ทำความรู้จักน้องใหม่แห่งวงการเบียร์คราฟท์ไทย

ตอนนี้เบียร์คราฟท์ไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น กลายเป็นเป้าหมายของนักดื่มที่ชอบลองรสชาติแปลกใหม่ และยังเป็นเวทีปล่อยของของเหล่านักต้มที่ส่งผลงานมาประชันฝีมือกันมากมาย มาดูกันดีกว่าว่าตอนนี้มีเบียร์คราฟท์ไทยน้องใหม่แบรนด์ไหนเฉิดฉายในวงการ และคอเบียร์คราฟท์อย่างเราไม่ควรพลาดทำความรูัจักกันบ้าง

11021556_963379537040801_3055643073125240334_n
1. Eleventh Fort
แบรนด์นี้เกิดจากสองเพื่อนซี้เริ่มต้นทำเบียร์คราฟท์และแก้ไขปรับปรุงพัฒนาและลองส่งเข้าประกวด homebrew ของ Niche BeerVille จนชนะในส่วนของสายขาว (สายขาวในที่นี้คือรวมทุกชนิดที่ไม่ใช่เบียร์สีดำ) หลังจากนั้นสักพักทั้งสองจึงฟอร์มทีม Eleventh Fort ขึ้นอย่างเป็นทางการ

นอกจาก Eleventh Fort จะต้องการทำเบียร์คราฟท์เพราะมีอิสระในการสร้างสรรค์ในแบบที่เขาชอบแล้ว ยังได้ผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะที่สามารถสื่อถึงตัวตน ถิ่นกำเนิด วัฒนธรรม หรือแม้แต่การใช้ชีวิตเข้าด้วยกันได้อีกด้วย ส่วนเบียร์ตัวเด่นๆ ของแบรนด์นี้คือ IPA (India Pale Ale) และ JPA (Juniper Pale Ale) โดยตัว IPA ซึ่งเป็นตัวที่พัฒนาจากตัวที่ได้รับรางวัลไปนั้นจะชูโรงเรื่องความนวล ความกลมกล่อมของรสชาติ และมีกลิ่นออกเป็นแนว citrusy, piney ซึ่งเขานำเอาคาแรคเตอร์ของฮ็อปสามตัว ได้แก่ Simcoe, Amarillo และ Cascade มาผสมผสานกัน เพื่อให้ได้ทั้ง bitterness และ aroma และเติมน้ำผึ้งของไทยเข้าไปด้วย สรุปแล้วตัวนี้เป็น IPA ที่ดื่มง่ายสำหรับนักดื่มสาย hop โดยมีแอลกอฮอล์ประมาณ 6.4% ส่วนอีกตัวหนึ่งคือ JPA ใส่ผลจูนิเปอร์ (เป็นเบอร์รี่ชนิดหนึ่งซึ่งนิยมใส่ใน Gin) ไปในกระบวนการหมัก ผลจูนิเปอร์มีลักษณะเฉพาะตัวที่ความหอมและให้รสชาติแบบเครื่องเทศ เมื่อมาผสมผสานกับกลิ่นและรสของฮ็อป Amarillo อย่างลงตัว และมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ไม่มากนักเพียง 5.8% ทำให้เบียร์ตัวนี้ดื่มง่าย กลมกล่อม แต่ก็คงเอกลักษณ์เฉพาะตัวไว้ได้อย่างดี

จุดเด่นของแบรนด์นี้จึงเป็นการทำเบียร์ที่แสดงตัวตนอย่างชัดเจนเพื่อแบ่งปันไปสู่นักดื่มคนอื่นๆ โดยเน้นหนักเรื่องความสะอาดในการผลิตทุกขั้นตอน ใครสนใจอยากลิ้มลองรสชาติเบียร์คราฟท์ไทยแท้คุณภาพจากป้อมปราการที่๑๑ สามารถไปชิมได้ที่ร้าน Table 9 ศุภาลัย ปาร์ค รัชโยธิน, ร้าน Burn Baby Burn ในตลาดนัดรถไฟรัชดา, ร้านโอกลี O’glee ซอยอารีย์ 1 และร้าน Wolf Bar รังหมาป่าที่เชียงใหม่ และยังมีจำหน่ายผ่านทางออนไลน์อีก 2 ช่องทาง คือ Hand me a beer และ BeerLovers
Facebook: Eleventh Fort

 

11902570_515400498608395_8881756107397547820_n

 

2. Pheebok Beer
น้องใหม่นามว่า “ผีบอกเบียร์” ชื่ออันติดหูและดูเข้ากับสังคมไทยนี้ เกิดมาจากเพื่อน 4 คนที่มาจากหลากหลายอาชีพ แต่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ โดยเริ่มต้นจากการศึกษาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต อ่านจากหนังสือ และทดลองทำมาเองเรื่อยๆ เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่ไร้ชั้นวรรณะ ไม่แบ่งชนชั้น เท่าเทียม และซื่อสัตย์ ส่วนเบียร์ที่ทำเอง ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำกับข้าวกินเอง ที่เราสามารถทดลองหรือใส่ส่วนผสมอะไรๆ ได้ตามสัดส่วนหรือวัตถุที่ต้องการได้อย่างอิสระ

แนวคิดการผลิตเบียร์ของ Pheebok Beer อยู่ที่ความเรียบง่าย คงมาตรฐานเดิมให้ได้มากที่สุด และมีการบ่มเบียร์บางชนิดยาวนานเป็นพิเศษเพื่อรสชาติให้ได้รสชาติที่ดี ไม่มีการติดเชื้อ จึงไม่เน้นผลิตจำนวนมาก เบียร์ของ Pheebok Beer มักใช้คำว่า “น้ำมนตร์” แทนคำว่า “เบียร์” ในหน้าเพจ และมักต้มเบียร์กันในวันพระให้เข้าคอนเซ็ปต์ชื่อแบรนด์ เบียร์ที่นิยมได้แก่ Haunting Charming Pale Ale น้ำมนตร์เพลหลอนเสน่ห์ แอลกอฮอล์ 4.8% เป็นน้ำมนตร์แรกสุดที่พ่อหมอปรุงขึ้น เป็น American Pale Ale ที่เน้นความ ฟรุตตี้อวลด้วยกลิ่นดอกไม้หวานหอม Serious Ghost and Wife IPA ผีจริงจังและเมียของเขาไอพีเอ 5% Sweet Horror Night Wheat คืนหวานหวีดสยอง 6% น้ำมนตร์หวีทหรือข้าวสาลี เป็น American Wheat Beer มีความหอมแนวฟรุตตี้ผสมกับกลิ่น Spice จากยีสต์วีทเบียร์ แอลกอฮอล์มากกว่าวีทเบียร์มาตรฐานทั่วไปเล็กน้อย Sucide Sweetheart Imperial IPA จอมใจอัตวินิบาตกรรม 8.2% เป็น Imperial IPA ที่เน้นความหนักแน่น มีความเป็นลูกผสมระหว่างกลิ่นแบบฟรุตตี้,ลูกสน และส้มซิตรัส เพียงขวดเดียวก็รู้สึกราวกับถูกแหกอก In Fear and Flirt Weisse พ่อคน เจ้าชู้ประตูดินกับอนงค์นางผีสะคราญ 4.5% เป็น Tradition Weizen แท้ๆ ตามกฎการผลิตเบียร์ของเยอรมัน เน้นหนักไปที่ความสามารถของยีสต์ในการผลิตกลิ่นกานพลูเจือกล้วยหอม เน้นที่ความสมดุลระหว่างทั้งสองกลิ่น และรสหวานจากมอลต์ที่แทรกกลางกลิ่นทั้งคู่ Graveyard Stout น้ำมนตร์ดำเจ็ดป่าช้า 5.2% เป็น American Stout ที่ใช้มอลต์ 7 ชนิดเป็นส่วนประกอบ ได้กลิ่นและรสมอลต์คั่วไหม้แท้ๆ จนคล้ายกับโกโก้ แต่ไม่ได้ใส่โกโก้ บอดี้แน่นหนึบและฟองฟูนิ่ม ดุจดั่งรักละมุนของพ่อหมอกับผีสาว

ใครสนใจอยากลิ้มรสน้ำมนตร์สุดขลัง เชิญไปชิมได้ที่ร้าน Junker and Bar ซอยสวนพลู สาธร กรุงเทพฯ ร้านนี้ร้านเดียวเท่านั้น Facebook: pheebok beer

 

12744656_1142922059073766_8498620030005269932_n

3. KING KONG Beer
คิงคอง (King Kong) จุดเริ่มต้นของพวกเขาเริ่มจากทีมงานเดินทางไปเที่ยวเชียงคาน แล้วไปพบกับเบียร์ช็อคโกแลตของโจ๋เบียร์ นอกจากอร่อยแล้ว พวกเขายังประทับใจความแปลกใหม่ที่ต่างจากเบียร์ลาเกอร์ธรรมดาที่มีในตลาด พอได้พูดคุยกับคุณโจ๋เจ้าของแบรนด์ จึงได้รู้ว่าคนธรรมดาๆ ก็สามารถต้มเบียร์เองได้ คุณโจ๋ก็แนะนำให้มาเรียนการต้มเบียร์กับพี่ชิตแห่ง Chitbeer พอกลับมาจากเชียงคาน การเดินทางบนถนนสายคราฟท์เบียร์ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อได้ลองต้มเบียร์ก็รู้สึกถึงความท้าทายที่ได้ทดลองอะไรใหม่ๆ

เอกลักษณ์ของ KING KONG Beer เบียร์มาตรฐานที่ใส่ใจเป็นพิเศษว่ากำลังต้มเบียร์เพื่อดื่มเอง ความสะอาดต้องมาก่อน ใส่วัตถุดิบเต็มที่ ถ้าจะทำให้เบียร์ดีขึ้นต้นทุนไม่สำคัญ แต่เนื่องจากพวกเรายังใหม่ในวงการอยู่มาก จึงบอกเราว่ายังอยู่ในช่วงของการเรียนรู้ การดูใจกันระหว่างเรากับมอลต์ชนิดต่างๆ การทำความสนิทสนมกับยีสต์ การออกเดทกับฮอปส์สายพันธุ์ต่างๆ แต่ก็รู้สึกพบรักกับ Porter ซึ่งทางแบรนด์จึงได้ทำเป็นสไตล์ของตัวเองโดยใช้ชื่อว่า Holy Porter ซึ่งเป็นตัวที่ตั้งใจจะทำให้เป็นจุดขาย ส่วนอีกตัวที่เขากำลังค้นคว้าหาทางทำให้ออกมาให้ได้อย่างใจคือ New Zingle Pale Ale เป็นเบียร์ที่ใช้ฮ็อปตัวเดียวลากยาวเป็นพระเอกได้ความหอมและขมที่ดีมาก นอกนั้นยังมีเบียร์อีกหลายสไตล์ เช่น IPA, Lychee cream Ale บางตัวก็ต้มตามคำสั่งซื้อของลูกค้า
ตอนนี้เบียร์ยังไม่ได้วางจำหน่ายที่ไหนเป็นทางการ แต่ถ้าสนใจจะรับคิงคองไปดูแลติดต่อในเพจคิงคองเบียร์ได้เลย  Facebook: Kingkong beer

 

logo_wizard_brew
4. Wizard Brew

พ่อมดน้องใหม่ของวงการเบียร์คราฟท์ไทย จากเมืองพัทยา ชลบุรี กับจุดเริ่มต้นที่เกิดจากความชอบดื่มเบียร์ จนเป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาร่ายคาถาต้มเบียร์ของตัวเองกันแบบจริงจัง ตั้งแต่ศึกษาหาข้อมูลด้วยตัวเอง ทุ่มเทลงเรียนทำเบียร์กับพี่ชิต -วิชิต ซ้ายเกล้า พ่อมดสายแข็งที่ขึ้นชื่อเรื่องการทำเบียร์คราฟท์ไทยกันกว่าครึ่งปีที่เกาะเกร็ด จากนั้นก็ทดลองและพัฒนามาเรื่อยๆ ใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิต ผสมผสานเทคนิคทั้งทางวิทยาศาสตร์และศิลปะ เช่น การควบคุมอุณหภูมิ ทำอย่างไรให้เบียร์หอม รสชาติดี จนได้เบียร์ในสไตล์ของตัวเองใต้คำนิยามว่า State of the Art

ถึงจะเป็นเบียร์พ่อมดแต่รสชาติก็ใช่ว่าจะดุร้าย น่ากลัว เพราะเป็นพ่อมดสายขาว ตั้งใจเสกของดี ของอร่อยให้ดื่มกันมากกว่า เหมือนในภาพยนตร์ที่ตัวละครไปเจอพ่อมดใจดีปรุงของวิเศษให้ดื่มแล้วรู้สึกดี

เบียร์ทุกตัวของ Wizard Brew จะเน้นดื่มง่าย ดื่มได้เรื่อยๆ ไม่หนักมาก แอลกอฮอล์ 4.5 – 5.5 % และใส่ส่วนผสมหลักแค่ 4 ตัวเท่านั้น คือ ยีสต์ น้ำ ฮ็อป และมอลล์ ไม่เติมวัตถุดิบอื่นๆ เข้าไปเพื่อให้เบียร์ คือเบียร์จริงๆ โดยตอนนี้มีให้ดื่มกัน 4 ตัว คือ 1.Pilsner แอลกอฮอล์ 4.5 % หอมกลิ่นมอลล์ชัดเจน และฮ็อปเล็กน้อย รสชาติไม่ขมติดหวานปลายนิดๆ ดื่มแล้วรู้สึกสดชื่น 2. IPA แอลกอฮอล์ 5 % เบียร์ที่หอมกลิ่นฮ็อปแบบฟรุตตี้ ทั้งสับปะรด เสาวรส มะม่วง พีช กับรสชาติแบบผลไม้ 3. Porter แอลกอฮอล์ 5.2 % กลิ่นหอมแบบกาแฟช็อกโกเลตที่มาจากมอล์ลคั่ว 4. Weizen แอลกอฮอล์ 5 % ได้กลิ่นยีสต์ที่นำเข้าจากเยอรมัน หอมฮ็อปและกลิ่นกล้วยบางๆ รสนุ่ม

ใครที่อยากลองดื่มเบียร์ของพ่อมดอาจจะต้องอดใจรอกันสักนิด เพราะตอนนี้ยังไม่เปิดจำหน่ายตามเว็บไซต์หรือเฟซบุค แต่ถ้าโชคดีหน่อยผ่านไปแถวโรงแรมในพัทยาสาย 2 อาจจะหาดื่มได้บ้าง ระหว่างรอ ก็ไปกดสมัครเป็นแฟนเพจของ Wizard Brew รอก่อนได้
Facebook: wizard brew

Categories: all , Eat & Drink