Leather 101 – ประวัติเครื่องหนัง ขั้นตอนการทำ และ แบรนด์เครื่องหนัง

ประวัติของหนัง

หนัง (Leather) เป็นวัสดุที่มนุษย์ใช้มาตั้งแต่ยุคหิน เนื่องจากมุนษย์ยุคหินล่าสัตว์เป็นอาหาร หนังสัตว์ (Animal Hides) จึงเป็นวัสดุสำคัญของมนุษย์ยุคนั้น โดยหนังในยุคนั้นถูกนำมาทำเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย หรือที่รองเขียน แต่ในยุคหินมนุษย์ยังไม่รู้จักวิธีการแปรสภาพหนังสัตว์ หนังที่ได้ก็จะแข็งตัวเมื่ออุณหภูมิต่ำ และเปื่อยเน่าเมื่ออุณหภูมิสูง

ประวัติของหนังสัตว์ การล่าสัตว์

ต่อมามนุษย์เริ่มรู้จักการทำให้หนังทนทานมากขึ้น ผ่านการรมควัน การตากแดด ทาด้วยไขมันสัตว์ และสุดท้ายมาพบกับวิธีที่ดีที่สุดเรียกว่า ‘การฟอกหนัง Tanning’

การฟอกหนังสัตว์แต่ละชนิดมีวิธีที่แตกต่างกันออกไป แต่หลักสำคัญคือการเปลี่ยนโครงสร้างโปรตีนของหนังดิบ ทำให้หนังมีความคงทน และคงสภาพไปอีกหลายสิบปี โดยปัจจุบันหนังวัวเป็นหนังที่ได้รับความนิยมมากที่สุด

 

การฟอกหนังแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่

1.การฟอกฝาด (Vegetable Tanning) เป็นการนำแทนนิน (Tannin) สารสกัดธรรมชาติจากส่วนต่างๆ ของพืช มาใช้ในการฟอกหนัง โดยวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 1-3 เดือน เพื่อปรับสภาพหนังให้นุ่มโดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น

ข้อดี : การฟอกฝาดเป็นวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หนังที่ได้ก็จะมีความสวยงามแบบธรรมชาติ ยิ่งใช้นาน ยิ่งสวย
ข้อเสีย : มีขั้นตอนที่เยอะ ใช้เวลานาน ทำให้หนังฟอกฝาดมีราคาสูง

2.การฟอกโครม (Chrome Tanning) เป็นการฟอกหนังโดยใช้สารเคมี ได้แก่ โครเมียมซัลเฟต วิธีนี้จะใช้ทำให้หนังที่ได้มีสีฟ้า และเรียกว่า ‘Wet Blue’ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 วันเท่านั้น ปัจจุบันการฟอกโครมมีการเปลี่ยนวิธีไปหลากหลาย เพื่อสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ข้อดี : ใช้เวลาน้อย สารเคมีราคาไม่สูง ทนต่อความร้อนและความชื้นดีกว่า
ข้อเสีย : โรงฟอกหนังต้องมีการบำบัดสารเคมี และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โรงฟอกหนัง คืออะไร

โรงฟอกหนังในปัจจุบัน (Tannery)

 

ปัจจุบันหนังแท้ส่วนใหญ่จะฟอกด้วยวิธีการฟอกโครม ซึ่งประหยัดเวลาและต้นทุนมากกว่า ซึ่งเหมาะกับการผลิตสินค้าสำเร็จรูปในโรงงานที่ต้องการปริมาณมาก

ในขณะที่หนังฟอกฝาดจะนิยมขายเป็นแผ่นเพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าแฮนด์เมด และงานคราฟต์ต่างๆ โดยหนังฟอกฝาด มีราคาเฉลี่ยสูงกว่าหนังฟอกโครม ประมาณ 2-3 เท่า

การฟอกฝาดและการฟอกโครม เป็นขั้นตอนพื้นฐานในการแปรสภาพหนังวัวหรือหนังควาย (Cattle Leather) ส่วนหนังประเภทอื่นๆ ก็จะมีการเพิ่มหรือลดขั้นตอนของการฟอกหนังตามคุณสมบัติของหนังแต่ละชนิด

 

หนังสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังแท้ และ หนังเทียม

หนังแท้ หมายถึง หนังจากสัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ โดยหนังแท้นิยมแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

หนังวัวมีกี่แบบ

1.หนังวัวหรือควาย (Cattle Leather) เป็นหนังสัตว์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากคุณสมบัติที่มีความนุ่ม ความสวยงาม สามารถนำมาพัฒนาต่อเป็นหนังได้หลากหลายประเภท ได้แก่ Full Grain Leather, Top Grain Leather, Split Grain Leather, Nubuck Leather หรือ Suede Leather เป็นต้น

 

หนังแกะ

2.หนังแกะ หนังแพะ และหนังหมู (Sheep Goat and Pig Leather) เป็นหนังสัตว์ที่ได้รับความนิยมรองลงมาจาก หนังวัวหรือหนังควาย เนื่องจากมนุษย์นิยมนำสัตว์เหล่านี้มาทำอาหาร ทำให้หนังของมันจึงเป็นวัสดุที่เกิดขึ้นในกระบวนการ

 

หนังสัตว์อื่นๆ Exotic Leather

3.หนังสัตว์อื่นๆ (Exotic Leather) เช่น ช้าง ปลา กวาง นกกระจอกเทศ กระต่าย จระเข้ งู กิ้งก่า หมี สุนัขจิ้งจอก จิงโจ้ เป็นต้น หนังสัตว์อื่นๆ มักถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์สัตว์มาโดยตลอด เนื่องจากหนังสัตว์เหล่านี้มักได้มาจากการล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย ต่างจากหนังวัวที่มีการทำปศุสัตว์ที่ชัดเจน และสามารถเอาทุกส่วนมาใช้ประโยชน์ได้

 

หนังเทียม หรือ หนังสังเคราะห์ (Synthetic Leather)

หนังสังเคราะห์ คือ หนังทุกชนิดที่วัสดุส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากขั้นตอนธรรมชาติ โดยปัจจุบันหนังสังเคราะห์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีลักษณะและคุณสมบัติคล้ายคลึงหนังแท้มาก โดยหนังสังเคราะห์ที่นิยมใช้ มี 3 ประเภท ได้แก่

1.หนังพียู (Polyurethane Leather) คือ หนังสังเคราะห์ที่ใช้พลาสติกประเภทโพลียูรีเทนในการเคลือบพื้นผิวบนหนังชั้นสปลิต (Split Leather) อีกทีหนึ่ง เพื่อเลียนแบบพื้นผิวให้เหมือนหนังธรรมชาติ โดยปัจจุบันมีใช้ผ้าถัก ผ้าทอ และผ้าชนิดต่างๆ แทนการใช้หนังสปลิตเพื่อลดการใช้หนังธรรมชาติ และลดต้นทุนการผลิต

หนังพียูมักนิยมนำมาทำกระเป๋าหนังในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีการผลิตจำนวนมาก โดยอายุของหนังพียูจะอยู่ประมาณ 3-20 ปีตามคุณภาพ และการดูแลรักษา

หนังสังเคราะห์ หนังพียู หนังพีวีซี

2.หนังพีวีซี (Polyvinyl Chloride Leather หรือ Vinyl Leather) คือ หนังสังเคราะห์จากสารแคมีชนิดต่างๆ ได้แก่ พีวีซีเรซิน พลาสติไซเซอร์ และสารเติมแต่งชนิดต่างๆ โดยหนังพีวีซีจะไม่ใช้ส่วนประกอบหนังธรรมชาติเลย แต่จะใช้สารสังเคราะห์หลายชนิดที่ทำให้พลาสติกพีวีซีอ่อนตัว มีผิวสัมผัสเหมือนหนังธรรมชาติ

ความแตกต่างระหว่างหนังพีวีซีกับหนังพียู คือ หนังพีวีซีจะทนทานกว่าหนังพียูเนื่องจากมีการเติมสารเคมีหลายชนิดเพื่อลดจุดด้อยของหนังพียู แต่หนังพียูจะให้ผิวสัมผัสที่เหมือนหนังแท้มากกว่าหนังพีวีซี และมีราคาที่สูงกว่าเช่นกัน

โดยรวมแล้วหนังพีวีซีจะนิยมนำมาใช้กับเฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากมีราคาถูกที่สุด สามารถทำสีได้หลากหลาย และมีความทนทาน

 

3.หนังไมโครไฟเบอร์ (Micro Fiber Leather) คือ หนังสังเคราะห์ที่มีความคล้ายคลึงกับหนังพียูมาก เนื่องจากใช้สารโพลียูรีเทนเคลือบผิวด้านนอกเหมือนกัน แต่สารพียูที่ใช้ในหนังไมโครไฟเบอร์นั้นถูกพัฒนาขึ้นมาจากหนังพียู ทำให้มีความทนทานรอยขีดข่วน ความทนทานกรดและด่าง ความทนทานการย่อยสลายมากกว่าหนังพียูแบบเดิม รวมไปถึงราคาที่สูงกว่าเช่นกัน

นอกจากนั้นโครงสร้างที่แตกต่าง คือ ด้านในของหนังไมโครไฟเบอร์มีผ้าที่ทำจากไมโครไฟเบอร์ทำให้มีความนุ่มไม่แพ้ ยืดหยุ่น และทนทานกว่าหนังพียูนั่นเอง

 

วิธีการใช้หนังสังเคราะห์ : ถึงแม้ว่าหนังสังเคราะห์จะแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ แต่คุณภาพของหนังก็ขึ้นอยู่กับวัสดุและกระบวนการผลิต เพราะฉะนั้นหนังพียูบางชนิดก็มีราคาสูงกว่าหนังไมโครไฟเบอร์ หรือ หนังพีวีซีที่คุณภาพดีก็ไม่ได้จำกัดการใช้อยู่แค่เฟอร์นิเจอร์ แต่สามารถเอามำสินค้าแฟชั่นได้เช่นกัน

ฉะนั้นเครื่องหนังจะมีคุณภาพมากขนาดไหน ความสามารถของช่างทำเครื่องหนัง และการเลือกหนังมาใช้ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญไม่แพ้กัน

 

ย่านขายหนังและอุปกรณ์ทำเครื่องหนัง

1.เจริญรัถ : เป็นย่านที่ขายหนังที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เริ่มมีการขายหนังและอุปกรณ์เครื่องหนังในย่านนี้กันมาประมาณ 20-30 ปี ตั้งแต่ช่วงพ.ศ.2530
เดิมการทำเครื่องหนังในย่านเจริญรัถเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน แต่ละบ้านก็ทำกระเป๋าหนัง รองเท้าหนังตามความถนัดของตัวเอง พอย่านนี้เริ่มมีการปลิตเครื่องหนังมากขึ้น ฐานการผลิตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายหนัง ร้านขายอุปกรณ์ ก็ย้ายมาบริเวณนี้ด้วย
ปัจจุบัน เจริญรัถ จึงเป็นย่านที่ครบเครื่องเรื่องหนังที่สุดแห่งหนึ่งในไทย ไม่ว่าจะเป็นร้านขายส่งหนัง

2.เสือป่า : ปัจจุบันย่านเสือป่าก็ยังมีร้านขายหนังและอุปกรณ์ทำเครื่องหนังเปิดอยู่ไม่น้อย เนื่องจากในละแวกใกล้เคียงย่านเสือป่า คือย่านพาหุรัดและสำเพ็ง ที่เป็นแหล่งขายผ้าและอุปกรณ์ต่างๆ ช่างทำเครื่องหนัง และช่างฝีมือจึงนิยมมาที่ย่านเหล่านี้เพื่อความสะดวกในการหาซื้อวัสดุต่างๆ ในคราวเดียว

 

หลักการทำเครื่องหนังเบื้องต้น

ถึงแม้ว่าเครื่องหนังจะเป็นสินค้าที่ผลิตในโรงงานได้ แต่สินค้าจากโรงงานนั้นมีการออกแบบและคุณภาพที่แตกต่างจาก แบรนด์เครื่องหนัง จากช่างฝีมือ ปัจจุบันนักออกแบบ ผู้ประกอบการ หรือคนที่ชื่นชอบหนัง จึงหันมาเรียนและทดลองทำแบรนด์เครื่องหนังเป็นของตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ

เครื่องหนังแต่ละประเภทจะมีวิธีการทำที่แตกต่างกัน แต่ขั้นตอนพื้นฐานสำหรับเครื่องหนังทั่วไปในการนำแผ่นหนังมาประกอบเป็นสินค้า มีดังนี้

ร่างแผ่นหนังที่ต้องการจะตัด

1.ออกแบบแผ่นหนังในกระดาษ
การออกแบบเครื่องหนัง ไม่ต่างจากการออกแบบเสื้อผ้าที่ต้องมีการร่างแบบในกระดาษจากนั้น ค่อยนำแบบไปตัดวัสดุจริง

 

การตัดหนังวัว

2.ตัดหนังตามแบบที่ร่างไว้
การตัดหนังจะต้องใช้ประสบการณ์มากกว่าการตัดผ้าค่อนข้างมาก เพราะความผิดพลาดนิดเดียวก็ทำให้เกิดตำหนิบนหนังได้

 

3.เจาะรูสำหรับการเย็บ
หนังทั่วไปที่ใช้ผลิตเครื่องหนังจะมีความหนาค่อนข้างมาก ทำให้ไม่สามารถเย็บด้วยเครื่องจักรธรรมดาได้ จึงจำเป็นจะต้องมีการเจาะรูหนังตามขอบเพื่อให้เย็บได้ง่าย

การเย็บแผ่นหนังด้วยมือ

4.เย็บหนังเข้าด้วยกัน
การเย็บเครื่องหนังโดยเฉพาะกระเป๋าหนัง นิยมเย็บด้วยมือมากกว่าเครื่องจักร เนื่องจากการเย็บด้วยมือจะใช้การเย็บที่เรียกว่า Running Stitch ที่เย็บหนังสองฝั่งพร้อมๆ กัน ทำให้มีความแข็งแรงมากกว่าการใช้เครื่อง แต่ในเครื่องหนังที่ใช้หนังไม่หนามากก็สามารถใช้เครื่องจักรได้

 

5.เก็บรายละเอียดของชิ้นงาน
เครื่องหนังเป็นสินค้าที่มีรายละเอียดจำนวนมากที่ต้องการความประณีตก่อนนำมาขาย เช่น การทำให้ขอบหนังเรียบหลังจากการตัด การทาสีจุดต่างๆ ที่มีตำหนิ การเจาะรูหนังที่เท่ากัน การเย็บที่แข็งแรง เป็นต้น
รายละเอียดเหล่านี้คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคยังนิยมซื้อเครื่องหนังจากช่างทำเครื่องหนังที่มีฝีมือ มากกว่าซื้อเครื่องหนังสำเร็จรูปจากโรงงานที่มีการออกแบบไม่ต่างกันมาก

 

อุปกรณ์ทำเครื่องหนัง

เครื่องมือในการทำเครื่องหนัง

การตัด
ไม้บรรทัดเหล็ก
เหล็กแหลม
วงเวียนเหล็ก
คัตเตอร์

การตอก
ส้อมเจาะหนัง
ค้อนตอก
ลูกกลิ้งแนวเย็บ
เครื่องมือเซาะร่อง

การเย็บ
เข็มเย็บหนัง 2 เล่ม
ด้ายเคลือบแว็กซ์ (ด้ายโพลีเอสเตอร์)
กรรไกรเล็มด้าย

การเก็บงาน
กาวสำหรับหนังโดยเฉพาะ
แปรงทากาว
กระดาษทรายขัดขอบ
ไม้ขัดขอบ
ไขผึ้ง
Gum (Tragacanth)

 

แบรนด์เครื่องหนัง แนะนำโดย Craft ‘N’ Roll

เครื่องหนังในประเทศไทยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง และเฟอร์นิเจอร์หนัง เนื่องจากเป็นหมวดหมู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง ในขณะที่เครื่องแต่งกายประเภทหมวก เสื้อผ้า กางเกง และของใช้อื่นๆ จะได้รับความนิยมน้อยลงมา เนื่องจากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนของประเทศไทย มาดูกันว่าแบรนด์เครื่องหนังในไทย มีแบรนด์ไหนที่น่าสนใจ

กระเป๋าหนัง

AMAN LEATHERCRAFT
BAGSPACE
CHAIPHAT ACCESSORIES
KANITA LEATHER
NERB HANDCRAFTED
THE SLEEVELESS GARDEN
VANCHADA

กระเป๋าหนังขนาดเล็ก และของใช้อื่นๆ

D INDY LEATHER
ENDE LEATHER 2010
FARMER BLUE LEATHER
FULAME’
HARE & HOUNDS LEATHER SHOP
HOMNUAN HANDICRAFTS
JIRAWAT LEATHER GOODS
MUNKONG LEATHER HANDCRAFT
SEW AND NEEDLE
TAXIDERMY DESIGN

รองเท้าหนัง

BROWN STONE
LONDON BROWN
MUPER’S BANGKOK

โรงเรียนสอนทำเครื่องหนัง

CRAFTSMANGUS
MARCHI LEATHER WORK
MHA LEATHER WORK SCHOOL

 

ขอบคุณที่มา
Mooreandgiles
Leathermag
Thewalletshoppe
Leatherexpressions
Walterychina
Leather-dictionary
SlightlyLabama
Buckskinleather

 

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: CRAFT 101 , Materials