Paper Shoot กล้องกระดาษจากไต้หวัน เติมเต็มความฝันวัยเด็ก

ปัจจุบันการถ่ายรูปเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว เพราะกล้องอยู่กับเราทุกที่ทั้ง มือถือ โน๊ตบุ๊ค รถยนต์ หรือแม้แต่ โดรน

แต่สำหรับ “จอร์จ ลิน” เขาเชื่อว่ายังเหลือพื้นที่เล็กๆ ที่เขาสามารถเติมความสนุกสนานให้กับผู้คน ด้วยการถ่ายรูป

จอร์จ ลิน (George Lin) เป็นชาวไต้หวันที่เติบโตมาท่ามกลางพี่น้องอีก 7 คน ครอบครัวของเขาไม่ได้มีฐานะร่ำรวย จึงทำให้พี่น้องและตัวเขามีสิ่งที่ขาดหายไปในวัยเด็กไม่มากก็น้อย และสำหรับ จอร์จ ช่องโหว่ที่ใหญ่ที่สุด คือ “รูปภาพในวัยเด็กของเขา”

ในช่วงทำงาน จอร์จทำงานในบริษัทกระดาษถึง 6 ปี ที่นั่นเขาเรียนรู้ขั้นตอนการทำกระดาษทั้งหมด และทำให้เขาเริ่มสนใจในสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

นอกจากนั้นเขายังได้ทำงานในบริษัทกล้องดิจิทัลอีก 13 ปี ทำให้มีความรู้ และเข้าใจกลไกของกล้องดิจิทัลเป็นอย่างดี

จอร์จ จึงผสมผสานเอาความรู้ทั้งสองศาสตร์ที่เขามี สร้างเป็น “Paper Shoot” กล้องดิจิทัลกระดาษที่จะเติมเต็มความฝันของเขาในวัยเด็ก

George Lin ผู้ก่อตั้ง Paper Shoot

 

แนวคิดของ Paper Shoot คือ

1.Point & Shoot, Less is more เป็นการวิธีการคิดที่ทำให้กล้องนี้ใช้ง่ายที่สุด โดยมีปุ่มเปิด/ปิดและชัตเตอร์ เป็นปุ่มเดียวกัน, มีโหมด 4 โหมดในการถ่าย, ช่องใส่ SD Card, ช่องใส่ถ่าน AAA 2 ก้อน และหมุนน็อต 2 อันก็เปลี่ยนเคสได้ทันที

2.เขาต้องการให้กล้องนี้มีราคาไม่สูงมาก เพื่อให้เด็กทุกคนสามารถมีกล้องถ่ายรูปบันทึกเรื่องราวเป็นของตัวเองได้ และด้วยน้ำหนัก 80 กรัม ขนาดไม่เกินฝ่ามือ เด็กทุกคนสามารถพกพาได้สะดวก

3.วัสดุที่ใช้ล้วนเป็นมิตรต่อโลก เคสกระดาษที่ขายทุกแบบทำมาจากกระดาษรีไซเคิล วัสดุข้างในทำมาจาก Fiberglass ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบัน Paper Shoot เติบโตไปไกลกว่าไต้หวันมาก เพราะพวกเขากวาดรางวัลในระดับสากลมากมาย รวมถึงกลายเป็นขวัญใจของคนรักงานคราฟต์ไปในตัว เพราะเคสกล้องของพวกเขาสามารถเปลี่ยนได้ง่าย ออกแบบเองได้ และราคาไม่แพง

จอร์จ เล่าว่า เขาเลือกวางขาย Paper Shoot ไว้ในร้านที่เกี่ยวกับศิลปะทั้งหมด และไม่วางขายในร้านกล้องทั่วไป เพราะ Paper Shoot เชื่อในคำพูดที่ว่า

It is more important to click with people than to click the shutter.
การคลิกกับผู้คน สำคัญกว่าการกดชัดเตอร์

Alfred Eisenstaedt

ภาพ : Photo Shoot

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: Talk