บุกโรงงานกระเป๋า Innimet แบรนด์สตรีท ที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ

ในโลกทุนนิยมที่แบรนด์ต้องลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด คุณภาพจึงถูกครอบด้วยราคา
‘กระเป๋า’ หนึ่งใบสามารถลดราคาได้หลายทาง เช่น ค่าแรง วัสดุ หรือการออกแบบ
อย่างที่เรารู้กันว่า ปัจจัยที่จะทำให้สินค้าขายได้นั้น ไม่ใช่แค่ราคาถูกที่สุดหรือคุณภาพดีที่สุด

แต่ท่ามกลางแฟชั่นที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว แบรนด์ INNIMETBAG ก็ยังคงยึด ‘คุณภาพ’ เป็นที่ตั้ง 

 

[Hustler ที่หลงใหลในการทำธุรกิจ]

ก่อนที่จะเข้ามาสู่ธุรกิจกระเป๋า ‘สิรวิชญ์ ลิ่มพานิช (โต้ง)’ ทำงานมาแทบทุกแนว ไม่ว่าจะเป็นด้านศิลปะ กีฬา ดนตรี เสื้อผ้าหรืออาหาร เรียกว่ามีโอกาสอะไรเข้ามา เขาคว้าไว้หมด ซึ่งงานแต่ละอย่างนั้นเติมเต็มความฝันของเขาที่แตกต่างออกไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เด็กและยังหลงใหลจมานถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ ‘แฟชั่น’

“ผมทำมาหลายอย่างมาก นักฟุตบอล ทำเสื้อยืด ทำดนตรี ทำธุรกิจต่างๆ แต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมมาคิดกับตัวเองว่า อะไรบ้างที่อยากทำมากๆ และยังไม่ได้ทำสักที ผมจึงตัดสินใจทำแบรนด์ Innimet Bag ขึ้น เพื่อเติมเต็มความฝันของตัวเอง”

“เพราะสิ่งที่ผมชอบทำตลอดก็คือแฟชั่น เวลาผมไปสำรวจตลาดในไทยหรือต่างประเทศ ผมเดินทุกร้าน เดินทุกย่านแฟชั่น เพราะผมชอบมันมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ผมอยากรู้ไปหมด อยากรู้ขั้นตอนการเย็บผ้า ขั้นตอนการทำกระเป๋า อยากรู้ว่าเครื่องผลิตซิปต้องทำยังไง คือเรียกง่ายๆ ว่า ผมสามารถอยู่กับมันได้ทั้งวัน ทุกวัน”

 

 

[งานเยอะจนไม่มีเวลาทำแบรนด์ของตัวเอง]

“แต่พอเปิดโรงงานกระเป๋าปุ๊ป ทุกอย่างเปลี่ยนผันเลย เพราะมีออเดอร์สั่งผลิตกระเป๋ากล้องเข้ามาเยอะมากจนไม่ทันตั้งตัว แล้วพอทำแบรนด์นี้จบ แบรนด์อื่นก็เข้ามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันผ่านมาเกือบ 10 ปี ผมคิดว่าโรงงานของผมทำกระเป๋ากล้องให้แบรนด์กล้องใหญ่ๆ ในไทยเกือบหมดแล้ว”

“เอาจริงๆ ผมก็ไม่รู้นะว่าที่สั่งผลิตเข้ามาตอนแรกเพราะอะไร แต่ตอนนี้ผมคิดว่าสิ่งที่ตอบโจทย์ลูกค้าคือ เราทำให้ทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ ลูกค้าแค่บอกมาว่าอยากได้อะไร เราทำให้หมดตั้งแต่ ออกแบบ เลือกวัสดุ ปรับแต่ง ทำตราสินค้า แพ็คส่ง จากในตอนแรกมีคนงานแค่ 7 คน ตอนนี้ก็จ้างถึง 60 คนเข้าไปแล้ว”

ถึงแม้สิรวิชญ์ จะไม่ได้บอกว่าทำยังไงถึงจะประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่เราสัมผัสได้จากการพูดคุยก็คือ “ไม่ว่าคุณจะทำอะไร ถ้าคุณสามารถเป็นที่พึ่งให้ลูกค้าได้ คุณสามารถทำในสิ่งที่คุณพูดได้ ยังไงลูกค้าก็ไม่หนีไปไหน”

[คนไทยชอบทำอะไรตามๆ กัน]

ปัจจุบันคุณสามารถเห็นกระเป๋าแบรนด์ใหม่ๆ เกิดเต็มไปหมด ซึ่งสวยไม่แพ้ของแบรนด์เนมราคาเป็นหมื่น แต่ที่มันสวยไม่แพ้กันนั้น ก็เพราะมันมาจาก Reference เดียวกันไง

“โรงงานผลิตกระเป๋าของเรารับทำกระเป๋าแทบทุกแบบ แล้วสิ่งที่ผมเห็นมาตลอดคือ พอกระเป๋าทรงนี้ฮิต ออเดอร์ก็จะมาคล้ายๆ กัน พอทรง Duffel ฮิต ทุกคนก็ทำ Duffel สักพักก็เปลี่ยนไปทำกระเป๋าคาดอก ซึ่งเวลาออเดอร์มันเข้ามาที มันเข้ามาเป็น 10 แบรนด์ ความยากคือทำยังไงให้สินค้าที่ออกไปไม่เหมือนกัน”

“ผมว่าปัญหา คือ คนไม่มีความคิดเป็นของตัวเอง อยากแต่จะทำให้เหมือนแบรนด์ใหญ่ เพราะทำแบบนี้มันพิสูจน์แล้วว่าเวิร์ก ซึ่งมันก็เวิร์กจริงแหละ แต่สุดท้ายคุณก็ไม่เคยทำอะไรเป็นของตัวเองสักที”

ถ้าคุณไปลอกดีไซน์จากแบรนด์ดังๆ คุณอาจะขายได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้ายจะไม่มีใครจำชื่อแบรนด์ของคุณได้เลย

หลังจากเปิดโรงงาน แบรนด์ที่สิรวิชญ์ตั้งใจจะทำก็ไม่เคยเป็นรูปเป็นร่าง จนมาปีที่ 5 ที่เขารู้สึกว่าต้องทำได้แล้ว แบรนด์ Innimet จึงเกิดขึ้นด้วยแนวคิดที่ว่า “ต้องแตกต่างกระเป๋าทุกแบรนด์”

 

[อยากให้แบรนด์ Innimet เป็นแบบไหน?]

“จากประสบการณ์ที่รับทำให้คนอื่นมาตลอด ผมคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะทำแบรนด์ของตัวเอง แต่สุดท้ายก็ไปคล้ายกับกระเป๋าในท้องตลาด วัสดุที่เราใช้จึงเป็นของนำเข้าค่อนข้างเยอะ ซึ่งมันมีผ้าแปลกๆ เยอะมาก แต่บางทีร้านผ้าในเมืองไทยไม่กล้านำเข้ามา เพราะไม่อยากสต็อก เราจึงใช้โอกาสตรงนี้เปลี่ยนเป็นจุดแข็งของเรา”

“อย่างคนที่ใช้กระเป๋าผ้าแคนวาสก็จะรู้ดีว่ามันค่อนข้างหนัก Innimet ก็เลยเอาผ้า Canvas Light Weight เข้ามาใช้ทำกระเป๋า ซึ่งพอมันออกมาเป็นกระเป๋าก็ได้รับการตอบรับที่ดี เพราะมันสวยแบบแคนวาสแต่ไม่หนักเท่าใบอื่นๆ

หรืออย่างซิปเราก็ใช้ของ YKK ที่เป็นเบอร์หนึ่งเรื่องซิป ซึ่งถ้าใช้ไปซิปยี่ห้ออื่นๆ ราคาจะถูกลงมาก ซิปชิ้นละ 2-3 บาท หรือ 25 สตางค์ก็มี แต่ลองคิดดูว่า ถ้าวันหนึ่งลูกค้าเปิดซิปไม่ติดแล้วมีของสำคัญอยู่ในนั้น เขาจะรู้สึกอย่างไรกับแบรนด์ของคุณ…

 

เรื่องราวของ InnimetBag นั้น เชื่อว่าคุณน่าจะเคยได้ยินจากแบรนด์อื่นๆ มาหลายรอบแล้ว

แต่เราอยากจะเน้นย้ำอีกครั้งผ่านบทความนี้ว่า

“ความสำเร็จของทุกธุรกิจ เกิดจากความใส่ใจในรายละเอียดเล็กๆ ทุกๆ วัน”

 

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Craftmanship , TALKS