ใบไม้ที่รอการเผา แปรรูปสู่สินค้าส่งออกที่ทั่วโลกยอมรับ “Mr.Leaf”

สำหรับคนที่อยู่ในเมือง ใบไม้คือขยะ เพราะมันทำให้บ้านและถนนสกปรก
สำหรับชาวบ้านที่อาศัยร่วมกับป่าไม้ ใบไม้เหล่านี้ผูกพันกับเขาตั้งแต่เกิด บางคนก็ใช้เป็นสมุนไพร บางคนก็ใช้เป็นปุ๋ย
แต่สำหรับ ปรเมศร์ อุปราช ใบไม้เหล่านี้สามารถเป็นได้มากกว่านั้น

ปรเมศร์ สายอุปราช (ปอ) เจ้าของแบรนด์ Mr.Leaf เล่าว่า “ผมสังเกตเห็นว่า ใบตองตึงที่ชาวบ้านในภาคเหนือใช้ในการมุงหลังคานั้นมีประโยชน์มาก เพราะใบตองตึงมีเส้นใยที่หนาและทนทาน แต่ปัจจุบันชาวบ้านไม่ได้นำใบตองตึงมามุงหลังคาอีกแล้ว เพราะในชีวิตจริงสามารถใช้วัสดุอื่นๆ มุงหลังคาได้ดีกว่าและง่ายกว่า ใบตองตึงจึงถูกลืมหาย กลายเป็นกองขยะที่รอถูกเผา ผมจึงเกิดไอเดียที่อยากจะรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านให้คนรุ่นหลังได้สืบต่อไป”

ที่มาของสินค้าของ Mr.Leaf

ปรเมศร์ : ใบไม้แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ใบไม้ชนิดเดียวกันก็ยังมีลวดลายที่ไม่เหมือนกันอีก ผมจึงคิดว่าหากนำมาทำเป็นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน คนก็จะเห็นคุณค่าของใบไม้มากขึ้น และเข้าใจในสิ่งที่เราทำมากขึ้น

ตั้งแต่ปี 2004 ผมกับเพื่อนชาวญี่ปุ่นจึงร่วมกันวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้ใบตองตึงมีความทนทานและสามารถนำมาเป็นสินค้าที่ใช้ได้หลายปีโดยไม่เปื่อยยุ่ย การค้นคว้าและวิจัยใช้เวลานานพอสมควรเพราะเราต้องทำให้ใบไม้มีความทนทานไม่ต่างจากวัสดุอื่นๆ
ปัจจุบัน Mr.Leaf จะรับซื้อใบตองตึงจากชาวบ้านกิโลกรัมละ 20 บาท จากนั้นก็นำมาตากแดด อบให้แห้งเพื่อไม่ให้เกิดเชื้อรา ก่อนจะนำมาตัดเพื่อนำไปเย็บเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ

โดย Mr.Leaf มีสินค้าหลากหลายตั้งแต่ รองเท้าแตะ เคสมือถือ กระเป๋าขนาดไซส์ต่างๆ จนไปถึงอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน แต่แนวคิดของเราคือ อยากให้เป็นสินค้าที่คนสามารถหยิบมาใช้หรือมีส่วนร่วมได้ทุกวัน

 

วิธีคิดต้องนำทักษะ

ปรเมศร์ : ผมเชื่อนะว่า วิธีคิดสำคัญกว่าทักษะ เพราะถ้าวิธีคิดเราถูกต้อง ทักษะค่อยไปพัฒนาต่อได้ แต่ถ้าวิธีคิดไม่ถูกต้องทุกอย่างมันยากไปหมด อย่างสินค้า Mr.Leaf ก็ไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาลอกเลียนแบบ เพราะวิธีคิดมันขโมยไม่ได้

นอกจากใบตองตึง Mr.Leaf ยังนำกาบกล้วยและใบกล้วยมาเป็นวัตถุดิบ จุดเริ่มต้นเกิดจากผมได้เห็นชาวเชียงใหม่ที่ปลูกข้าวโพด หันมาปลูกกล้วย เพราะการปลูกกล้วยนั้นได้ผลผลิตเร็ว ใช้ประโยชน์จากกล้วยได้ทุกส่วน และกล้วยก็อยู่คู่คนไทยมาตั้งแต่เกิดจนตาย ผมจึงนำกาบและใบ มาวิจัยและพัฒนา เพื่อทำให้กาบและใบกล้วยสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าได้ ไม่ต่างจากใบตองตึง

ปัจจุบัน Mr.Leaf ทำการวิจัยและพัฒนา ใบไม้ถึง 10 ชนิด สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชนในภาคเหนือ ทั้งด้านการเก็บใบไม้มาขาย และการนำใบไม้มาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ

 

โอกาสเป็นของคนที่เห็น และกล้าลงมือทำ

ขนาดใบหูกวางที่เหมือนไม่มีค่า ยังมีคนนำไปตากแห้งขายในอินเตอร์เน็ต เพราะมันคือสารอาหารชั้นเยี่ยมให้ปลากัด

เช่นเดียวกับแบรนด์ Mr.Leaf ที่ไม่ได้เกิดมาเพราะเจ้าของเคยทำธุรกิจที่เกี่ยวกับใบไม้มาก่อน แต่เกิดจากการสังเกตเห็นโอกาส ศึกษาพัฒนาโอกาสนั้น และ ลงมือทำให้เป็นจริง
ฉะนั้นถ้าคุณมีไอเดียอะไรบางอย่าง อย่าดองไว้นานเกินจนไม่ได้ลงมือทำล่ะ !!

ภาพ : Mr.Leaf Thailand

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , TALKS