รู้จัก Svetlana Alexievich นักข่าวหญิงคนแรกที่คว้า รางวัลโนเบล

 

14443072132105734184_1000x669

 

สเวทลานา อเล็กซิเยวิช (Svetlana Alexievich) นักเขียนและนักข่าวหญิงชาวเบลารุส ผู้ซึ่งได้รับ รางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรมในปีนี้ เธอเป็นนักเขียนหญิงคนที่ 14 และถือเป็นนักข่าวคนแรกที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ ซึ่งยากมากที่รางวัลโนเบลจะมอบให้กับนักเขียนที่ไม่ได้เขียนงานแนวนวนิยาย (fiction) ในอดีตที่ผ่านมากว่า 1 ศตวรรษ มีเพียง 2 คน คือ Bertrand Russell และ Winston Churchill ที่มีผลงานการเขียนแนวสารคดี (non-fiction) และได้รับรางวัลในปี 1950 และ 1953 ตามลำดับ

ผลงานของ อเล็กซิเยวิช อาจไม่ได้เน้นในเรื่องสำนวนถ้อยคำภาษาที่สละสลวย แต่ส่วนใหญ่เป็นการสัมภาษณ์และถ่ายทอดเรื่องราวของเหยื่อจากเหตุการณ์หายนะในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สงครามโลกครั้งที่ 2, สงครามอัฟกัน-โซเวียต, การแบ่งแยกสังคมนิยมโซเวียต หรือการระเบิดที่เชอร์โนบิล เธอบันทึกเหตุการณ์ผ่านถ้อยคำของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์จริง หนังสือของเธอจึงเป็นทั้งภาพและเสียงสะท้อนของความโหดร้ายและชะตากรรมอันน่าเศร้าของผู้คนที่ตกเป็นเหยื่อของสงครามและความรุนแรง นักวิจารณ์กล่าวว่าผลงานของเธอนั้น ทั้งน่าเศร้าและทรงพลังในเวลาเดียวกัน อเล็กซิเยวิช ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติมากมาย และงานของเธอถูกแปลออกเป็นหลายภาษา ทั้งยังคว้าอีกหลายรางวัลในระดับสากล

อย่างไรก็ตาม ในประเทศบ้านเกิด หนังสือของเธอที่เขียนเป็นภาษารัสเซียกลับไม่ได้รับการตีพิมพ์ เนื่องจากอเล็กซิเยวิช มีทัศนะทางการเมืองที่ขัดแย้งกับประธานาธิบดี อเล็กซานเดอร์ ลูคาเชนโก ของเบลลารุสที่ปกครองประเทศมายาวนาน ทำให้ทางการไม่พอใจและสั่งห้ามพิมพ์ ทั้งเธอยังเคยถูกห้ามเข้าประเทศตนเองอยู่นานหลายปี จนกระทั่งปี 2011 จึงได้รับอนุญาตให้กลับเข้าเบลารุสได้

 

800

ภาพจากเพจ www.alexievich.info

 

อเล็กซิเยวิช เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ค.ศ.1948 อายุ 67 ปี มีผลงานหนังสือทั้งหมด 6 เล่ม คือ War’s Unwomanly Face, The Last Witnesses: the Book of Unchildlike Stories, Enchanted with Death, Zinky Boys, Voices from Chernobyl , Second-hand Time โดย 3 เล่มหลัง ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ (เล่มสุดท้ายมีกำหนดจะออกในปี 2016)

อเล็กซิเยวิช จะได้รับรางวัลเป็นเงินมูลค่า 8 ล้านสวีดิชโครนา (ราว 34 ล้านบาท) ซึ่งเธอกล่าวกับสื่อว่าเงินจำนวนนี้จะช่วยให้เธอสามารถซื้อ “อิสรภาพ” ให้กับตนเองได้ เธอยังบอกว่าดีใจที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำให้เธอรู้สึกสับสนอยู่ไม่น้อย เพราะจู่ๆ เธอก็รู้สึกเหมือนกับว่าถูกจัดอยู่ระดับเดียวกับนักคิดนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของรัสเซีย อย่าง Ivan Bunin หรือ Boris Pasternak ที่เคยได้รับรางวัลโนเบลมาก่อนหน้า มันทั้งเป็นเรื่องที่ดีใจและน่าตกใจในเวลาเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อเล็กซิเยวิชได้กล่าวมอบรางวัลนี้ให้กับเบลารุส “รางวัลนี้ไม่ใช่สำหรับฉัน แต่สำหรับวัฒนธรรมของเรา สำหรับประเทศเล็กๆ ของเรา ซึ่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งมาโดยตลอด”

Categories: all , Talk