- ทำความรู้จักกับไม้
- ประเภทของไม้
- การแปรรูปไม้ เพื่อสร้างประโยชน์
- ความแตกต่างระหว่างเฟอร์นิเจอร์ไม้แต่ละชนิด
- การใช้ไม้ เพื่องานตกแต่งสถาปัตยกรรมและการต่อเติมขั้นพื้นฐาน
- รู้หรือไม่ว่ากว่าจะมาเป็นกระดาษ 1 แผ่น
- วิธีการดูแลรักษาไม้ให้ถูกวิธี
- ไม้ดีมีคุณภาพดูอย่างไร
- เครื่องมือช่าง สำหรับทำงานไม้
- เทคนิคการขัดผิวไม้และการเลื่อยไม้อย่างถูกวิธี
- แหล่งจำหน่ายไม้แนะนำในกรุงเทพ
ไม้ เป็นวัสดุเนื้อแข็งที่เกิดขึ้นจากกระบวนการธรรมชาติ โดยเป็นทรัพยากรสำคัญที่ส่งอิทธิพลต่อมนุษย์ทุกปัจจัย อาทิ งานโครงสร้างสถาปัตยกรรม งานตกแต่งเฟอร์นิเจอร์สินค้า การแพทย์และการรักษา การผลิตเชื้อเพลิง เพื่อสร้างพลังงาน
ไม้ เป็นทรัพยากรคุณค่าที่มนุษย์นิยมใช้งานตั้งแต่ครั้งอดีต เนื่องจากแปรรูปได้หลากหลาย ยืดหยุ่น จำนวนมหาศาล สามารถพบเห็นได้ตามเขตพื้นที่ทั่วไป
ไม้ จากต้นไม้ 1 ต้น สามารถใช้ประโยชน์ดังนี้
ลำต้น คุณสมบัติแข็งแกร่ง ทนทาน เหมาะสำหรับจัดทำโครงสร้างตามอาคารบ้านเรือน หรือใช้ต่อเป็นโครงพาหนะ
เปลือกไม้ คุณสมบัติเหนียว ยืดหยุ่น เมื่อนำไปฝานให้เป็นเส้นและตากแห้ง สามารถใช้ถักเชือก เพื่อมัดหรือยึดเหนี่ยวสิ่งของ อีกทั้งสามารถแปรรูปเป็นกระดาษวาดเขียนได้
กิ่งไม้ คุณสมบัติทนทานต่ำ แตกหักง่าย หากนำมาเหลาเปลือก สามารถนำไปสานตะกร้า ตาข่าย หรือสิ่งของในครัวเรือน
กระพี้ไม้ คุณสมบัติหนาแน่น ยืดหยุ่น เป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างเปลือกไม้และแก่นไม้ เหมาะสำหรับทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ปิดผิวผนังตามโต๊ะและเก้าอี้
ใบไม้ คุณสมบัติบางเบา อ่อนนุ่ม ยืดหยุ่น สามารถนำไปใช้งานด้วยวิธีคลุมหน้าดินเพื่อปรับสภาพ หรือใช้มุงเป็นหลังคาปิดผิวโครงสร้างสถาปัตยกรรม
[ลำต้นไม้เนื้ออ่อน]
[เปลือกไม้สีดำลายหยาบ]
[ไม้จากต้นไม้ 1 ต้นที่ถูกแปรรูปตามลักษณะการใช้งาน]
ไม้แต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้งานจำต้องทราบถึงลักษณะทางกายภาพของไม้แต่ละชนิดว่าเหมาะแก่การใช้งานรูปแบบใด โดยหลักแล้วการจำแนกประเภทไม้ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม อาทิ
กลุ่มไม้เนื้อแกร่ง ลักษณะกายภาพเนื้อแข็ง วงปีถี่ มีอายุไม่ต่ำกว่า 70 ปี เหมาะสำหรับทำเป็นโครงสร้าง เช่น ไม้มะค่าโมง แดง พยุง ชิงชัน เต็ง ตะเคียน
กลุ่มไม้เนื้อแข็ง ลักษณะกายภาพเนื้อไม้ มีรูขนาดเล็ก-ใหญ่ ผิวหยาบ เช่น ไม้ประดู่ ตะแบก เสลา มะเกลือ เคี่ยม หลุมพอ บุนนาค กรันเกรา
กลุ่มไม้เนื้ออ่อน ลักษณะกายภาพเนื้อไม้ ไร้รูพรุน ผิวเนียนสวย ยืดหยุ่น เช่น ไม้โอ๊ค สน ยางแดง ยางพารา จำปาป่า กระบาก สักทอง อินทนิล พะยอม พญาไม้ กะบาก กระเจา
(หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าไม้สักเป็นไม้เนื้อแข็ง แท้จริงแล้วไม้สักถูกจัดในกลุ่มไม้เนื้ออ่อนที่มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน)
ทั้งนี้ ค่าความชื้นสัมพัทธ์ระหว่างน้ำและอากาศ ย่อมส่งปัจจัยต่อการขยายและหดของไม้ด้วยเช่นกัน ในช่วงฤดูร้อนไม้จะเกิดการหดตัว เนื่องจากอุณหภูมิความร้อนส่งผลต่อความชื้นให้เร่งระเหยสู่อากาศ ส่วนฤดูหนาว ไม้จะพองตัวขึ้น จากค่าความชื้นสัมพัทธ์ที่เพิ่มขึ้นของไอน้ำที่จับตัวอยู่ตามผิวไม้
ทำความรู้จักกับไม้ไทย
สำหรับประเทศไทย ลักษณะพรรณไม้ที่พบเห็นได้ตามเขตภูมิภาคก็แตกต่างกัน เช่น
ภาคเหนือ ภูมิศาสตร์เป็นเขตเทือกเขาสูงสลับทับซ้อน อากาศเย็น พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “สัก” (ชื่อพื้นเมือง เคาะเยียโอ ปายี้ ปีฮือ) ไม้ต้นใหญ่ สูงราว 50 เมตร เปลือกสีน้ำตาลปนเทา ใบเดี่ยว ดอกเล็กสีขาวนวล ไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมของไทยและพม่า เกิดขึ้นตามป่าเบญจพรรณภาคเหนือและกระจุกตัวเป็นหย่อมๆ ตามภาคตะวันตก
ภาคกลาง ภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ในระบบนิเวศน์ พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “ตะเคียนทอง” (ชื่อพื้นเมือง จะเคียน แคน ตะเคียนใหญ่) ไม้ต้น ไม่ผลัดใบ สูง 20-40 เมตร กระจายพันธุ์ตามป่าดิบใกล้ลำธาร หรือตามป่าที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 100-800 เมตร
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบสูง สลับเนินดินและหุบเขา อากาศแล้ง พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “พะยูง” (ชื่อพื้นเมือง ขะยูง กระยูง ประดู่แสน) ไม้ต้น สูง 10-25 เมตร เรือนยอดรูปทรงไข่ เปลือกสีเทาเรียบ เกิดกระจัดกระจายตามป่าดิบแล้งทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกไทย
ภาคตะวันออก ภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม อากาศชื้น ดินเค็ม พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “เสลา” ไม้ต้นสูงราว 20 เมตร ทรงพุ่ม เปลือกสีดำมีรอยแตกยาวตามลำต้น เกิดขึ้นตามป่าดิบชื้นบริเวณภาคตะวันออกและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันตก ภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่สูง มีแนวหุบเขาปิดกั้น พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “ไผ่รวก” (ชื่อพื้นเมือง ฮวก แวปั่ง สะลอม) ไม้พุ่มผลัดใบสูง 7-15 เมตร ลำต้นทรงกระบอก ไม้เนื้อแข็ง อาศัยในพื้นที่แล้งหรือภูเขาสูง พบมากสุดในจังหวัดกาญจนบุรี
ภาคใต้ ภูมิศาสตร์พื้นที่ติดริมทะเล อากาศชื้น ฝนตกตลอดปี พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็น “กฤษณา” (ชื่อพื้นเมือง ไม้หอม พวมพร้าว กายูกาฮู) ทรงไม้ต้นใหญ่ สูง 18-30 เมตร เปลือกเรียบ เนื้ออ่อน กระจายพันธุ์ตามประเทศอินเดีย พม่าตอนใต้ คาบสมุทรมลายู และแถบพื้นที่จังหวัดตรัง ยะลา นราธิวาส
ทำความรู้จักกับไม้ต่างประเทศ
ไม้โอ๊ค แพร่หลายจำนวนมากตามเขตพื้นที่อากาศหนาวเย็น เช่น อเมริกา แคนาดา เบลเยียม หรือในเขตเมดิเตอร์เรเนียน โปรตุเกส สเปน กรีซ เนื้อไม้มีความยืดหยุ่น ผิวละเอียด สามารถกักเก็บความอุ่นได้เป็นเวลานาน เหมาะสำหรับทำเป็นจุกไวน์ เพื่อปิดรักษาสภาพเครื่องดื่ม หรือทำเป็นพื้นไม้ในบ้านพักอาศัย
ไม้บีช พบได้มากในทวีปยุโรป บริเวณฝั่งตะวันตก สีสันอมส้มปนเหลือง (เกิดจากการอบสตรีมไม้) เนื้อไม้มีความละเอียดสูง ลายน้อย นิยมนำมาปูพื้นบ้าน หรือผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการโทนอบอุ่น
ไม้เชอรี่ กลุ่มสกุลไม้เนื้อแข็ง สีน้ำตาลเฉดแดง คล้ายไม้สักแต่ราคาแพงกว่า ผิวไม้มีลักษณะเรียบเนียนยาวตลอดแนว
ไม้วอลนัท ไม้สีน้ำตาลเข้ม หายาก ราคาแพง นิยมทำเป็นวัสดุปิดผิวตามเฟอร์นิเจอร์
ไม้เมเปิ้ล แบ่งเกรดจากสีเนื้อไม้ ยิ่งสีขาวราคายิ่งสูง ลักษณะเนื้อไม้มีลวดลายเยอะ นิยมปูตามพื้นบ้านเพิ่มความสว่างแก่ห้อง
ไม้แอช ลักษณะคล้ายไม้โอ๊คแต่ราคาถูกกว่า สามารถใช้งานทดแทน เนื้อไม้มีสีเหลืองค่อนไปทางขาวครีม นิยมนำไปตกแต่งเป็นโต๊ไม้ หรือชุดรับประทานอาหาร
ไม้เวงเก้ ไม้จากทวีปแอฟริกา มีสีน้ำตาลไหม้ปนดำ ราคาสูง นิยมนำไปต่อเติมเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน เพื่อสร้างบรรยากาศให้ดูลึกลับ เรียบหรู น่าค้นหา
ปัจจุบัน การใช้ทรัพยากรไม้ถูกลดบทบาทลง เนื่องจากโลกกำลังได้รับผลกระทบจากสภาวะเรือนกระจกขั้นรุนแรง จึงทำให้องค์กรรักษาสิ่งแวดล้อมและนักธรณีวิทยาในไทยและต่างประเทศ หันมาร่วมมือกันออกแคมเปญลดการตัดไม้ทำลายป่า เพื่อเป็นการสร้างเสริมออกซิเจนและลดมลพิษปนเปื้อนอากาศทั่วโลก
ทั้งนี้ บทบาทของวัสดุไม้ได้ถูกปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปของงานต่อเติมทดแทน เช่น งานตกแต่งภายใน-ภายนอกอาคาร งานจัดสวน งานเฟอร์นิเจอร์ โดยไม้ยอดนิยมส่วนใหญ่ที่นำมาแปรรูป จะเป็นตระกูลไม้แท้ ไม้เทียม ปาติเกิล MDF HDF ไม้อัด เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และของประดับตกแต่ง วัสดุไม้ จำต้องถูกกำหนดตามลักษณะเหมาะสมของสินค้าแต่ละประเภท
ไม้แท้แปรรูป หรือไม้ที่มนุษย์นำมาแปรสภาพสำหรับใช้งาน เช่น สัก ประดู่ มะค่า ส่วนใหญ่นิยมทำเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการความเนี๊ยบ เรียบหรู เนื่องจากมีผิวเนื้อเนียนสวย หายาก สีสันบ่งบอกถึงสัจจะธรรมชาติแท้ ให้ความรู้สึกทางมูลค่าจิตใจ แต่กลับกันไม้แท้มีข้อเสียอยู่ที่ราคาแพง และต้องดูแลรักษาสม่ำเสมอ
ไม้เทียมหรือไม้สังเคราะห์ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน โดยเป็นวัสดุผสมระหว่างไม้และสารเคมีบางชนิดให้มีคุณสมบัติเทียบเคียงหรือเหนือกว่าไม้จริง
ไม้เทียมไฟเบอร์ซีเมนต์ (Fiber Cement) ผลิตจากเส้นใยเซลลูโลส ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ซิลิก้าบริสุทธิ์ ด้วยวิธีการอัดขึ้นรูปให้แข็งแกร่งและเรียบ
ไม้เทียมวูดพลาสติก คอมโพสิต (WPC) ส่วนใหญ่ผลิตจากไม้และพลาสติก เพื่อสร้างสัมผัสสมจริง
ไม้สังเคราะห์แปรรูปอื่นๆ
ไม้ปาติเกิล (Particle Board) ผลิตจากเศษไม้ยางพาราขนาดเท่าขี้เลื่อย ผ่านกระบวนการอัดบดแผ่น ผสมกาว และกระบวนการเคมีเฉพาะทาง ลักษณะของไม้เป็นแผ่นยาว 20×2.45 เมตร ความหนามาตรฐานอยู่ที่ 15-25 มิลลิเมตร น้ำหนักเบา ราคาถูก เป็นที่นิยมในตลาดผลิตเฟอร์นิเจอร์
MDF (Medium-Density Fiberboard) หรือแผ่นใยไม้อัด รูปลักษณ์และกระบวนการผลิตมีความคล้ายคลึงกับไม้ปาติเกิล หากแต่ลักษณะต่างกันตรงที่การอัดด้วยแรงดันความร้อนสูง ความหนาแน่นอยู่ที่ 500 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ คุณภาพของ MDF ถูกแบ่งย่อยออกไปขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาบดอัด โดยมาตรฐานทั่วไป จะใช้เศษขี้เลื่อยของต้นยูคาลิปตัส ยางพารา หรือหากอยากได้คุณภาพสูงขึ้น จะนิยมนำท่อนไม้เนื้ออ่อนไปบดอัดแทน ซึ่ง MDF มีข้อดีตรงที่มีความหนาแน่นสูง ผิวละเอียดสม่ำเสมอ สามารถรองรับน้ำหนักได้ดีกว่าไม้ปาติเกิลเกือบเท่าตัว
ฮาร์ดบอร์ด HDF (High-Density Fiberboard) แผ่นไม้อัดยอดนิยม มีความหนาแน่นมากว่าแผ่นไม้ MDF ในการอัดที่ 800 กิโลกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เหมาะสำหรับปิดผิวบริเวณพื้นที่จัดวางของหนัก ทั้งนี้ ก็ต้องแลกมาด้วยน้ำหนักแผ่นในการขนย้ายและราคาสูง
ไม้อัด (Plywood) เป็นไม้ที่มีคุณภาพสูงกว่าไม้ปาติเกิล MDF HDF ซึ่งกระบวนการผลิตไม้อัด ผลิตจากการนำไม้จริงมาลอกเปลือกชั้นนอกที่หยาบให้หมดจด จากนั้น ตัดแต่งให้บางและอัดชั้นจนแน่น แล้วเข้าสู่ขั้นตอนทางเคมีเฉพาะตามแต่ละโรงงาน สุดท้ายปิดผิวด้วยเยื่อบุไม้เป็นอันเสร็จสิ้น ทั้งนี้ การจำแนกประเภทไม้อัด ยังถูกแยกออกไปตามการใช้งานอื่นๆ เช่น ไม้อัดยาง ไม้อัดสัก ไม้อัดแฟนซี ไม้อัดบีช ไม้อัดเชอรี่ ฯลฯ นอกจากคุณสมบัติที่มีความแข็งสูงแล้ว ผู้ผลิตบางรายยังเสริมฟังก์ชันการป้องกันน้ำ รา และปลวก
ลามิเนต (Laminate) ไม้สังเคราะห์ที่ถูกพัฒนาให้มีผิวสัมผัสเลียนแบบไม้จริง ทั้งสีและลวดลาย เหมาะสำหรับปิดผิวตามโต๊ะ ตู้ เก้าอี้ พื้น โชว์รูมเครื่องสำอาง มาพร้อมกับคุณสมบัติแข็งแรงทนทานต่อรอยขีดข่วน ป้องกันความชื้นและน้ำ สีซีดจางยาก เมื่อใช้เป็นระยะเวลานาน (อายุการใช้งาน 10-15 ปี ขึ้นไป)
ไม้ปาเก้ (Parquet) สำหรับปูพื้นขนาดเล็ก-กลาง ความยาวมาตรฐานไม่เกิน 1 เมตร ผลิตด้วยวิธีการอบไม้และไสให้มีลิ้นร่องสำหรับติดตั้งรอบตัว ข้อดีของไม้ปาเก้สามารถติดตั้งได้ง่าย ลดการจับและสะสมฝุ่นละอองที่พื้น เหมาะสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุและเด็กเล็กอยู่อาศัย
ไม้ประสาน (Finger joint board) แปรสภาพจากไม้จริงขนาดเล็กทำการตัดแต่งตามขนาดคำนวน และนำมาติดกาวต่อเป็นแผ่น โดยข้อดีของไม้ประสานนั้น มีผิวสัมผัสสมจริง น้ำหนักเบา ลายไม้เป็นเอกลักษณ์ ส่วนข้อเสียคือมีราคาสูงและเหมาะแก่การใช้งานเฉพาะทาง
ด้านงานโครงสร้าง การจำแนกไม้ จะถูกแบ่งตามคุณสมบัติแตกต่างกัน อาทิ
ไม้เสาหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้แก่นของลำต้นไม้ใหญ่ เช่น มะค่า ยางพารา เต็ง หรือตะเคียน เนื่องจากเป็นไม้เนื้อแข็งที่มีน้ำหนักสูง หน้าตัดกว้าง ผุพังยาก และทนต่อแรงกดทับ
ไม้พื้นภายใน ปัจจุบันนิยมใช้ทั้งไม้จริงและไม้เทียม สำหรับคนที่มีงบประมาณสูง จะเลือกใช้ไม้โอ๊ค เนื่องจากมีคุณสมบัติช่วยรักษาอุณหภูมิอบอุ่นแก่พื้น ผิวเนียนละเอียดช่วยรักษาฝ่าเท้า ส่วนไม้เทียมจะนิยมใช้ไม้ปาเก้ หรือ MDF เนื่องจากราคาไม่สูงนักและยังทนต่อการใช้งานหลายสิบปี
ไม้ฝา หรือไม้ผนังสำหรับปิดผิวโครงสร้าง ส่วนใหญ่นิยมใช้ไม้เทียม เนื่องจากมีคุณสมบัติทนไฟ กันน้ำ ทนความชื้น ไม่หดตัวโก่ง หรือบิดงอ อีกทั้งสามารถป้องกันปลวกได้ ไม้ฝาส่วนใหญ่ที่นิยม จะเป็นไม้ฝาเฌอร่าชายน์ไลท์ และไม้ฝาสมาร์ทวูด เอสซีจี
ไม้พื้นภายนอก ไม้เทียมได้กลายเป็นตัวเลือกลำดับแรกสำหรับต่อเติมโครงสร้าง เนื่องจากพื้นที่ภายนอกต้องเจอทั้งแดด ฝน และอุณหภูมิปรับเปลี่ยนตลอดวัน ดังนั้น การใช้ไม้เทียม จะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากที่สุด ทั้งยังไม่ต้องดูแลรักษาบ่อยเหมือนไม้จริง
ไม้ระแนง คุณสมบัติของไม้ระแนงอันดับแรกนั้น ต้องทนทานต่อทุกสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นแสงแดดหรือฝน ดังนั้น การใช้ไม้เทียมดูจะเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์มากที่สุด
อุตสาหกรรมผลิตกระดาษทั่วโลก ทรัพยากรไม้คือสิ่งสำคัญ กว่าจะมาเป็นกระดาษ 1 แผ่น สำหรับใช้งานได้ จะต้องผ่านกระบวนการคัดเยื่อไม้จากต้นยูคาลิปตัส ก่อนจะนำเข้าสู่กระบวนการทางเคมีตามโรงงาน
รู้หรือไม่ว่าจากผลข้อมูลสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม คนไทย 1 คน ใช้กระดาษถึงปีละ 60 กิโลกรัม และการผลิตกระดาษ 1 ตัน เท่ากับการตัดต้นไม้เฉลี่ย 17 ต้น และเพื่อตอบสนองให้กระดาษสามารถพอใช้งาน จะต้องตัดต้นไม้มากกว่าปีละ 55 ล้านต้น โดยใช้น้ำมากกว่า 31500 ลิตร พร้อมสูญเสียกระแสไฟฟ้าในขั้นตอนการผลิต 4100 กิโลวัตต์ ต่อชั่วโมง
ไม้แต่ละชนิดย่อมมีวิธีดูแลรักษาแตกต่างกัน ดังนั้นผู้ใช้งาน จึงควรหมั่นสังเกตุ เมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน ทั่วไปแล้ว วิธีการดูแลรักษาขั้นพื้นฐานก็ไม่ได้มีขั้นตอนสิ่งใดมาก เพียงแต่ต้องปฎิบัติอย่างเข้าใจ
เชื้อราบนเฟอร์นิเจอร์ (ไม้แท้) วิธีสังเกตุคือ หากเนื้อไม้มีคราบสีขาวเป็นวงกว้างหรือเป็นจุด ให้นำผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดทำความสะอาด หรือใช้กระดาษทรายถูเบาๆ เพื่อขจัดคราบเชื้อราได้ สุดท้ายใช้น้ำยาเคลือบผิวประเภทแลคเกอร์ทาทับ เพื่อป้องกันเชื้อราจากความชื้น
ปลวก (ไม้จริง) ศัตรูตัวฉกาจของไม้ ซึ่งวิธีการป้องปลวกที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือการขยันปัดกวาดเศษฝุ่นละออง พยายามไม่จัดวางเฟอร์นิเจอร์ตามมุมอับของบ้าน หากปลวกขึ้นเนื้อไม้แล้ว สามารถใช้วิธีนำน้ำส้มสายชูผสมกับน้ำมะนาวในสเปรย์ขนาดอัตราส่วน 1 ถ้วยตวง จากนั้นฉีดพ่นใส่รัง เพื่อขับไล่ (หากไม่ได้ผลให้ใช้น้ำยากำจัดปลวกโดยตรง หาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป)
ไม้ชื้นและส่งกลิ่น (ไม้จริง) ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากความชื้น วิธีแก้คือ นำเฟอร์นิเจอร์ไปตากแดด ช่วงเช้าหรือบ่าย เพื่อให้อากาศถ่ายเทเข้าสู่ภายใน และยังเป็นการฆ่าเชื้อโรคที่ติดอยู่ตามผิวไม้ได้
ไม้พองตัว (ไม้เทียม) ปัญหายอดนิยมที่พบเจอทุกบ้าน ซึ่งอาจจะมาจากการทำน้ำหกใส่และไม่ได้เช็ดคราบน้ำให้แห้งสนิท วิธีแก้คือ ใช้คัตเตอร์ปาดส่วนที่พองออก จากนั้นใช้กาวหยอดในส่วนที่เป็นฟองอากาศภายใน สุดท้ายใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวเนียนเรียบ
รอยขีดข่วน (ไม้จริง) หลายท่านอาจจะเคยลองใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวเรียบ แต่ก็มีวิธีที่ทำให้ไม่ต้องเสียพื้นผิวไม้ไป ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การใช้น้ำมันพืชผสมน้ำส้มสายชูในอัตราส่วน 50:50 จากนั้น นำผ้าขนหนูไปชุบให้ชุ่ม และนำไปเช็ดบริเวณที่เป็นรอยเพียงเท่านี้ พื้นก็จะกลับมาเรียบเนียนดังเดิม
ขจัดคราบฝังแน่น (ไม้จริง) สามารถขจัดคราบด้วยวิธีง่ายๆ เพียงแค่นำน้ำมันมะกอก ผสมกับน้ำมะนาวเล็กน้อย จากนั้นชุบด้วยผ้า และนำไปเช็ดให้ทั่ว พื้นก็จะกลับมาสะอาดหมดจด (น้ำมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด สามารถช่วยขจัดคราบและไขมัน)
การเลือกซื้อไม้ นอกจากจะดูที่ประเภทสกุลและลักษณะรูปฟอร์มแล้ว ปัจจัยความสมบูรณ์ของเนื้อผิวภายในก็เป็นส่วนในการตัดสินใจเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ซื้อจำต้องทราบด้วยว่าไม้ที่ต้องการเป็นไม้เนื้อใด เช่น เนื้อแข็ง เนื้อแกร่ง เนื้ออ่อน เพื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ หากซื้อไม้แปรรูปที่ร้านแล้ว ต้องสังเกตุให้ดีว่าไม้ที่เราเลือกผ่านการไสหรือปรับผิวเรียบร้อยหรือยัง บ้างอาจจะไสเพียงหนึ่งหรือสองหน้า และต้องคำนวนขนาดของไม้ให้ดี หากไม้เกิดความชื้น จะขยายตัวและเกิดอาการบวมพอง
ข้อสังเกตุอีกอย่างที่ควรพิจารณาคือ ไม้ที่ดีต้องปราศจากเชื้อรา คราบ รอยผุพัง ไม่แห้งกรอบ หรืออับชื้นส่งกลิ่นเหม็น ผู้ซื้อ ควรเลือกไม้ที่สภาพสมบูรณ์ สีไม้ตรงตามชนิด ไม่ซีดจางหรือเข้มจนเกินไป และที่สำคัญราคาต้องสมเหตุผลสอดคล้องกับตลาด
การทำงานไม้ นอกจากจะมีความรู้ความเข้าใจถึงลักษณะไม้แต่ละชนิดแล้ว ยังต้องมีทักษะความชำนาญในการใช้เครื่องมือช่างด้วย และวันนี้เรามาดูกันว่าเครื่องมือสำคัญสำหรับทำงานไม้นั้น มีอุปกรณ์ประเภทใดบ้าง
กบไสไม้ ใช้สำหรับขัดผิวและปรับรูปทรงให้ดูสวยงาม
เลื่อยลันดา ลักษณะใบเลื่อยใหญ่ยาวแต่บาง ฟันเลื่อยถี่ ซี่เล็ก ใช้สำหรับเลื่อยไม้แผ่นที่ไม่หนามากนัก
ตลับเมตร อุปกรณ์พื้นฐานของงานช่างทุกชนิด ใช้สำหรับวัดระยะความกว้าง ยาว สูง เพื่อคำนวนระยะออกแบบ
ลิ่วปากแบน ใช้สำหรับขุดเจาะหรือขูดผิวไม้ในส่วนที่ต้องการตกแต่งรายละเอียด โดยปากสิ่วมีหลายแบบหลายขนาดเช่น ปากแบนกว้าง แบนแคบ
สิ่วเจาะ ทรงปลายแหลมยาว ใช้เจาะช่องหรือทำรูที่ไม่กว้างนัก วิธีใช้คือ จับสิ่วที่ด้ามให้แน่น แล้วใช้ค้อนไม้ค่อยๆ ตอกไปตามจุดมาร์ก
เลื่อยฉลุ ใบเลื่อยฉลุเป็นเหล็กมีน้ำหนักเบา สามารถปรับระดับความตึงได้ การใช้งานควรระมัดระวังใบเลื่อยหัก เหมาะสำหรับใช้เลื่อยแผ่นไม้อัดที่ไม่หนามาก
ค้อน อุปกรณ์สามัญประจำบ้าน ควรเลือกค้อนเหล็กน้ำหนักพอดีมือและมีหัวเกี่ยวอีกฝั่ง เพื่อใช้งานยามต้องดึงเศษไม้หรือตะปู
สว่านเฟือง ใช้งานเพื่อเจาะรูใส่น๊อตหรือสกรูขนาดต่างๆ หัวดอกสว่านมีหลายขนาดให้เลือกใช้ตามความเหมาะสม
สว่านข้อเสือ ใช้เจาะรู เพื่อใส่สกรู หรือน๊อตขนาดเล็ก สามารถใช้งานด้วยวิธีวางดอกสว่านบนผิวไม้ และทำการหมุนดอกสว่านไปเรื่อยๆ เพื่อเจาะเนื้อภายใน
ขอขีดไม้ ลักษณะรูปตัว L ใช้สำหรับวางบนแผ่นไม้ เพื่อวัดระยะมุมฉากหรือเส้นตรงในการมาร์กตำแหน่งก่อนตัด
การเลื่อยไม้ที่ถูกวิธี ต้องเริ่มจากการคัดเลือกขนาดไม้ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์เลื่อย เช่น หากไม้มีขนาดหนาอาจจะเลือกใช้เลื่อยลันดาที่มีใบเลื่อยใหญ่แทน หรือหากไม้มีแผ่นบางขนาดเล็ก อาจจะเลือกใช้เลื่อยฉลุ เนื่องจากมีน้ำหนักเบา ใบเล็ก เมื่อคัดเลือกขนาดเลื่อยเหมาะสมให้ทำการมาร์กตำแหน่งให้เรียบร้อย จับใบเลื่อยให้มั่นคง จากนั้นจรดใบเรื่อยที่ตำแหน่ง 45 องศา โดยห่างจากตัวพอประมาณ แล้วเริ่มออกแรงเลื่อยช้าๆ ไม่แรงและไม่เบาจนเกินไป
สำหรับการขัดผิวไม้ มีหลากหลายวิธีให้เลือกตามอุปกรณ์ หากใช้กบไสไม้แต่งผิว ให้วางท่อนไม้ในตำแหน่งเหมาะสมบนโต๊ะ จากนั้นประกบอุปกรณ์ให้กระชับ เปิดสวิตซ์ และขัดไสไปจนกว่าผิวไม้จะเนียนเรียบ (ในกรณีที่เป็นกบไสไม้ไฟฟ้า)
การใช้กระดาษทรายเป็นหนึ่งในวิธียอดนิยม เนื่องจากต้นทุนไม่สูงนัก ทั้งนี้ การเลือกกระดาษทรายใช้งาน ก็ส่งผลต่อผิวไม้ด้วยเช่นกัน โดยมีตั้งแต่เบอร์ 0-5 (ตัวเลขมากผิวยิ่งหยาบ) สำหรับวิธีการขัดให้ขัดตามลำดับขั้นตอนการทำ เช่น ขัดไม้ก่อนทำสี ให้เลือกขัดหยาบก่อน จากนั้นขัดเรียบ เพื่อขจัดจุดบกพร่องพื้นผิวริ้วรอย เข้าสู่ขั้นตอนการขัดละเอียดให้ผิวราบเรียบ สุดท้าย ขัดผิวสีเคลือบเก็บรายละเอียดงาน
ซอยประชานฤมิตร ถนนประชาราษฎร์ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
จุดเด่น มีประเภทไม้ให้เลือกหลาย ทั้งขนาดไซต์ ราคา ลูกค้าสามารถสั่งตัดได้ตามความต้องการ นอกจากนั้นยังมีของประดับตกแต่งอื่นๆ เกี่ยวข้องกับไม้ เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้สำเร็จรูป ป้ายไม้ และผนังต่อเติมโครงสร้าง
จุดด้อย ที่จอดรถน้อย และไม้หายากบางชนิดมีราคาสูง
แนะนำ Co-Working space สำหรับผู้สนใจทำงานไม้ภายในกรุงเทพฯ
สำหรับผู้มีใจรักและสนใจการทำงานไม้ Craft ‘N’ Roll ขอแนะนำ Made Here On Earth คอมมูนิตี้ต้นแบบที่เปิดบริการขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการประดิษฐ์ดัดแปลงงานไม้ทุกชนิด ภายในสถานที่มีอุปกรณ์งานช่างอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ เครื่องเลื่อยไฟฟ้า เครื่องยิงเลเซอร์ เครื่องเจาะ เครื่องขัดผิว และอุปกรณ์พื้นฐานทุกรูปแบบ
หากท่านใดสนใจสามารถเดินทางมาได้ที่ 110/4 ถนนพระรามที่ 6 แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานครฯ
เปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น.
Tel. 095-929-5925 / 082-446-5429
อ่านเพิ่มเติม https://craftnroll.net/talks/made-here-on-earth-l-center-lifestyle-co-design-simple/
ธุรกิจไม้แนะนำจาก Craft ‘N’ Roll
[Made Here On Earth]
[everyday studio]
ขอบคุณแหล่งข้อมูล