ญี่ปุ่นมีศาสตร์อันละเอียดลออเรียกว่าการเขียนพู่กัน (โชะโด) บอกเล่าความงามผ่านตัวอักษร ว่ากันว่าลายมือสามารถบอกเล่าความนึกคิดและจิตใจของผู้เขียน พู่กันจึงนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ไม่เพียงใช้สื่อสารแต่ยังช่วยถ่ายทอดเจตนารมณ์ของศิลปินลงบนกระดาษ
แม้ปัจจุบันความนิยมในการใช้พู่กันลดลง แต่ความเอาใจใส่ของช่างทำพู่กันแห่งเมืองคุมาโนะก็ไม่เคยเปลี่ยนไป พวกเขายังคงผลิตพู่กันชั้นเยี่ยม และเพิ่มเติมกลวิธีรังสรรค์พู่กันให้ปรับโฉมจากความดั้งเดิมไปสู่ตลาดความงาม โดยยังคงขั้นตอนอันประณีตซับซ้อนไว้
[จากพู่กันโบราณ]
คุมาโนะคือเมืองเล็กๆ โอบล้อมด้วยทิวเขาในจังหวัดฮิโรชิม่า นอกจากชื่อเสียงในด้านสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติ คุมะโนะยังเป็นแหล่งผลิตพู่กันคุณภาพดีที่สุดของญี่ปุ่น หากว่ากันถึงจุดเริ่มต้น วิถีการทำพู่กันของคุมาโนะมีรากเก่าแก่ย้อนกลับไปถึงยุคเอโดะตอนปลาย (ค.ศ. 1603 – 1867) ในขณะนั้น ผู้คนในเมืองจำเป็นต้องออกเดินทางไปทำงานต่างเมืองเพื่อเอาชีวิตรอดในฤดูหนาวที่ไม่สามารถเพาะปลูกพืชผล การเดินทางสับเปลี่ยนถิ่นฐานระหว่างฤดูนี้เอง ทำให้เกิดการค้าขายพู่กันด้วยวิธีเก็งกำไรจากการซื้อมาขายไป ต่อมาจึงเริ่มผลิตพู่กันเอง โดยคิดค้นกรรมวิธีการทำใหม่ๆ เรื่อยมา กระทั่งในอีก 40 ปีให้หลัง ผลพวงจากการศึกษาภาคบังคับที่บรรจุวิชาเขียนอักษรในหลักสูตร ทำให้ชื่อเสียงของคุมาโนะแพร่หลายอย่างรวดเร็วในสังคมญี่ปุ่น
[ก้าวสู้โลกความงาม]
เป็นเวลานานนับศตวรรษ ที่พู่กันจากคุมาโนะพัฒนาเป็นงานฝีมือเลื่องชื่อ ทว่ากาลสมัยที่เปลี่ยนไปทำให้พู่กันเสื่อมความนิยมลง การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจึงเกิดขึ้นในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 เมื่อบริษัทผลิตพู่กันในคุมาโนะได้เริ่มผลิตแปรงแต่งหน้าชนิดต่าง ๆ ด้วยวิธีทำพู่กันดั้งเดิม โดยไม่ลดความละเมียดละไมในขั้นตอนที่สืบทอดมานับร้อยปี
ตลาดที่เปิดกว้างนำมาสู่การแข่งขันในด้านความคิดสร้างสรรค์ แต่ละแบรนด์งัดเอาไอเดียเด็ดๆ มาพัฒนาสินค้าของตนให้แพร่หลายยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น Koyudo แบรนด์ที่มีจุดเด่นที่ความน่ารัก ใช้คาร์แรกเตอร์ตัวการ์ตูนชื่อดัง หรือผลิตเป็นรูปทรงที่น่าเอ็นดูอย่างหัวใจและดอกไม้ ทว่าสิ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของคุมาโนะโด่งดังไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ภายนอก ขนแปรงอันอ่อนนุ่มที่พู่กันจากการผลิตด้วยเครื่องจักรไม่สามารถเทียบได้ คือจุดเด่นที่ทำให้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทั้งในญี่ปุ่นและระดับโลก
[ความละเอียดละออในทุกเส้นสาย]
สำหรับพู่กันหนึ่งด้ามจะต้องอาศัยความพิถีพิถัน เป็นงานฝีมือที่ถึงพร้อมทั้งทักษะและคุณภาพของขนสัตว์ที่นำมาใช้ ดังนั้นพู่กันหรือแปรงจากคุมาโนะจึงมีขั้นตอนอันละเอียดอ่อนแตกต่างกันไปได้มากกว่า 30 – 70 ขั้นตอน ขึ้นอยู่กับประเภทและชนิด ช่างทำพู่กันจะบรรจงเลือกสรรทั้งรูปทรงและสัมผัสให้ตอบโจทย์การใช้งาน
แน่นอนว่าความแตกต่างของขนสัตว์แต่ละชนิด หมายความถึงคุณสมบัติและรูปร่างย่อมต่างกันไป หากเป็นพู่กันสำหรับวาดเขียน ต้องเลือกใช้ขนม้า ขนแพะ ขนวีเซิล หรือแรคคูนเพราะมีคุณสมบัติยืดหยุ่นอุ้มหมึกได้ดี ในขณะที่แปรงสำหรับแต่งหน้า
ขั้นตอนในการคัดสรรยิ่งละเอียดลออเป็นพิเศษ ขนลูกม้าและขนแพะเหมาะสำหรับนำไปผลิตแปรงปัดแก้ม ขนแบดเจอร์ต้องใช้สำหรับแปรงคิ้วเท่านั้น ส่วนขนกระรอกจะให้สัมผัสนุ่มนวลต่อผิว และใช่ว่าชนิดของขนสัตว์เท่านั้นที่จำเป็นในรายละเอียด รูปทรงของขนยังต้องจำแนกให้เข้ากับแปรงแต่ละชิ้น ช่างจะใช้เวลาเลือกอย่างพิถีพิถัน จัดแต่งด้วยมือเส้นต่อเส้นโดยไม่ใช้กรรไกรตัดแต่งเด็ดขาด
สิ่งที่สำคัญมากในขั้นตอนต่อมาคือประสบการณ์ของช่างที่จะต้องคัดเส้นขนที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยใช้เครื่องมือเล็กๆ ที่เรียกว่าฮันซาชิ (Hansashi) ค่อยๆ คัดขนแปรงทีละเส้นให้เป็นก้อนรูปทรงที่ต้องการ ก่อนวางลงในไม้ทรงกระบอกที่เรียกว่า โคมะ (Koma) ที่แต่ละอันจะมีขนาดใหญ่เล็กตามลักษณะของด้ามแปรงแบบต่างๆ ทำให้ช่างกะขนาดรูปร่างของขนแปรงได้ถูกต้อง จึงค่อยสวมปลอกและทากาวให้ขนสัตว์ยึดเข้าด้วยกัน รอจนกาวแห้งค่อยนำไปประกอบกับด้ามซึ่งโดยมากล้วนเป็นไม้หรือทองเหลือง
ความน่าอัศจรรย์คือเมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ ผลิตแปรงและพู่กันออกสู่ตลาดนับเป็นจำนวนถึง 15 ล้านชิ้นต่อปี ทุกกระบวนการทำด้วยแรงงานฝีมือ และยังคงไว้ซึ่งความละเอียดซับซ้อนที่ไม่อาจลอกเลียนแบบ ความใส่ใจของช่างฝีมือล้วนการันตีได้ว่าพวกเขาได้สร้างสิ่งที่ยอดเยี่ยมที่สุดให้ถึงมือผู้รับ
เรื่อง ณัชชา เชี่ยวกล
ที่มา
https://allabout-japan.com/en/article/1576/
https://www.japanhoppers.com/en/features/handicraft/326/
https://edition.cnn.com/travel/article/kumano-brush-capital-of-japan/index.html