Mae Teeta เสื้อผ้าที่เครื่องจักรก็เลียนแบบไม่ได้

 

💫ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณมอญ จากแบรนด์เสื้อผ้าคราฟต์ Mae Teeta (แม่ฑีตา) ที่ทำผมแปลกใจ และประทับใจมากในเวลาเดียวกัน กับเรื่องราวของเสื้อผ้าที่ถูกออกแบบมาได้อย่างลงตัว สามารถใส่ได้ทุกวัน เสื้อหลายตัวสวยมากจนทำให้ผมอยากได้มาใส่บ้าง ด้วยความประทับใจนี้ทำให้ผมเลยอยากมาเล่าให้ทุกคนฟังกัน

👗ผมเริ่มต้นด้วยคำถามที่ดูเรียบง่าย แต่เรื่องราวที่คุณมอญเล่าให้ฟังนั้นเต็มไปด้วยความสนุก และเต็มไปด้วยความรู้สึกต่าง ๆ กับการเดินทางของ แบรนด์ Mae Teeta เริ่มแรก คุณแม่จิ๋ว (ประไพพันธ์ แดงใจ) ตัดสินใจลาออกจากงานราชการกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดที่จังหวัดสกลนคร กลับมาทำเกษตรอินทรีย์ และคิดถึงการทำผ้าย้อมครามของคุณยายเลยได้ปรึกษาแม่ (ฑีตา จันทร์เพ็งเพ็ญ) ในเรื่องนี้

แต่ว่าแม่ฑีตาเพียงแค่เคยเห็นคุณแม่ และคุณยายทำผ้าย้อมครามใช้ในบ้าน สมัยตอนที่แม่ฑีตายังเด็ก ซึ่งงานย้อมครามเป็นงานที่หนัก สกปรก เหม็น เล็บดำ ไม่คิดสนใจจะทำ การย้อมครามจึงเป็นเพียงความทรงจำสมัยเด็กของแม่ฑีตาเท่านั้น คุณแม่จิ๋วเลยเริ่มรื้อฟื้นขั้นตอนการย้อมครามจากความทรงจำของแม่ฑีตา🔵 ไปตามหาคนแก่เล็บดำตามตลาดที่ชาวบ้านชอบไปเก็บของป่ามาขาย เพื่อให้ช่วยออกไปตามหาต้นครามในป่า ใช้เวลาหลายปีจนในที่สุดก็เจอต้นคราม และได้เริ่มต้นลองทำ ลองผิดลองถูกกันอยู่เรื่อย ๆ ลองเพาะปลูกขยาย แล้วก็ให้แม่ฑีตาลองหมักหม้อครามจากความทรงจำขึ้นมาใหม่ ทดลองกันมาเรื่อยๆ จนได้สีย้อมครามที่เป็นสีของเสื้อผ้าของแบรนด์ Mae Teeta อย่างที่เห็น

🎉จุดเด่นของแบรนด์ Mae Teeta นั้นค่อนข้างชัดในเรื่องของดีไซน์ แต่ว่ายังมีอย่างอื่น ที่ผมอยากรู้เกี่ยวกับแบรนด์ Mae Teeta ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจุดเด่น และเอกลักษณ์อื่น ๆ ของเสื้อผ้า Mae Teeta อีกว่ามีอะไรบ้าง?

⭐คุณมอญเล่าให้ฟังว่า นอกเหนือจากดีไซน์เสื้อผ้าของ Mae Teeta ยังมีอย่างอื่นที่เป็นจุดเด่นอีก ไม่ว่าจะเป็น เฉดสี กลิ่นของผ้าหลังย้อมสี texture และลายทอที่ร่วมสมัยของผ้าสีครามน้ำเงินที่ดูสบายตา และยังเป็นเฉดสีที่เฉพาะ ไม่มีสีเคมีของที่ไหนสามารถลอกเลียนแบบให้เหมือนได้ กลิ่นของครามจะมีกลิ่นหมักเฉพาะ สีที่คนเห็นรู้สึกว่าผ้าที่เห็นนั้นมีมิติ เพราะว่าเฉดสีน้ำเงินที่ไม่ได้มีแต่สีน้ำเงินเท่านั้น เพราะในสีเหล่านั้นยังมีมิติของสีอื่น ๆ ความลึกของสีน้ำเงินธรรมชาติที่แตกต่างจากสีน้ำเงินอุตสาหกรรมทั่วไป ด้วยที่ว่าเราใช้เป็นผ้าทอ ปั่นเส้นด้ายฝ้ายด้วยมือ ผ้าทอออกมาก็จะมี texture ที่แตกต่างจากผ้าทออุตสาหกรรม และเราเน้นชูลายทออีสานที่ร่วมสมัย

💕ยิ่งได้ฟังผมเรื่องกระบวนการทำเสื้อผ้า ผมยิ่งรู้สึกประทับใจมากเพราะว่า กว่าจะได้เสื้อผ้าแต่ละชิ้น ต้องเริ่มกันตั้งแต่การปลูกฝ้าย เข็นเส้นด้ายฝ้ายด้วยวิธีดั้งเดิม (อิ้วฝ้าย) ปลูกต้นคราม สกัดสีครามออกมาจากใบครามด้วยน้ำด่างธรรมชาติ หมักหม้อย้อมครามให้เกิดจุลินทรีย์ธรรมชาติ นำเส้นด้ายฝ้ายมาจุ่มย้อมคราม (Oxidation), การทอผ้าด้วยกี่โบราณแบบมือ และตีนเหยียบไม้ไผ่ โดยที่กระบวนการทำทั้งหมดไม่มีการใช้เครื่องจักรในขบวนการทำผ้า แล้วก็เอาผ้ามาออกแบบตัดเย็บทั้งหมด เป็นงานทำมือ ที่ต้องใช้ทั้งประสบการณ์ และความประณีตใส่ใจในทุกขั้นตอนทั้งหมดจริง ๆ

ทุกครั้งที่ผมได้พูดคุยกับคนที่ทำงานคราฟต์ก็ไม่ได้ลืมที่จะถามคำถามนี่ “คุณมอญคิดว่างานคราฟต์ในประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต?”

คุณมอญมองว่า ในช่วง 10 ปีมานี้ มีการเปลี่ยนแปลงไปมาก เราเติบโตมาในรถกระบะของแม่ วิ่งเล่นในงาน OTOP มาตั้งแต่ยุคแรก เราช่วยงานคุณแม่จิ๋วตั้งแต่ประถม ปัจจุบันผู้บริโภคใจดีขึ้นมาก เรารู้สึกว่าเราได้รับการยอมรับมากขึ้นจากแต่ก่อนมาก เดี๋ยวนี้ทุกคนรู้ว่า Mae Teeta เป็นเสื้อผ้าย้อมคราม มาถึงก็ขอดมกลิ่นผ้าก่อนเลย ผู้บริโภคเปิดใจมากขึ้น และคิดว่าในอนาคตก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆค่ะ คิดว่าคนอื่นจะไม่ได้มองว่าของพวกนี้เป็นของแปลกอีกต่อไป

👍สุดท้ายนี้คุณมอญ และทางแบรนด์ Mae Teeta คาดหวังให้สิ่งที่ทำอยู่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของผู้คนได้ อยากให้คนใส่เสื้อผ้าที่เราทำ อยากให้มันเป็นไอเทมที่ร่วมสมัยไปอีกนาน ๆ รวมถึงอยากขอบคุณทุกคนที่สนใจ และมองเข้ามาที่แบรนด์ Mae Teeta เราคิดว่าความรู้สึกแรก ๆ ที่ได้รับ มันมีทั้งคำว่าแพง และไม่จำเป็น ไม่รู้จะซื้อไปใช้ตอนไหน เราเติบโตมาจากการถูกได้ยินคำพวกนี้มาตั้งแต่เด็กจนโตจนตอนนี้อายุเลย 30 มาแล้วก็ยังได้ยินถึงแม้จะน้อยลง คนสนใจถือเป็นคนกลุ่มเฉพาะกลุ่มเล็กมากๆ แต่คนกลุ่มเล็กเหล่านี้ก็สนับสนุนกันมาตลอด ลูกค้าบางคนซื้อตั้งแต่เราสิบขวบ จนตอนนี้ถือไม้เท้าก็ยังมาอุดหนุนเราอยู่ เราอยู่ได้เพราะลูกค้ากลุ่มเล็ก ๆ เหล่านี้ ขอบคุณจากใจจริง

 

Content Creator

Categories: Craftmanship , TALKS