‘ยากอแวน Yakawvan’ กระเป๋าชาวกะเหรี่ยงปกากะญอ ทอเอง ทำเอง

Craft ‘n’ Roll เคยนำเสนอเรื่องราวของแบรนด์ไทยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของแบรนด์ที่ต่อยอดจากธุรกิจที่บ้าน ดีไซน์เนอร์ที่เรียนด้านออกแบบโดยตรง หรือ ผู้ที่ทำธุรกิจจากความหลงใหลในอะไรสักอย่าง

แต่เรื่องราวของ ‘ยากอแวน Yakawvan’ นั้นแตกต่างจากแบรนด์อื่นๆ เพราะผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้เป็นชาวกะเหรี่ยงปกากะญอตั้งแต่กำเนิด นำเอาผ้าทอจากหมู่บ้านของตนเองมาพัฒนาจนเป็นสินค้าที่ทันสมัย และรายได้ส่วนหนึ่งก็ยังนำกลับไปช่วยที่หมู่บ้านอีกด้วย

รายได้หลักของชาวปกากะญอ คือเกษตรกรรม ส่วนการทอผ้านั้นเป็นการทอใช้กันในชุมชน และทำเป็นงานอดิเรกเท่านั้น

แต่ปัจจุบันรายได้จากการเกษตรไม่เพียงพอ ทำให้ชาวปกากะญอจำนวนไม่น้อย ต้องเข้ามาทำงานในเมืองเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง

จันทร์นิล คารมาการ (แว่นตา) เป็นหนึ่งในนั้น แต่การที่เธอเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ไม่ใช่เพราะเรื่องเงินเพียงอย่าเดียว แต่เธออยากเติมเต็มความฝันของเธอด้านศิลปะและการออกแบบด้วย เธอจึงเก็บเงินเรียนในสถาบันแฟชั่นเพื่อเสริมทักษะของตัวเอง

ในระหว่างที่เรียน เธอได้ลองนำผ้าทอมือของชาวปกากะญอ มาดีไซน์เป็นสินค้าแฟชั่นสมัยใหม่ และได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง เธอจึงตัดสินใจทำแบรนด์ ‘ยากอแวน’ ขึ้นมา

 

[ทุกอย่างมีที่มาจากบ้านเกิด]

‘ยา’ ในภาษาปกากะญอ แปลว่า ‘ฉัน’
ส่วน ‘กอแวน’ แปลว่า ‘กอหญ้า’ และเป็นชื่อจริงของเธอในภาษาปกากะญอด้วย

‘ยากอแวน’ จึงเป็นแบรนด์ที่เธอตั้งขึ้น เพื่อส่งต่อความภาคภูมิใจของบ้านเกิดตัวเองให้โลกได้รับรู้

นอกจากนั้น สินค้าทุกชิ้นจะถูกตั้งตามภาษาบ้านเกิด และมีความหมายที่เป็นมงคล เช่น เก๊อะเปาะเด่อะ (Kir-Po-Dir) แปลว่ากระเป๋าสตางค์ ทีลอซัว (Tee-Lor-Zua) หมายถึงสายน้ำ หรือ ตาลู่ตาแอะ (Ta-Lu-Ta-Ae) ที่หมายถึง หุบเขาแห่งความรัก เป็นต้น

 

[การออกแบบเพื่อการใช้งาน]

สินค้าคอลเลกชันแรกของแบรนด์ คือ คลิปหนีบธนบัตร (Money Clip) ที่ใช้หนังแท้ (Nappa) ผสมผสานกับผ้าทอมือของหมู่บ้าน โดยภายในเดือนแรกที่วางจำหน่าย ก็สามารถขายได้มากกว่า 100 ชิ้น ในราคาใบละ 1,290 บาท และยอดขายก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

คำถาม คือ ทำได้ยังไง? คำตอบก็คือ ยากอแวนทำการตลาดในช่องทางออนไลน์ โดยอธิบายข้อดีของสินค้าของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ หนังที่ใช้เป็นหนังประเภทอะไร? ความหมายของสินค้าคืออะไร? ผ้าทอมือของชาวปกากะญอดีกว่าผ้าทอเครื่องอย่างไร? คลิปหนีบธนบัตรมีประโยชน์อะไรบ้าง? รวมไปทำภาพโฆษณาต่างๆ ให้เข้าใจได้ง่าย และชัดเจน

 

[งานคราฟต์อย่างแท้จริง]

ถึงแม้ว่าจะเรียนด้านออกแบบมา แต่การทำให้เป็นสินค้าที่ผลิตได้จริงนั้นยากกว่าการออกแบบ เพราะเธอต้องหอบผ้าไปหาโรงงานเครื่องหนังหลายแห่ง เพื่อสั่งทำกระเป๋าตามแบบที่เธอต้องการ แต่ไม่มีโรงงานไหนรับทำ เนื่องจากการเย็บหนังกับผ้าทอมือนั้นต้องใช้ความชำนาญค่อนข้างมาก และไม่ค่อยมีแบรนด์ไหนทำ

หลังจากพูดคุยเกือบ 20 โรงงาน ยากอแวนก็เจอกับโรงงานที่ทำสินค้าให้ได้ โดยสาเหตุที่ไม่ค่อยมีโรงงานรับทำเครื่องหนังที่มีการสอดแทรกผ้าเข้าไปก็เพราะ ผ้าส่วนใหญ่เวลานำมาเย็บกับเครื่องหนังจะทำให้ผ้าหลุดรุ่ย เพราะผ้าที่ทอด้วยเครื่องไม่มีความทนทาน เส้นใยไม่อัดแน่นมากพอ

แต่ผ้าทอมือของชาวกะเหรี่ยงปกากะญอนั้นมีความแข็งแรงกว่าผ้าทอเครื่อง จึงทำให้สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าร่วมสมัยได้

 

[ช่วยเหลือสังคมตั้งแต่วันแรก]

นับตั้งแต่ออกคอลเลกชันแรก จนถึงเดือนพฤษภาคม 2019 ‘ยากอแวน’ พึ่งจะมีอายุครบ 1 ปี แต่ปัจจุบันแบรนด์ยากอแวนได้รับการยอมรับในระดับที่น่าพอใจ สามารถวางขายใน Ecotopia Siam Discovery เข้าโครงการส่งเสริมนักออกแบบของ TCDC ออกบูธในงาน STYLE Bangkok 2019

นอกจากนั้นลูกค้าที่ซื้อสินค้าของยากอแวนยังได้ช่วยชุมชนในพื้นที่ห่างไกล เพราะรายได้จากยอดขาย 5% จะถูกนำไปช่วยเหลือชุมชนชาวกะเหรี่ยงที่ทอผ้าให้เราได้ใช้กันอีกด้วย
เป็นการสร้างรายได้ สร้างงาน และอนุรักษ์ภูมิปัญญาไทยได้อย่างน่าชื่นชม

ใครที่อยากศึกษาการทำธุรกิจของยากอแวน และการสื่อสารในช่องทางออนไลน์
ติดตามได้ที่ >> Yakawvan และ facebook

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , TALKS