Made Here On Earth… พื้นที่เล็กๆ ของคนรักงานไม้ ใกล้ใจกลางกรุง

การออกแบบ… เป็นพื้นฐานการคำนวนโครงสร้างทั้งศาสตร์และศิลป์ ซึ่งล้วนเชื่อมโยงถึงสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสาขาสถาปัตยกรรม ประติมากรรม จิตรกรรม และหัตถกรรม ทั้งหมด ล้วนก่อเกิดจากสิ่งเดียวกัน แต่การจะขับเคลื่อนออกมาให้ถูกต้องตามมาตรฐานได้นั้น ย่อมต้องอาศัยประสบการณ์ฝึกฝน อดทนตั้งใจ และการตกผลึกความคิดอย่างแท้จริง

เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่กล่าวมา ปัจจุบัน จึงก่อเกิดคอมมูนิตี้สำหรับนักออกแบบจำนวนมาก และ Made Here On Earth ก็เป็นหนึ่งในคอมมูนิตี้ต้นแบบที่เอาใจคนรักงานไม้โดยเฉพาะ โดยเปิดบริการขึ้นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2559 จากช่างเอฟ-วิทิต ชัยสัมฤทธิ์โชค นักออกแบบไฟแรงจากผลงานระบบการปฏิบัติการแท้งค์น้ำ เจ้าของร้าน SA-TI Handcraft Coffee และวันนี้ Craft ‘N’ Roll ก็จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ Made Here On Earth กัน ว่ามีจุดเริ่มต้นและประวัติความเป็นมาอย่างไร

 

[ตัวตนและความสนใจ]

ช่างเอฟ: ถ้าจะให้เล่าเรื่องราวทั้งหมด คงต้องย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่เดิมที่บ้านผมทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างทุกประเภท และงานไม้ ก็เป็นหนึ่งในธุรกิจนั้น จึงทำให้มีอุปกรณ์งานช่างจำนวนมากวางเต็มพื้น และตอนนั้นเอง ผมไม่มีของเล่นสักชิ้น ก็เลยเอาค้อน เลื่อย สว่าน มาเล่นซน พออากงเห็นเข้า จึงได้สอนวิธีการใช้มาแต่นั้น

ด้วยความที่คลุกคลีกับงานช่างเรื่อยมา จึงทำให้ผมมีความสนใจด้านการออกแบบสินค้า พอเข้าสู่ช่วงมหาวิทยาลัย จึงตัดสินใจเข้าศึกษาที่สาขามัณฑนศิลป์ วิชาเอกออกแบบผลิตภัณฑ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นั่น ได้สอนให้ผมเข้าใจถึงวิธีจัดเรียงความคิดขั้นพื้นฐาน การวางแผน ทักษะการผลิต และการออกแบบรูปลักษณ์สินค้าอย่างไรให้ดูสวยงาม

 

[เป็นมากกว่าพื้นที่เล็กๆ สำหรับคนรักงานไม้]

ช่างเอฟ: ตั้งแต่จบมา ก็ไปทำงานประจำบ้าง รับฟรีแลนซ์ออกแบบบ้าง และจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจสร้าง Made Here On Earth ขึ้น เนื่องจากอยากมีพื้นที่สักแห่ง ที่สามารถใช้แลกเปลี่ยนความรู้กับผู้รักงานไม้ และยังต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์งานคราฟต์ที่ตั้งอยู่ใกล้ใจกลางกรุง

สิ่งแรกที่ผมนึกถึงคือ ย่านอารีย์ เนื่องจากพื้นที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ดูมีเสน่ห์ คือมันค่อยๆ เติบโตและเปลี่ยนแปลงไปทีละนิด เริ่มจากมีร้านอาหารสมัยใหม่ที่มาจากการปรับเปลี่ยนบ้านหลังเก่าอายุมากกว่า 30 ปี ให้เป็นสไตล์เก๋ๆ เท่ๆ รวมไปถึงโฮสเทลรูปแบบลอฟท์หรืออินดัสเทรียล อีกทั้ง ด้วยตำแหน่งที่ตั้ง ยังสามารถเดินทางได้สะดวกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว หรือรถไฟฟ้า BTS สถานีอารีย์

เมื่อกำหนดสถานที่ได้แล้ว ผมจึงทำการเช่าคูหาเก่า 2 ห้อง บริเวณใกล้กับ ซอยอารีย์สัมพันธ์ 5 มาทำการรีโนเวตใหม่ทั้งหมด ให้เป็นรูปแบบ Co-Working space มีทั้งส่วนผลิต เวิร์คช็อป ร้านอาหาร และคาเฟ่สไตล์ Loft (โครงเหล็กปูนเปลือย)

ส่วนเฉพาะของ Made Here On Earth ถูกจัดแบ่งเป็น 2 ชั้น ภายใต้พื้นที่ 100 ตร.ม. [ชั้น 1] แบ่งสัดส่วนออกเป็นพื้นที่สำหรับตัดไม้ด้วยเครื่องเลื่อยไฟฟ้า เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องเจาะ เครื่องขัดผิว และโต๊ะกลาง เพื่อไว้สำหรับวางแปลนและปรึกษาระหว่างกัน

[ชั้น 2] จะเน้นบรรยากาศห้องประชุมกึ่งเวิร์คช็อป โดยส่วนใหญ่ จะเน้นไปที่การทำเครื่องหนังเป็นหลัก เช่น กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง และเครื่องประดับจากหนังประเภทต่างๆ และบริเวณห้องขนาบข้างทั้ง 2 จะเป็นพื้นที่สำหรับจัดสัมมนาประชุมหรือใช้ทำงานได้เช่นกัน

 

[ทักษะงานช่าง พร้อมปัจจัยสู่ความสำเร็จ]

ช่างเอฟ: Made Here On Earth ผมไม่ได้มองว่าคนที่เข้ามาใช้บริการจะต้องเป็นช่างไม้อย่างเดียว ผมมองว่ามันเป็นพื้นที่ที่ช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์มากกว่า คือคนปกติทั่วไปที่ไม่ได้มีทักษะงานช่าง ก็สามารถมาทดลองเรียนรู้ ผมอยากให้ลองมองอีกมุมว่าผลิตภัณฑ์สักชิ้นกว่าจะมาถึงปลายทาง มันต้องผ่านกระบวนการอะไรมาบ้าง เช่น เฟอร์นิเจอร์ตู้หรือโต๊ะ มันเคยผ่านการเป็นแผ่นไม้ธรรมดามาก่อน จนถูกคนนำมาตัด มาขัดผิว มาประกอบให้เกิดฟอร์มมิติรูปร่าง ซึ่งหากนำระยะเวลามาอิงกับคอร์สเรียน 10 ชั่วโมงจากเราแล้ว เพียงแค่ 10 ชั่วโมง ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดทักษะที่ชำนาญได้ หากแต่ 10 ชั่วโมงนี้ จะเป็นการเปิดโลกและทัศนคติของผู้เรียน เกี่ยวกับทักษะงานช่างแทน ทั้งนี้ หนทางที่จะทำงานช่างให้ชำนาญได้นั้น ผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับการวางแผน การเก็บชั่วโมงบิน การอดทนฝึกทำซ้ำๆ ติดต่อกันหลายชั่วโมง จนกล้ามเนื้อเกิดการจดจำอัตโนมัติ

 

[มูลค่าผสานความตั้งใจ]

ช่างเอฟ: สิ่งที่เป็นข้อแตกต่างระหว่างสินค้าสำเร็จรูปจากโรงงานกับสินค้างานคราฟต์นั้น ผมคิดว่ามันอยู่ที่มูลค่าความตั้งใจ คือการจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นงานคราฟต์สักชิ้น มันต้องผ่านการกลั่นกรองไอเดียในหัว การร่างสเก็ตช์ที่มีความเป็นไปได้ การจัดหาวัสดุเหมาะสม ทักษะการประกอบที่ประณีตชำนาญ และความมุ่งมั่นในการลงมือทำ ซึ่งก็ไม่แปลกหากงานคราฟต์จะมีมูลค่าแปรผันกับลักษณะสินค้า หากเปรียบเปรยก็คงประมาณว่าสินค้างานคราฟต์ทุกชิ้น ล้วนมีเรื่องเล่าและเรื่องราวเป็นมา ก่อนจะมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้คนพบเห็นครับ

 

[ดีไซน์ที่มากกว่าฟังก์ชัน]

ช่างเอฟ: นอกจากจะสร้างคอมมูนิตี้สำหรับทำงานไม้แล้ว ผมก็ไม่เคยคิดที่จะหยุดการสร้างสินค้างานคราฟต์เลย เมื่อปีที่ผ่านมา ผมก็มีสินค้าตัวหนึ่งที่ได้รับรางวัลจากงาน Design Excellence Award 2018 [DEmark] โดยสินค้าตัวนั้นเป็นเครื่องดริปกาแฟที่สร้างจากไม้วีเนียร์วอลนัท ในชื่อ “น้อม” ที่เปรียบเสมือนการนอบน้อมต่อทรัพยากรธรรมชาติที่เรานำมาใช้ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากแพทเทิร์นไม้ที่ดูแปลกตา ผมจึงได้นำมาประยุกต์ให้เข้ากับฟอร์มของโลโก้ร้าน พร้อมปิดผิวด้วยแผ่นไม้และอะคริลิกใส บริเวณด้านบนทำการเจาะช่องกึ่งกลางไว้ เพื่อวางแก้วดริปกาแฟ ทั้งนี้ นอกจากผู้ใช้งานจะใช้ดริปกาแฟเก๋ๆ แล้ว ยังช่วยเสริมสุนทรียะของอารมณ์ให้การดื่มกาแฟมีรสชาติอร่อยขึ้นอีกเท่าตัว

 

[ก้าวต่อไป]

ช่างเอฟ: สำหรับเฟสต่อไป ทาง Made Here On Earth มีแผนที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ smhoe (สโม) ครับ ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากร้านค้าสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร เนื่องจากเป็นร้านที่มีสินค้าแทบทุกชนิดในสมัยที่ผมยังเป็นนักศึกษา โดยเป็นร้านเล็กๆ ที่คนต้องต่อแถวยาวเพื่อซื้อสินค้าภายใน อีกทั้งคำว่า smhoe ยังพ้องกับเสียงคำว่า Made Here ด้วย

ปัจจุบัน เราก็กำลังเปิดเวิร์คช็อปสำหรับผู้มีใจรักงานไม้ที่ต้องการเรียนรู้ครับ (เด็กและผู้ใหญ่) สำหรับผู้ใหญ่ จะเป็นคอร์สพื้นฐานงานไม้สไตล์ญี่ปุ่น เรียน 8 ชั่วโมง ราคา 5,500 บาท (ทุกท่านจะได้รับกล่องเครื่องมือสำหรับทำงานช่างในพื้นที่อันจำกัด 1 กล่อง ต่อ 1 คน) สำหรับคอร์สของเด็กเล็ก เรียน 5 ชั่วโมง ราคา 3,500 บาท เป็นต้นไป

 

สำหรับท่านใดที่สนใจเวิร์คช็อปงานไม้จาก Made Here On Earth สามารถติดต่อได้ดังนี้

สถานที่ตั้ง 110/4 ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครฯ

เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.

Tel. 095-929-5925 / 082-446-5429

 

อัตราค่าบริการ

Package A: สำหรับผู้มีพื้นฐานการใช้งานเครื่องจักรมาก่อนแล้ว จำนวน 10 ชั่วโมง  ราคา 1,000 บาท

Package B: สำหรับผู้ไม่มีพื้นฐานการใช้งานเครื่องจักรและการออกแบบ (มีเจ้าหน้าที่แนะนำในทุกขั้นตอน) จำนวน 10 ชั่วโมง ราคา 3,500 บาท

 

แล้วพบกัน…

 

จุลดิศ อ่อนละมุน

ช่างภาพ

Categories: Business , Lifestyle , TALKS , VIDEO