เครื่องประดับเงินเป็นสิ่งที่ถูกส่งต่อแพร่หลายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ส่งผลให้แม้จะเป็นเครื่องประดับที่ทำขึ้นจากแร่เงินเหมือนกัน แต่หน้าตารูปลักษณ์ของเครี่องเงินก็จะแตกต่างออกไปตามฝีมือของครูช่างแต่ละพื้นที่
เวลาพูดถึงเครื่องเงินอีสาน หลายคนอาจจะพุ่งเป้าไปมองถึงเครื่องประดับเงินเขวาสินรินทร์ จากจังหวัดสุรินทร์ ที่มีต้นกำเนิดสืบเชื้อสายจากเขมร และโด่งดังด้านการทำเครื่องเงินแบบ ตะเกา และปะเกือม แต่ที่จริงในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ก็ยังมีอัตลักษ์ของเครื่องเงินที่น่าสนใจซ่อนอยู่เช่นกัน
จังหวัดเล็กๆ อย่าง นครพนม ก็เป็นอีกพื้นที่ซึ่งมีเอกลักษณ์ของเครื่องเงินที่น่าสนใจ ทั้งความบางและประณีตในการขึ้นรูปเงิน รวมถึงการตีลวดลาย จึงมีความแตกต่างจากงานจากฝั่งเขมรที่เน้นหนักไปทางการผลิตเครื่องประดับที่มีหน้าตาคล้ายเม็ดประคำ หรือประเกือม ในภาษาเขมร
เนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาว ลักษณะพิเศษของเครื่องเงินนครพนมจึงมีเค้าโครงผสมผสานคล้ายกับช่างฝีมือชาวลาวอยู่หลายส่วน ช่างฝีมือชาวลาวที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาทำงานฝั่งประเทศไทย ได้เข้ามาเผยแพร่ศาสตร์การทำเครื่องเงิน และเปิดตลาดเครื่องเงิน ซึ่งใช้เป็นพื้นที่ค้าขายแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเครื่องเงินมาช้านาน
และเมื่อปีที่ผ่านมาช่างฝีมือจากนครพนมก็ได้สร้างชื่อเสียงให้กับนครพนมด้วยการได้รับคัดเลือกให้เป็นสถานที่ผลิต ‘มาลัยกรดอกมะลิ’ ที่ทำจากเครื่องเงินเพื่อมอบเป็นของขวัญที่ระลึกให้แก่ผู้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ นับเป็นความสำเร็จอย่างงดงามในการเปิดตัวอัตลักษณ์เครื่องเงินนครพนมให้เป็นที่รู้จัก
สำหรับใครที่ชื่นชอบเครื่องประดับลาวโบราณ หรืออยากลองซื้อเครื่องประดับเงินสวยๆ ฝีมือช่างท้องถิ่น ก็ลองไปเลือกดูที่จังหวัดนครพนมกันได้ แหล่งร้านเครื่องเงินบริเวณริมฝั่งโขงมีมากมายให้คุณซื้อหาได้ โดยไม่ต้องไปไหนไกล