
เครื่องจักสาน เป็นงานฝีมือที่พบเจอได้ในเมืองไทยทุกๆ ภูมิภาค เป็นการนำวัสดุธรรมชาติมาขัดสานกัน จนเป็นสิ่งของชิ้นหนึ่งเพื่อใช้สอยให้เกิดประโยชน์ แต่แม้จะเป็นงานหัตถกรรมที่ต้องใช้ทั้งฝีมือ และเวลาในการผลิต งานจักสานกลับมีราคาถูกมาก เพราะถูกมองเป็นเพียงสินค้าท้องถิ่น
นี่จึงเป็นที่มาของ ‘KATHANA’ แบรนด์กระเป๋าสานพลาสติก ฝีมือของ กัญฐณา วรกุลชัย ที่ต้องการจะต่อยอดผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน ให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วยการดีไซน์ที่ดูทันสมัย และการเลือกใช้วัสดุอย่างพลาสติกรีไซเคิล

กัญฐณากล่าวถึงที่มาที่ไปของแบรนด์ว่า ก่อนจะมาเป็นแบรนด์กระเป๋าพลาสติก KATHANA เธอเริ่มต้นจากการทำธุรกิจ ‘เส้นพลาสติกสาน’ สำหรับงานหัตถกรรมในชื่อแบรนด์ BUNNY TAPE ก่อน ด้วยแนวคิดที่ต้องการจะช่วย ‘ชะลอ’ ไม่ให้วัสดุย่อยสลายยากอย่างพลาสติกต้องกลายเป็นขยะที่เบียดเบียนพื้นที่ทางธรรมชาติ เธอจึงตัดสินใจนำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้เป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิตเส้นสาน
เธอเล่าว่าในช่วงแรกที่เริ่มศึกษาตลาดงานจักสาน จากการลงพื้นที่ชุมชน และงานแสดงสินค้าต่างๆ เธอสังเกตเห็นว่าสินค้าจักสานในตลาดบ้านเรา มีราคาถูกมาก เมื่อเทียบกับทั้งต้นทุนค่าวัตถุดิบ ฝีมือ และเวลาที่เสียไป แต่ถึงจะเห็นได้ชัดว่าไม่คุ้ม กลุ่มแม่บ้านที่ผลิตงานเหล่านี้ก็ยังไม่กล้าขึ้นราคาให้สูงกว่าที่ขายอยู่ เพราะกลัวจะแพงเกินไปจนขายไม่ได้

เธอมองว่านี่คือช่องว่างของการขาดความรู้ ทั้งในด้านการออกแบบ รวมถึงการให้คุณค่าแก่งานหัตถกรรม เธอจึงเริ่มต้นออกแบบตะกร้าสานที่เติมแต่งดีไซน์และคู่สีที่น่าสนใจ โดยศึกษาจากเทรนด์การออกแบบทั้งใน และต่างประเทศ จนกระทั่งได้ตะกร้าสานพลาสติกออกมาวางขายเป็นต้นแบบในร้านเส้นสานของตัวเอง เป้าหมายก็เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบแก่ลูกค้าที่เข้ามาซื้อวัสดุ ทั้งยังคอยให้คำปรึกษาในเรื่องการจับคู่เส้นสาน และการจับคู่สีที่เหมาะสมแก่ลูกค้า

ผลลัพธ์จากการให้คำแนะนำด้านการออกแบบเช่นนี้ สามารถช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าของกลุ่มลูกค้าของเธอได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังมีเสียงสะท้อนกลับมาว่า “อย่างไรงานสาน ก็เป็นได้เพียงงานพื้นบ้าน คงไปไม่ไกลไปกว่าการเป็น ‘สินค้าท้องถิ่น’ “
นั่นจึงเป็นแรงผลักดันที่ทำให้เธอตัดสินใจที่จะเอาจริงเอาจังกับธุรกิจกระเป๋าสาน โดยมีเป้าหมายที่ต้องการจะยกระดับภาพลักษณ์ของงานจักสานท้องถิ่นไทย โดยถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้วัสดุจากธรรมชาติ แต่ก็เป็นการนำพลาสติกที่ยังไม่หมดอายุการใช้งานมาแปรรูปเพื่อใช้งานใหม่ โดยไม่ต้องนำปิโตรเลียมขึ้นมาผลิตเป็นพลาสติก ธรรมชาติจะได้ไม่ถูกรบกวน
“เราอยากสร้างงานสานที่สวย มีดีไซน์ ตอบโจทย์การใช้งานของคนรุ่นใหม่ อยากให้คนซื้อเพราะสวย เห็นแล้วประทับใจ ใช้ก็รู้สึกว่า คุ้มค่า เพราะใช้ได้จริง” เธอกล่าว

ผลงานกระเป๋าสานจากเส้นพลาสติกของ KATHANA จึงออกมาเป็นสินค้าที่ให้ความสำคัญกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะใส่ใจในด้านการออกแบบ โดยร่วมมือกับดีไซเนอร์กระเป๋ามืออาชีพ เพื่อผลิตสินค้าที่มีหน้าตาทันสมัยไม่ตกเทรนด์ แถมยังมีฟังก์ชันการใช้งานตอบโจทย์
อย่างกระเป๋ารุ่น Candy Purse ที่อยู่ในคอลเลคชั่น Candy ลำดับที่ 7 ก็โดดเด่นด้วยการใช้เส้นพลาสติกสานตัดเย็บร่วมกับหนังไมโครไฟเบอร์ที่น้ำหนักเบา ทนทาน และไม่เป็นเชื้อรา ตอบโจทย์การใช้งานด้วยสายสะพาย 2 ลักษณะ คือสายหนังสั้นสำหรับใช้กลางวัน และสายโซ่ทองสำหรับงานกลางคืน เธอให้คำนิยามแก้กระเป๋ารุ่นนี้ว่า ‘หรูหราดูมีสไตล์ในทุกโอกาส’

นอกจากนี้ข้อดีของวัสดุพลาสติกคือ กันน้ำ แข็งแรงทนขนาด ขณะเดียวกันก็มีน้ำหนักเบา เมื่อนำมาทำเป็นกระเป๋าก็กรีดไม่ขาด ทำได้อย่างมากก็เป็นรอย นับว่ามีประโยชน์อย่างมากในแง่ของความปลอดภัยทางทรัพย์สิน
ในอนาคต KATHANA ยังมีแผนจะขยับขยายไปสู่ตลาดของของใช้ในบ้าน เฟอร์นิเจอร์หวายเทียม และของตกแต่งบ้านรูปแบบอื่นๆ ขณะเดียวกันก็ยังมองหาผู้ที่สนใจนำผลิตภัณฑ์ไปต่อยอดเป็นงานดีไซน์ประเภทอื่นๆ ด้วย กัญฐณาเชื่ออย่างสุดใจว่าตลาดนี้ยังมีพื้นที่สำหรับสินค้าจากพลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมอยู่อีกมากมาย