สัมผัสความงามในความสามัญ กับ ‘POTs – The Vessels ภาชนะ พา ชนะ’

ถ้าพูดถึงเซรามิกในประเทศไทย หลายคนอาจจะมีภาพของ เครื่องเบญจรงค์ หรือเครื่องเคลือบศิลาดล ผุดพรายขึ้นมาในหัว ภาพจำที่เรารู้จักเซรามิก มักจะเป็นของเก่าแก่ เป็นงานฝีมือที่ควรแก่การถูกอนุรักษ์มากกว่าของใช้ที่เราพบเจอได้ตามปกติ แต่ที่จริงแล้วยังมีกลุ่มศิลปินไทยอีกมากมายที่สามารถสร้างสรรค์งานเซรามิกสมัยใหม่ ให้ออกมาสวยงามและใช้งานจริงได้อยู่

นิทรรศการ ‘POTs – ภาชนะ พา ชนะ’ ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคม Potters of Thailand เป็นการเปิดพื้นที่สำหรับงานเซรามิกร่วมสมัย เพื่อนำเสนอความงามของเครื่องปั้นดินเผายุคใหม่ ที่ไม่ได้ออกแบบมาเป็นเพียงสิ่งสวยงามประดับบ้าน หากแต่เป็นถ้วยชามภาชนะที่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน

โดยสื่อสารผ่านผลงานของศิลปินและช่างฝีมือด้านเซรามิคระดับโลก 12 คน จาก 5 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ราชอาณาจักรสวีเดน และประเทศไทย ที่ล้วนแล้วแต่ถ่ายทอดความงามในความธรรมดาออกมาอย่างสร้างสรรค์ โดยใช้เพียง ดิน และ ไฟ เป็นองค์ประกอบหลัก

ในความสามัญของการเป็นภาชนะสำหรับใช้งาน พวกเขาได้ออกแบบ ตีความ โจทย์ของการเป็นเครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัย จนได้ออกมาเป็นผลงานเซรามิกที่แม้จะมีหน้าตารูปร่างคุ้นเคย แต่กลับซุกซ่อนไว้ด้วยแนวคิด และเอกลักษณ์ของผู้สร้างที่ถ่ายทอดออกมาเป็นชิ้นงาน

ดินแต่ละชนิด มีแร่ธาตุ และส่วนประกอบภายในไม่เหมือนกัน เมื่อนำไปผ่านความร้อนย่อมทำปฏิกริยาจนออกมามีสีสัน และลวดลายแตกต่างกัน ตามแต่ชนิดของดิน เทคนิคการขึ้นรูป และเทคนิคการเผา อย่างผลงานของ อ้อ สุทธิประภา จาก Small Studios เป็นงานเซรามิกจากดินพอร์สเลน หรือดินขาว ซึ่งมีคุณสมบัติโปร่งแสง เมื่อนำมาขึ้นรูป และใช้เทคนิคการขูดลายกับเจาะรู จึงออกมาเป็นชิ้นงานที่มีมิติในวัสดุเมื่อมีแสงส่องผ่าน สร้างประสบการณ์ในการใช้งานที่น่าประทับใจให้แก่ผู้ใช้

ผลงานของ โยชิโกะ ทากาฮาชิ ศิลปินรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่น จากตระกูลเครื่องปั้นดินเผาจังหวัดชิการากิ ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่มีประวัติศาสตร์เครื่องปั้นดินเผายาวนาน ผลงานของเธอโดดเด่นด้วยการใช้เตาฟืนในการเผา ซึ่งนับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญไม่น้อย เนื่องจากความไม่คงที่ของไฟ และแร่ธาตุจากขี้เถ้าฟืนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง มักจะมีผลต่อสีสัน และลวดลายบนชิ้นงาน ซึ่งผลงานของเธอก็สามารถแสดงออกถึงความช่ำชองในการใช้ไฟได้อย่างเด่นชัด

หรือผลงานรูปร่างแปลกตาของ โม จิรชัยสกุล ที่ใช้วัสดุเซรามิกหลากชนิด เช่น ดินเหนียว วัสดุเคลือบ เศษแตกของดินเผาที่นำมาบด ขึ้นรูปรวมกันอย่างหยาบๆ จากนั้นใช้เทคโนโลยี CNC กัดเนื้อดินให้เป็นรูปทรงของภาชนะก่อนนำไปเผา รูปทรงที่ได้เกิดจากการคว้านเข้าไป มากกว่าการขึ้นรูปด้วยการปั้น ผลงานของเขาจึงสามารถสะท้อนแนวคิดการปฏิสัมพันธ์ระหว่าง เนื้อวัสดุ มนุษย์ และวัฒนธรรมที่เขาเชื่อออกมาได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ยังมีผลงานของศิลปินเซรามิกคุณภาพอีกมาก ไม่ว่าจะเป็น John Neely ศาตราจารย์สาขาเครื่องปั้นดินเผาจากสหรัฐอเมริกา, Jennifer Lee จากประเทศอังกฤษ, Kennet Williamsson อาจารย์ประจำโรงเรียนศิลปะและการออกแบบ จากประเทศสวีเดน รวมถึงศิลปินและนักปั้นชาวไทย และญี่ปุ่นอีกหลายท่านที่ร่วมกันกลั่นกรอง และส่งผ่านความงามในรูปแบบของภาชนะออกมาได้อย่างงดงาม มีเอกลักษณ์ เป้าหมายก็เพื่อสื่อสารไปยังผู้คนมากมายให้ได้รู้จักกับงานเซรามิกร่วมสมัย ที่เข้าใกล้ชีวิตพวกเขามากกว่าที่ผ่านๆ มา

POTs – The Vessels

แม้เครื่องปั้นดินเผาร่วมสมัยจะยังไม่ได้รับความสนใจในบ้านเรามากนัก แต่นิทรรศการภาชนะในครั้งนี้ก็นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของวงการเซรามิกไทย ที่จะพาผู้คนให้หลุดพ้นจากกรอบความเข้าใจเก่าๆ และพาพวกเขาไปสัมผัสกับความเป็นไปได้มากมายที่ ดิน และ ไฟ จะสามารถถ่ายทอดออกมาได้

ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมนิทรรศการ POTs – The Vessels ภาชนะ พา ชนะ ได้ที่ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป์ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ นิทรรศการจะจัดแสดงถึงวันที่ 30 มี.ค. 62 นี้

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: CRAFT INSIGHT , News