สัมผัสเสน่ห์ของ ‘ชาป่า’ จากยอดดอยประเทศไทย ที่ 1823 Tea Lounge by Ronnefeidt ณ Gaysorn Village

เวลาพูดถึงวัฒนธรรมการดื่มชาของไทย เป็นที่ทราบดีว่าใบชาที่ผลิต และนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน จีน หรือประเทศในแถบยุโรป มักได้รับความนิยมมากกว่าใบชาที่ปลูกและผลิตในประเทศ

อาจเป็นเพราะความไว้วางใจในด้านคุณภาพ ทั้งการปลูก และแปรรูป ทำให้แม้จะมีสายพันธุ์ชาที่ดีอย่าง ชาพันธุ์อัสสัม (ชาจากต้นเมี่ยงที่ขึ้นตามธรรมชาติ) หรือชาพันธุ์จีน จากสายพันธุ์ชาลูกผสมของไต้หวัน (นิยมปลูกในแถบภาคเหนือของไทย) ยังไม่ได้รับการส่งเสริม และบริโภคในประเทศกันอย่างแพร่หลายนัก

ทั้งที่หากได้เดินทางสูงขึ้นไปถึงระดับ 1,400 เมตร ลึกเข้าไปในป่าบนยอดดอยสูง ( ดอยตุง ดอยวาวี และดอยปู่หมื่น) เราก็จะได้พบกับพื้นที่ป่าที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ อันเป็นที่อยู่ของเหล่าต้นชาเก่าแก่อายุตั้งแต่ 200 ไปจนถึง 800 ปี ซึ่งถือว่าเป็นใบชาที่มีมูลค่าสูงมากในท้องตลาด

พื้นที่ป่าบนดอยสูงนี้ ด้วยดิน น้ำ และอากาศ ที่มีความเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของต้นชา ประกอบกับวัฒนธรรมการผลิตชาที่ถ่ายทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นของชาวเผ่าท้องถิ่น (ลาหู่ อาข่า และ ชนชาติเชื้อสายจีน) ทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งปลูก และผลิตชาออร์แกนิคชั้นเยี่ยม

แต่แม้จะเป็นชาชั้นดี ถ้าไม่ได้รับการเก็บเกี่ยวและแปรรูปอย่างถูกวิธี ท้ายที่สุดก็อาจกลายเป็นเพียงชาทั่วไปๆ ด้วยเหตุนี้ทาง Specialty Story / TEAorganique ผู้มีความหลงใหล และเชี่ยวชาญด้านการผลิตและแปรรูปใบชาจึงอาสาเข้ามาช่วยพัฒนา สร้างองค์ความรู้ และส่งเสริมการผลิตชาออร์แกนิคร่วมกับเหล่าชุมชนบนดอยสูง

.

เพื่อส่งเสริมให้เกิดแหล่งผลิตชาไทยคุณภาพดี ที่ปลูกและผลิตโดยไม่พึ่งสารเคมี 100% (ACT-EU Certified) ก่อนนำมาคั่วสด และบรรจุในโรงงานจากดอยแม่สะลอง ที่ผ่านการรับรองโดยมาตรฐานออร์แกนิค ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาเป็น “ยอดชา” ชั้นดี ที่อุดมไปด้วยรสชาติจากดอยและป่า ทั้งยังเก็บเกี่ยวแบบเต็มใบเต็มดอก (whole leaf)

โดยเมื่อนำใบชาชั้นยอดมาผ่านกรรมวิธีการชงแบบโบราณอย่าง Kung Fu Tea Ceremony ในกิจกรรม From Mountain to Lounge ที่จัดโดย 1823 Tea Lounge by Ronnefeldt แบรนด์ทีเลาจ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟสัญชาติเยอรมัน ที่ เกษร วิลเลจ ก็ยิ่งเข้าใจถึงสุนทรียรสแห่งชาป่าแท้ๆ ที่อาจหาทานที่ไหนไม่ได้อีก เพราะยอดชาทั้ง 4 ชนิด ที่นำมาชงให้ลองดื่มนั้น ล้วนเป็นชาชั้นเยี่ยมที่คัดสรรจากป่าลึกบนยอดภูเขาสูงของประเทศไทย

ทั้ง Oriental Beauty (ระดับ AAA Spring Season), Osmanthus Oolong หรือชาอู่หลงหอมหมื่นลี้, Wild Heritage Red Tea ชาแดงมรดกจากขุนเขาอายุ 200 ปี และไฮไลต์ของงานอย่าง Gushu Sheng Pu-erh ชาป่าเก่าแก่ที่มีอายุกว่า 800 ปี

.

ทั้งหมดนี้เมื่อนำมาผ่านการชงสกัดรสชาติ ในอุณหภูมิ และเวลาที่เหมาะสม ย่อมได้มาซึ่งรสชาติที่สมบูรณ์ที่สุดของใบชา ทั้งกลิ่นหอมอโรม่าและสดใหม่จากการชงครั้งแรก ก่อนจะไปรู้จักกับรสชาติจริงๆ หลังจากใบชาคลี่ออกแล้วในการชงครั้งที่สอง เป็นความรื่นรมย์ที่ไม่ซ้ำกันเลยในชาแต่ละถ้วย

สำหรับใครที่เป็นนักดื่มชา หรืออยากลองสัมผัสกับเสน่ห์ของ ‘ชาป่า’ ที่ทั้งล้ำค่าและหาดื่มได้ยาก ก็มาลิ้มลองกันได้ที่ 1823 Tea Lounge by Ronnefeldt ณ เกษร วิลเลจ นอกจากจะได้ดื่มชาชั้นเยี่ยมแล้ว ยังได้ทานอาหารฝีมือเชฟจิม (Jimson Brizuela) ผู้มีชื่อเสียง และความสามารถในการปรุงแต่งรสชาติ เพื่อให้อาหารจานนั้นๆ สามารถทานคู่ไปกับชาแต่ละชนิดได้อย่างลงตัว

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

จุลดิศ อ่อนละมุน

ช่างภาพ

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight