ตามรอยไม้หมอน…ที่เมือง กาญจนบุรี

เมือง กาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว

 

หากมาเยือนตัวเมือง กาญจนบุรี “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ที่ ตำบลท่ามะขาม คงเป็นสถานที่แรกที่เรานึกถึง เพราะเป็นเสมือนแลนด์มาร์กของเมือง กาญจนบุรี เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 มากมาย และสะพานแห่งนี้ก็เป็นอนุสรณ์สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพื่อย้ำเตือนให้เห็นถึงผลกระทบที่โหดร้ายของสงครามและเพื่อส่งเสริมสันติภาพ

 

การมาเดินเที่ยวเฉยๆ อาจจะไม่ได้ทำให้เราอิน ได้เท่ากับได้รับรู้เรื่องราวของสถานที่นั้นๆ และเข้าใจถึงความสำคัญของมันมากขึ้น เรื่องราวของสะพานแห่งนี้ ขอย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2484 ซึ่งเป็นช่วงที่กองทัพญี่ปุ่นได้เข้าใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านเพื่อไปยังประเทศพม่า และได้สร้างทางรถไฟ เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงยุทธปัจจัยที่จำเป็น โดยได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร คือ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดา และนิวซีแลนด์ประมาณ 61,700 คน และกรรมกรชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดียอีกจำนวนมาก มาก่อสร้างเส้นทางรถไฟ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแควเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางรถไฟ ที่ยาว 415 กม. ซึ่งมีอีกชื่อหนึ่งที่คนเรียกกันว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” นั่นเพราะในระหว่างการก่อสร้างมีผู้คนเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ทั้งจากการทารุณของสงคราม ความยากลำบากจากโรคภัยและการขาดแคลนอาหาร ว่ากันว่าหมอนรถไฟแต่ละอันนั้นนับเป็นหนึ่งชีวิตเลยทีเดียว

 

สะพานแห่งนี้ใช้เวลาสร้างเพียง 1 เดือน โดยนำเหล็กจากมลายูมาประกอบเป็นชิ้น ๆ ตอนกลางทำเป็นสะพานเหล็ก 11 ช่วง หัวและโครงสะพานเป็นไม้ เปิดใช้อย่างเป็นทางการในปี 2486 แต่ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2487 ได้ถูกทิ้งระเบิดจนสะพานได้รับความเสียหายหนัก จนภายหลังสงครามสิ้นสุดลง รัฐบาลไทยได้ซ่อมแซมใหม่ด้วยเหล็กรูปเหลี่ยม เมื่อปี 2489 จนสามารถใช้งานได้ ต่อมาได้มีการยกย่องให้สะพานแห่งนี้เป็น สัญลักษณ์แห่งสันติภาพ

 

เมือง กาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแคว

เกร็ดประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่งของสะพาน คือที่มาของชื่อ “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เพราะเดิมไม่ได้มีการตั้งชื่อสะพานอย่างเป็นทางการ แต่ในปี 2500 ทางฮอลลีวูดได้มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “The Bridge on the River Kwai” ที่สร้างชื่อเสียงโด่งดัง และกวาดรางวัลมากมายจากทั่วโลก ทั้งยังได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังที่ดีที่สุดตลอดกาล (ความจริงแล้ว สะพานที่ใช้ถ่ายทำจริง ไม่ใช่สะพานแห่งนี้ แต่เป็นสะพานที่ทำจำลองขึ้นที่เมือง Kitugala ในศรีลังกา) จนเกิดแฟนๆ ที่อยากตามรอยหนัง และเดินทางมายังเมืองกาญจน์เพื่อตามหาสะพานกันมากขึ้น สะพานและ กาญจนบุรี กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกเพราะความสำเร็จของหนัง จนต่อมาทางจังหวัดฯ ได้ตัดสินใจตั้งชื่อสะพานที่ท่ามะขามนี้ให้เป็น “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” เช่นเดียวกับภาพยนตร์

 

เราได้มาเดินย้อนรอยบนเส้นทางสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นระยะทางสั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ และเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่ได้ถูกดึงดูดด้วยปูมหลังทางสงครามหรือความโด่งดังจากภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว หากบรรยากาศและความสวยงามที่สามารถมองเห็นคุ้งน้ำที่สวยงามได้สุดสายตา ยังดึงดูดให้ใครหลายๆ คนต้องมาชื่นชมสะพานแห่งนี้

 

เมือง กาญจนบุรี แม่น้ำแคว

ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำแควยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมาก ใครหิวก็มีร้านอาหารริมน้ำหรือบนแพไว้คอยบริการ และใกล้กันยังเป็นสถานีรถไฟ “สะพานแควใหญ่” ซึ่งเราสามารถนั่งรถไฟไปน้ำตกไทรโยคน้อย หรือไปถ้ำกระแซได้ด้วย แต่ก่อนเดินทางแนะนำว่าต้องเช็คตารางการเดินทางรถไฟก่อน เพราะแต่ละสถานที่ใช้เวลาเดินทางไปกลับอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1-2 ชม. แนะนำว่าถ้าใครชอบบรรยากาศชิลล์ ๆ ชมวิวธรรมชาติริมข้างทางรับลมเย็นๆ การนั่งรถไฟสายนี้ คงถูกใจแน่นอน

 

เมือง กาญจนบุรี สะพานแควใหญ่

เมือง กาญจนบุรี สะพานแควใหญ่

ใครที่ยังอินกับเรื่องราวของสงครามโลกครั้งที่ 2 อยู่ ก็สามารถไปหาความรู้เพิ่มเติมได้จากสถานที่หลายๆ แห่งในตัวเมือง กาญจนบุรี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากสะพานมากนักไม่ว่าจะเป็น “สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก” สุสานฝ่ายเชลยศึกที่เสียชีวิต และ “พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่า” ซึ่งเป็นนิทรรศการตั้งอยู่ติดกับสุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรักว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์การสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (เปิดให้ชมทุกวัน 9.00-17.00 น.) “พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก” ตั้งอยู่ในวัดไชยชุมพลชนะสงคราม ตัวอาคารจำลองแบบค่ายเชลยศึกสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เก็บรวบรวมภาพถ่าย เครื่องมือเครื่องใช้ อาวุธ และความโหดร้ายของสงคราม (เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา 8.00-18.00 น.)

 

Contact:
สอบถามเวลาการเดินทางรถไฟ 034 511 285
สุสานทหารพันธมิตรดอนรัก ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 034511500
พิพิธภัณฑ์ทางรถไฟไทย-พม่า ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 034512721
พิพิธภัณฑ์สงครามอักษะและเชลยศึก ติดต่อสอบถามได้ที่เบอร์ 034511263

Categories: