุกอย่างที่เธอมี เพื่อออกแบบเป็นสินค้าชิ้นใหม่ ที่นอกจากจะได้มาตรฐานของ DeMark แล้ว แต่จะกำหนดทิศทางของแบรนด์ในอนาคตอีกด้วย

Thai Dessert Collection เครื่องหนังรูปทรงขนมไทย

เธอนำแรงบันดาลใจมาจากขนมไทยห่อใบตอง เช่น ขนมใส่ไส้ ข้าวต้มมัด หรือ ขนมเทียน มาเป็นไอเดียในการออกแบบกระเป๋า โดยจากความรู้เรื่องหนัง ทำให้เธอสามารถเลือกหนังมาผลิตเป็นรูปทรงขนมไทยชนิดต่างๆ ได้อย่างดีเยี่ยม จนได้รับรางวัล DeMark ในปี 2011

เธอให้ข้อมูลเสริมเรื่องหนังว่า “หนังที่เราใช้คือ หนังวัวของไทยนี่แหละ แต่สิ่งที่ทำให้สินค้าของเรามีความสมจริง คือเราต้องรู้จักหนังที่ใช้ให้ดี หนังแบบไหนนุ่ม หนังแบบไหนนำมาตัดเย็บดี และด้วยความที่เราจบด้านออกแบบผลิตภัณฑ์มา ทำให้เวลาออกแบบของ เรานึกถึงฟังก์ชัน นึกถึงการใช้งานในระยะยาว ทำให้สินค้าทุกชิ้นสวย ใช้งานได้จริง และทำความสะอาดง่าย”

มีแบรนด์ Kanita Leather และ ทำหน้าร้านเป็นของตัวเอง

หลังจากได้รางวัล DeMark ในปี 2011 เธอตัดสินใจเปิดร้านเป็นของตัวเอง แต่การบริหารจัดการร้านใช้เวลาค่อนข้างมาก เธอจึงไม่ได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทำให้เริ่ม Kanita Leather เริ่มผลิตสินค้าที่ไม่ได้มี Concept จริงจัง เพื่อให้มีสินค้าที่หลากหลายมาเติมในร้าน

สุดท้ายแล้ว สินค้าที่ไม่ได้แตกต่างทำให้ยอดขายก็ไม่ดีตามเป้า เธอจึงตัดสินใจปิดหน้าร้านไป และกลับมาโฟกัสที่แบรนด์ว่า Kanita Leather นั้นคืออะไร?

 

โดยในปี 2018 เธอทำคอลเลคชัน WAN-PHEN ที่เกิดจากประสบการณ์การทำกระทงหรือบายศรีในวัยเด็ก เธอจึงลองนำหนังมาจับจีบและผลิตเป็นกระเป๋าที่สะท้อนความประณีต และความเป็นไทยได้อย่างงดงาม

บทเรียนจาก Kanita Leather

1.อย่าเพิ่งทุบหม้อข้าวตัวเอง

บางคนพอตัดสินใจทำอะไร ก็จะไปให้สุดทาง เช่น ลาออกจากงานประจำ ลงทุนกู้ธนาคาร เป็นต้น คุณคณิตาแนะนำว่า เราควรค่อยๆ เริ่มทำในสิ่งที่ชอบ สะสมประสบการณ์ไปเรื่อยๆ ทำแบรนด์ให้แข็งแรงก่อน แล้วค่อยตัดสินใจในก้าวที่สำคัญต่อไป

2.กล้าออกจาก Comfort Zone

หากพอใจแค่การขายสมุดปกหนังในตลาดนัด วันนี้เราคงไม่มีทางได้เห็นผลงานสวยๆ ของ Kanita Leather แน่ๆ และถ้าหยุดแค่นั้น ก็อาจมีคนแห่กันมาทำสมุดปกหนัง จนทำให้สินค้าของเธอขายไม่ดีก็ได้

ฉะนั้นคุณควรตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นการท้าทายและพัฒนาตัวเองต่อไป

 

ภาพ : Kanita Leather

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , TALKS