Sa-Ti Handcraft coffee โลกย่อส่วนงานคราฟต์กาแฟ

 

“สติ” หมายถึงความแน่วแน่ต่อสิ่งปฎิบัติเบื้องหน้าอย่างมีสมาธิ หรือแนวทางดำเนินชีวิต ซึ่งตั้งอยู่บนความไม่ประมาท แม้ความหมายของคำสามัญคำนี้ อาจเป็นสิ่งเข้าใจง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อน หากแต่หลายครั้งมนุษย์เรา มักจะลืมเลือนตัวตนและการกระทำอยู่เสมอ ไม่ว่าจะมาจากตัวแปรสิ่งเร้าภายนอก หรือสภาวะซับซ้อนทางจิตใจ

ด้วยความหมายทรงคุณค่า Sa-Ti Handcraft coffee จึงน้อมนำ “สติ” เป็นแนวทางนำเสนอร้านกาแฟยุคใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้สามารถซึมซับไปกับอรรถรสจากกาแฟอันเป็นเอกลักษณ์ รวมถึงบรรยากาศเงียบสงบ ซึ่งชักชวนให้สภาพจิตเต็มเปี่ยมด้วยสมาธิและสติปัญญา

 

ก้าวสอง บนโลกใบใหม่

บาริสต้าเอฟ : Sa-Ti Handcraft coffee สาขาสอง ตั้งอยู่ภายในโครงการทรู ดิจิทัล ปาร์ค โซน 101 แกลเลอรี โดยสาเหตุที่เลือกเปิดบริการพื้นที่แห่งนี้ นั่นเพราะเป็นศูนย์รวมของเหล่าสตาร์ทอัพหน้าใหม่ในไทยและเป็นพื้นที่จำลองระบบนิเวศธรรมชาติ ซึ่งคำนึงถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรและพลังงาน ส่วนตัวผมชื่นชมวิธีคิดนี้มาก เลยลองจินตนาการว่าถ้าหากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งและได้สื่อสารสิ่งเหล่านี้ ผ่านพื้นที่แห่งนี้ ก็คงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไม่ใช่น้อย อีกทั้ง ในแง่มุมธุรกิจและตำแหน่งโครงการ ตั้งอยู่ระหว่างเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีอุดมสุข-ปุณณวิถี ทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็ว ทั้งรอบเขตพื้นที่เต็มไปด้วยคอนโดและสำนักงานออฟฟิศ ยิ่งทำให้มีลูกค้าแวะเวียนเลือกซื้อเครื่องดื่มตลอดทั้งวัน และสุดท้ายต้องการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักฝั่งย่านบางนา พร้อมสร้างทางเลือกใหม่ให้กับกลุ่มลูกค้าไม่ต้องเดินทางไปไกลถึงอารีย์

 

ความสุขและความสนุกในมุมบาริสต้า

บาริสต้าเอฟ : การทำกาแฟหนึ่งแก้ว หรือหนึ่งช็อต ล้วนมีจุดเริ่มต้นมาจากวิธีจัดการระบบความคิดในสมอง บาริสต้าที่ดีจะต้องประมาณให้ออกว่าเรากำลังสร้างสิ่งใด แต่ละขั้นตอนต้องจัดการอย่างไร เพื่อควบคุมความเสถียรทางด้านรสชาติและปริมาณ ดังนั้นทุกขั้นตอนจึงเปรียบเสมือนผลงานสร้างสรรค์งานคราฟต์เป็นเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกเมล็ดสายพันธุ์ การคั่ว-บดเมล็ด ลักษณะเครื่องชง รวมถึงวิธีอัดอุณหภูมิความร้อนผ่านฟิลเตอร์

นอกจากความสนุกท้าทาย เพื่อควบคุมความเสถียร ความสุขอีกอย่างของบาริสต้า คือ “งานบริการ” เพื่อสร้างปฎิสัมพันธ์กับลูกค้า ได้พูดคุย ได้ทำความรู้จักกับผู้คนแปลกใหม่อยู่เสมอ จึงทำให้เป็นอาชีพที่ไม่รู้สึกน่าเบื่อแม้แต่น้อย

 

ย่อสัดส่วนโลก ผ่าน รส ชาติ

บาริสต้าเอฟ : อีกเสน่ห์ซึ่งซ่อนอยู่ภายในร้าน คือการที่ผมได้ทำการคัดเลือกเมล็ดกาแฟจากแต่ละทวีป หรือตามเขตเส้นศูนย์สูตรโลก (อุณหภูมิร้อนชื้น-อบอุ่น เหมาะแก่การปลูกกาแฟ) เพื่อทำการเบลนด์ผสมผสานเติมเต็มข้อดีข้อด้อยระหว่างกัน ดังเช่น ซิกเนเจอร์ประจำร้านเรา จะมีให้เลือกอยู่สองแบบ ได้แก่ House blend และ Summer blend

[House blend] คัดเลือกสายพันธุ์อะราบีกา จาก 2 ประเทศ ได้แก่ รวันดา (แอฟริกา) หมู่บ้านขุนแจ จังหวัดเชียงราย (เอเชีย) ใช้การเชื่อมโยงรสเปรี้ยวจากกลิ่นเบอร์รีผสมเปลือกส้มรวันดาชี้นำ ตามด้วยกลิ่นของเปลือกถั่วและโกโก้หมู่บ้านขุนแจ ใช้วิธีคั่วกลาง เพื่อให้บอดี้มีลักษณะลื่นและกลมกล่อม หากเปรียบเป็นมนุษย์ เสมือนกับหญิงสาวผู้งดงามเพียบพร้อม ชอบอยู่ติดบ้าน มีโลกส่วนตัวน่าค้นหา

[Summer blend] ตัวแทนแห่งความสดใสในช่วงฤดูร้อน เสมือนหญิงสาวแรกรุ่น เต็มเปี่ยมด้วยพลังงาน คัดเลือกสายพันธุ์อะราบีกา จาก 3 ประเทศ ได้แก่ เอธิโอเปีย (แอฟริกา) โคลอมเบีย (อเมริกาใต้) หมู่บ้านแม่จันหลวง เชียงใหม่ (เอเชีย) ใช้การชี้นำกลิ่นและรส ลักษณะผลเบอร์รีสุกงอม สไตล์เอธิโอเปีย คอนทราสต์กับกลิ่นของช็อกโกแลต หมู่บ้านแม่จันหลวง จากนั้นใช้การเชื่อมโยงทั้งสองเข้าด้วยกันด้วยกลิ่นถั่ว สไตล์โคลอมเบีย เพื่อคงเอกลักษณ์อันกลมกลืน บอดี้ที่ได้ให้ความนุ่มลื่นและกลิ่นหอมสดชื่น

สังเกตได้ว่าทั้ง 2 เมนู ผมพยายามนำความต่างทางเอกลักษณ์ของแต่ละชนชาติมาผสมผสานกัน เพื่อให้ผู้มีความรู้ทางด้านกาแฟ หรือผู้ไม่มีความรู้ทางด้านนี้เลย ได้ซึมซับผ่านกระบวนการชิม รับกลิ่น และรับรสได้อย่างถูกต้อง อีกทั้ง เป็นการให้ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์โลกทางอ้อม ให้ได้ทราบว่าเมล็ดกาแฟแต่ละสายพันธุ์มาจากไหน และแต่ละประเทศตั้งอยู่ส่วนใดของโลก

 

ความสมบูรณ์บนความไม่สมบูรณ์

บาริสต้าเอฟ : ตามกฎธรรมชาติ ย่อมไม่มีสิ่งใดสมบูรณ์แท้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หากมองให้เป็นระบบไมโครหน่วยย่อยขนาดเล็ก จะพบว่าโลกของกาแฟต่างได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะกาแฟเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ ปัจจัยด้านภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ระดับความสูงจากน้ำทะเล ย่อมส่งผลต่อขนาดเมล็ดและรสชาติเสมอ

แม้แต่ขั้นตอนการทำบางครั้ง ผมเลือกใช้กาแฟปริมาณ 60 กรัม จำนวน 20 เมล็ด นำไปคั่วในเครื่องที่ได้มาตรฐานสากล ผลที่ได้ บ้างโดนไฟแรง บ้างโดนไฟอ่อน ทำให้แต่ละเมล็ดมีความเข้มแตกต่าง หรือหากจำลองเป็นกราฟแท่ง จะพบว่ามีตัวแปรอีกหลายปัจจัย ซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิการไหลของน้ำร้อน การแท็ปความเรียบก่อนเข้าเครื่องชง เพื่อทำเพอร์เฟ็กต์ช็อต รวมถึงลักษณะความหนาฟิลเตอร์ที่ใช้ ดังนั้น หน้าที่ของบาริสต้า คือทำอย่างไรให้การทำกาแฟแต่ละครั้ง ได้รสชาติและมาตรฐานเดียวกันตลอดทุกแก้ว สุดท้ายแล้ว ผมมองว่าคนเราควรปล่อยวางจะส่งผลดีที่สุดครับ

 

ตบ แต่ง พื้น ผนัง

บาริสต้าเอฟ : นอกจากรสชาติกาแฟอันเป็นเอกลักษณ์ งานตบแต่งพื้นผนังภายในย่อมโดดเด่นไม่แพ้กัน ทางร้านได้ทำการปฎิวัติพื้นที่ 50 ตร.ม. ขึ้นใหม่ โดยจัดวางตัวเอกหลัก คือบาร์ยาวตัว L ลบมุม (17-20 ตร.ม.) สำหรับทำกาแฟ ชิดผนังปูน หันหน้าส่วนแคชเชียร์ออกฝั่งประตูร้าน เพื่อสร้างมุมมองสังเกตความเคลื่อนไหว ท็อปบาร์ชั้นบนทำจากวัสดุแสตนเลส
โครงฐานผลิตจากวัสดุฟอยด์โลหะผสมบดอัดจากโรงงาน ลักษณะบาร์แบ่งเป็นโซนดริปและสโลปบาร์ ในส่วนของพื้นที่นั่ง จัดวางโต๊ะและเก้าอี้จำนวน 20 ที่ ตกแต่งด้วยไม้โอ๊กสีอ่อน ซึ่งตัดกับผนังปูนขัดมันสไตล์ลอฟต์ ที่ให้ความรู้สึกดูอบอุ่นและดิบเท่

อีกทั้ง การคัสตอมเครื่องชงกาแฟ ล้วนเป็นหนึ่งในเทคนิกที่ช่วยขับภาพลักษณ์ของร้านให้ดูโดดเด่นน่าสนใจ โดยเครื่องนี้ เป็นรุ่น Astoria Storm ผมได้นำมาตกแต่งด้วยไม้และทำสีใหม่ เมื่อนำไปจัดวางใต้แสงไฟและปรับระดับการนั่งตามแต่ละองศา จะพบว่ามีการไล่เฉดสี จากสีขาวไข่มุกไปจนถึงสีฟ้าอ่อน

 

เบลนด์ความดิบผสานวัสดุธรรมชาติ

บาริสต้าเอฟ : อีกมุมหนึ่ง ผมทำงานไม้เป็นกิจวัตร ภายในโค-เวิร์คกิ้งสเปซ Made Here On Earth จึงเกิดไอเดียอยากดัดแปลงวัสดุเก่าเหลือใช้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เพื่อนำมาตกแต่งร้าน ให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ Sustainable of Living (ความยั่งยืนแห่งการอยู่อาศัย) ภายในคริสต์ศตวรรษที่ 21

ประจวบเหมาะเมื่อไม่นาน เพื่อนผมซึ่งผลิตเฟอร์นิเจอร์ ได้มีเศษไม้เหลือใช้และเฟอร์นิเจอร์ตัวโชว์ที่มีตำหนิจำนวนมาก ผมจึงอาสานำมาดัดแปลงเป็นรูปทรงแตกต่าง โดยนำสัดส่วนเฉพาะมาประกอบระหว่างกัน เช่น เก้าอี้พนักพิงทรงสูงประกอบเข้ากับขาเก้าอี้เสาหินยุโรปสีขาว เก้าอี้ไม้โยกทรงจีนที่เคยมีฐานโยก นำมาตัดออกแล้วใส่ขาเหล็กสี่ด้านทดแทน หรือแผ่นไม้ขนาดยาว นำมาขัดให้เรียบและดัดแปลงเป็นโต๊ะบาร์ สำหรับรองรับลูกค้าหลายสิบที่ เป็นต้น

 

นอกจากเฟอร์นิเจอร์ใช้งาน ผมได้ทำการดัดแปลงเครื่องดริปกาแฟตัวใหม่ ซึ่งต่อยอดมาจาก “น้อม” (เครื่องดริปกาแฟไม้ เคยได้รับรางวัล Design Excellence Award 2018) โดยใช้วัสดุหลักจากไม้โอ๊กสีอ่อนและไม้วีเนียร์วอลนัทสีเข้ม ออกแบบเลเยอร์ทรง คล้ายกับลวดลายของวงกบประตูและหน้าต่างจากประเทศญี่ปุ่น ใช้การคำนวนองศาเรขาคณิต เพื่อสร้างความสมมาตรสำหรับใช้งาน

 

แล้วพบกัน

บาริสต้าเอฟ : หากท่านใดสนใจลิ้มรสกาแฟและซึมซับไปกับบรรยากาศอันเงียบสงบ สามารถพบกับเราได้ที่ Sa-Ti Handcraft coffee โครงการทรู ดิจิทัล ปาร์ค หรือหากไปที่สาขาอารีย์ นอกจากจะได้ลิ้มรสเครื่องดื่มหลากหลายเมนูแล้ว ทางเราก็มีคอมมูนิตี้เวิร์คช็อปงานไม้และงานผลิตเครื่องหนังดี ๆ แนะนำเช่นกัน แล้วพบกันครับ

Tel. 065-165-4266

Facebook page @satihandcraftcoffee

Categories: