miNATURE_c เปลี่ยนโฉมบอนไซ สู่ต้นไม้สายย่อ

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลขนาดไหน แต่ความสุนทรีย์ของ ‘การปลูกต้นไม้’ ก็ไม่มีอะไรมาทดแทนได้

คนที่มีบ้านเดี่ยวก็นิยมทำสนามหญ้า ปลูกไม้ยืนต้น และทำสวนในสไตล์ของตัวเอง

คนที่พื้นที่น้อยหน่อย ก็เลือกปลูกต้นไม้ในกระถาง ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ

แม้แต่พนักงานที่ทำงานบนโต๊ะเล็กๆ ก็ยังมีต้นกระบองเพชร หรือสวนในขวดแก้ว ไว้เป็นที่พักสายตา

 

แบรนด์ที่ Craft ‘N’ Roll อยากให้คุณได้รู้จักในวันนี้ มีความเชื่อว่า “แม้แต่ในพื้นที่ที่เล็กที่สุด เราก็สามารถสอดแทรกธรรมชาติเข้าไปได้”

แบรนด์นี้ชื่อว่า miNATURE_c ต้นไม้สายย่อ

 

จากโลกดิจิทัล กลับสู่ธรรมชาติ

ชัยพร เวชไพรัตน์ (บอส) ผู้ก่อตั้ง miNATURE_c เรียนจบด้านมีเดียอาร์ตที่เกี่ยวกับการออกแบบและการทำกราฟิค ซึ่งการคลุกคลีอยู่กับคอมพิวเตอร์นานๆ ทำให้เขาปวดหลังบ่อย เขาจึงลองเปลี่ยนไปทำอะไรที่ชอบ (และไม่ทรมาน) เช่น งาน 3 มิติที่ใช้มือสัมผัสได้

บอส : “งานชิ้นแรกที่ผมลองทำ คือ งานเซรามิค ซึ่งผมลองไปเรียนทำเซรามิคดูเลย แต่ก็พบว่าต้นทุนมันค่อนข้างสูง เพราะต้องมีเตาและใช้สารเคมีในการเคลือบ ผมจึงมองหาวัสดุอื่นที่สามารถทำแล้วจบได้ด้วยตัวเองนั่นก็คือ ปูน

จากการทำชิ้นงานที่เป็นปูน เช่น กระถางต้นไม้ไซส์ต่างๆ ทำให้ผมเริ่มศึกษาการปลูกต้นไม้ไปในตัว โดยในปีแรกเริ่มจากการปลูกต้นกระบองเพชร และปีที่สองเริ่มศึกษาการปลูกบอนไซ และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตก็ว่าได้”

 

บอนไซ กลายเป็น ต้นไม้สายย่อ

ศิลปะการย่อส่วนต้นไม้ในกระถาง มีที่มาจากประเทศจีน เรียกว่า Penjing หรือ Penzai ก่อนที่จะแพร่หลายและเป็นที่ยมในประเทศญี่ปุ่น จนคนญี่ปุ่นเรียกศิลปะนี้ว่า ‘บอนไซ Bonsai’ (Bon แปลว่า กระถาง Sai แปลว่า การปลูก)

เพราะฉะนั้นความหมายของคำว่าบอนไซจริงๆ แล้วคือการปลูกต้นไม้ในกระถาง เพียงแต่บอนไซที่เห็นในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเป็นการนำไม้ยืนต้นมาทำ และนิยมตัดแต่งให้เหมือนจำลองต้นไม้จริงมาอยู่ในกระถางขนาดเล็ก

บอส : “เวลาพูดถึงบอนไซคนมักจะนึกถึง ไม้ยืนต้นแบบญี่ปุ่น ที่เหมาะกับคนอายุ 40+ ดูแลยาก อะไรประมาณนี้ แต่หลังจากที่มีนิตยสารบ้านและสวนมาขอสัมภาษณ์ เขาตั้งชื่อให้เราว่า ‘miNATURE_c ต้นไม้สายย่อ’

ความรู้สึกของคนจึงเปลี่ยนไป มันดูซอฟต์ลง ไม่ได้รู้สึกว่าดูแลยากเหมือนบอนไซ ซึ่งมันก็ตรงกับคอนเซปต์ของแบรนด์เราด้วย ชื่อแบรนด์มาจากคำว่า Mini+ Nature เพื่อต้องการสอดแทรกธรรมชาติเข้าไปในชีวิตของคนเมือง ไม่ว่าพื้นที่จะเล็กขนาดไหนก็ตาม”

 

ปลูกต้นไม้ คือ การลองผิด ลองถูก

เชื่อว่ามือสมัครเล่นที่เคยซื้อต้นไม้มาลองปลูกที่บ้าน ต้องเคยทำต้นไม้ตายแน่ๆ บางคนก็ลืมรดน้ำ บางคนก็รดน้ำมากไป และตอนนี้ก็อาจจะเลิกปลูกต้นไม้ไปแล้วก็ได้

แต่บทเรียนที่สำคัญของการปลูกต้นไม้ คือ การลงมือทำ และเรียนรู้จากความผิดพลาด

บอส : “ความรู้เรื่องบอนไซทั้งหมด ผมศึกษาเองทั้งจากหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือคนที่มีความรู้ แล้วก็ลองปลูกมันด้วยตัวเอง ซึ่งมันก็มีตายไปบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องเรียนรู้จากมัน ครั้งนี้มันตายเพราะอะไร ครั้งนี้ทำไมถึงรอด

ดินที่ใช้ปัจจุบัน เราใช้เวลาพัฒนามา 4 ปี จนได้ดินที่เหมาะกับต้นไม้ของเรามากที่สุด เพราะถ้าเราเอาดินทั่วไปที่ขายในกระสอบมาปลูกในกระถางจิ๋วๆ ส่วนใหญ่จะตายหมด เพราะเวลาใช้ไปนานๆ ดินจะอัดตัวกันเป็นก้อนทำให้ระบายน้ำได้ไม่ดี”

 

อยากให้มองว่าอะไรก็เป็น “บอนไซ” ได้

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะนิยมนำบอนไซมาปลูก เพราะสามารถเห็นรูปร่าง ตัดแต่งกิ่ง และทำโครงสร้างได้สวยงาม แต่ miNATURE_c ไม่อยากให้มองแบบนั้น เพราะจริงๆ แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเรามีคุณค่าในตัวของมันเอง

บอส : “แบรนด์ของเราจึงไม่ได้นิยามว่าเราคือบอนไซ แต่เราคือต้นไม้สายย่อ ไม่ว่าคุณจะมีต้นหญ้า วัชพืช หรือเมล็ดอะไรก็แล้วแต่ มันมีคุณค่าและความสวยงามในตัวของมันเองทั้งนั้น

ผมจึงพยายามเปิดมุมมองนี้ และสอดแทรกข้อความเหล่านี้ออกไปทุกครั้งที่มีโอกาส ต้นไม้ของที่นี่จึงมีทุกแบบ ตั้งแต่การเอากิ่งมาปักชำ การเพาะเมล็ด หรือการนำพืชแปลกๆ ที่ไม่รู้จักมาปลูก”

นำทักษะการออกแบบ มาช่วยปลูกต้นไม้

เชื่อว่าในประเทศไทย ต้องมีผู้ที่ปลูกบอนไซเชี่ยวชาญหลายคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถทำงานอดิเรกเหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการ คือ การสื่อสาร

บอส : “ทักษะด้านการออกแบบช่วยได้เยอะมากครับ ในด้านแบรนด์มันทำให้พวกเราชัดเจนว่า miNATURE_C คืออะไร การทำภาพประกอบ การทำกราฟิค การถ่ายภาพ ส่วนในด้านต้นไม้ มันช่วยในเรื่องการทำฟอร์มของต้นไม้ การวางองค์ประกอบของต้นไม้ หรือสื่อสารให้ช่างทำกระถางให้เราได้ถูกต้องครับ

ซึ่งผมว่าเรื่องเหล่านี้มันก็สะท้อนไปยังลูกค้าด้วยเช่นกัน ลูกค้าของเราก็จะเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป มีความมินิมอลหน่อยๆ แต่ที่สำคัญคือต้องชอบงานดีไซน์ด้วย ถึงจะซื้อสินค้าของเรา เพราะถ้าเทียบกับต้นกระบองเพชรที่ขายในท้องตลาด ของเราก็ราคาสูงกว่ามาก”

 

การแตกหน่อของธุรกิจ

miNATURE_C เริ่มทำบอนไซในปีที่ 2 และเป็นช่วงเวลาที่ความชอบของทั้งบอสและเฟรม คลิกกันลงตัวพอดี

เฟรม : เฟรมเข้ามาช่วยทำในช่วงปีที่ 2-3 ค่ะ ก็มาซัพพอร์ตด้านอื่นๆ ด้านการถ่ายภาพ ด้านโซเชียลมีเดีย การแพ็คของส่งของ ซึ่งปัจจุบัน (ปีที่ 5) ก็ยังทำกันอยู่ 2 คนค่ะ สาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้หาคนมาช่วย เพราะมันเป็นเรื่องเฉพาะทางๆ มาก ไม่มีใครรู้จักต้นไม้ในสวนของเราได้ดีเท่าเราสองคน และการที่เราทำงานในสวนหลังบ้านทั้งหมด มันเลยทำให้ไม่สะดวกมากนัก

บอส : ในช่วงที่คนยังไม่รู้จักแบรนด์มากนัก miNATURE_C ก็ตระเวนออกบูธในงานทั่วกรุงเทพฯ เพื่อที่จะสร้างการรับรู้ และฟังความเห็นจากลูกค้าให้มากที่สุด แต่พอถึงจุดที่ทำต้นไม้สายย่อจริงจัง ก็แทบไม่ได้ออกบูธอีกเลย เพราะว่าการไปออกบูธครั้งหนึ่งนั้นเหนื่อยมาก ทั้งเตรียมของ จัดวางของ ที่สำคัญที่สุดคือสินค้าของเราต้องการความใส่ใจเป็นพิเศษ เวลาลูกค้ามาซื้อ เราก็อยากอธิบายให้ละเอียด ซึ่งในงานแฟร์มันทำไม่สะดวก

 

เปลี่ยนมาทำ Workshop 

ถึงแม้ว่าจะลดการออกบูธไป แต่พวกเขาก็เลือกที่จะทำการตลาดด้วยการสร้าง Community โดยจัด Workshop ทุกๆ เดือน กิจกรรมมีตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เช่น การย้ายกระถางต้นไม้ การตัดแต่งกิ่ง การฟอร์มกิ่ง ส่วนกิจกรรมขั้นสูง ก็จะมีพันธุ์ไม้หายากที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ เป็นต้น

เฟรม : “การทำ Workshop ก็เหมือนการสร้างกลุ่มของคนที่รักต้นไม้จริงๆ เพราะกิจกรรมเป็นจุดเริ่มต้น พอจบกิจกรรมได้ต้นไม้กลับบ้านไป ต้นไม้ยังต้องการการดูแลต่ออีกมาก ไม่ว่าจะเป็นการตัดกิ่ง ทำฟอร์ม ตกแต่งราก ย้ายกระถาง.. ซึ่งมันต้องเป็นคนที่รักจริงๆ ถึงจะทำมันได้

ทุกวันนี้เราดีใจมากที่มีคนสามารถเอาความรู้ไปต่อยอดทำธุรกิจเป็นของตัวเองได้ เพราะมันเป็นเป้าหมายของเราในการทำ miNATURE_C ที่เผยแพร่การรักธรรมชาติเข้าไปในกลุ่มคนรุ่นใหม่”

 

ทำในสิ่งที่รัก เรื่องเรียบง่ายที่ทำตามไม่ง่าย

“ทำงานที่คุณรัก แล้วคุณจะไม่ต้องทำงานอีกต่อไป” เป็นประโยคคลาสคิกแห่งยุค แต่ความเป็นจริง มันไม่ได้สวยงามขนาดนั้น

เฟรม : มีคนจำนวนมากที่เห็นการย่อต้นไม้ แล้วอยากทำเป็นธุรกิจบ้าง ซึ่งถ้าคุณไม่ได้รักมันจริงๆ ไม่ได้เข้าใจมันจริงๆ คุณสามารถทำให้คนไม่อยากปลูกต้นไม้อีกเลยก็ได้ ฉะนั้นเราจะย้ำกับลูกค้าเสมอว่า ให้ทดลองปลูกกับต้นไม้ที่บ้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้อะไรก็สามารถนำมาย่อได้

สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือ คุณต้องรักในสิ่งที่ทำ ไม่งั้นแป๊ปเดียวก็เลิก

 

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

Categories: