Beer Basic 101 – The main ingredients …มารู้จัก เบียร์ กันดีกว่า ตอน: เบียร์ ทำจากอะไร


 

หลายคนชอบดื่ม เบียร์ แต่ยังไม่ค่อยรู้จักหรือเข้าใจเบียร์มากนักว่ามันมีความซับซ้อนและเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้ไวน์ Craft ‘N Roll เลยขอนำเอาเรื่องเบียร์ตั้งแต่ขั้นเบสิคมาให้เรียนรู้กัน เผื่อว่าคุณจะสามารถเลือก เบียร์ ที่เข้ากับคุณและจิบเบียร์แก้วต่อไปได้อร่อยมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนผสมของ เบียร์

เบียร์ มีต้นกำเนิดมานานหลายพันปีแล้ว และมีการพัฒนาขั้นตอนการผลิตมามากมาย แต่ส่วนประกอบหลัก ที่ยังคงใช้ใน เบียร์ มาจนทุกวันนี้ มีอยู่  4 อย่างคือ

 

01 น้ำ (Water) เป็นส่วนประกอบหลัก มีประมาณ 90% ขึ้นไป และเนื่องจากในน้ำเองก็มีเกลือแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เบียร์มีรสชาติต่างกันไป หากน้ำที่มีแร่ธาตุมาก จะดึงรสฝาดของฮอปและมอลต์ออกมาได้มาก ตรงข้ามกับน้ำที่มีแร่ธาตุน้อย จะทำให้ เบียร์ มีรสฝาดน้อยและมีรสสัมผัสที่นุ่มนวลกว่า น้ำที่มาจากแหล่งผลิตต่างกัน ก็จะทำให้ เบียร์ มีรสต่างกันออกไปและเกิดเป็นเบียร์สไตล์ต่างๆ ตามพื้นที่นั้นๆ  เช่น เบียร์แบบ Pale Ale ที่มาจากแถบเกาะอังกฤษ จะใช้น้ำที่มีแร่ธาตุสูง ในขณะที่เบียร์ Pilsner จากสาธารณรัฐเช็ก จะใช้น้ำที่แทบจะไม่มีแร่ธาตุเลย นักทำ เบียร์ หรือบรูว์มาสเตอร์ ที่ต้องการจะผลิต เบียร์ ต่างๆ จึงต้องมีการศึกษาถึงปริมาณแร่ธาตุที่เหมาะสมของน้ำที่ใช้ในการผลิตด้วย

 

02 ฮ็อป (Hobs) เป็นพืชตระกูลไม้เลื้อยชนิดหนึ่ง ซึ่งจะใช้ส่วนดอกมาทำ เบียร์ โดยจะเติมลงไปในขั้นตอนการต้มเบียร์ ใช้เพื่อรักษาความสมดุลหรือเพิ่มรสชาติของ เบียร์ ฮ็อปจะมีรสขม ที่ช่วยตัดรสหวานของมอลต์ และให้กลิ่นหอม นอกจากนั้นยังช่วยยืดอายุเบียร์  ตอนนี้ทั่วโลกมีฮ็อปกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพันธุ์ที่ให้รสขม และพันธุ์ที่ให้กลิ่นหอม และช่วยทำให้เบียร์มีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น

 

บาร์เลย์ มอลต์ Barley Malt เบียร์ ทำจากอะไร  ฮ็อป hops เบียร์ ทำจากอะไร    Craft Beer เบียร์ คราฟท์ เบียร์ ทำจากอะไร

 

 

03 มอลต์ (Malt) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากนำเมล็ดธัญพืช (cereal grain) มาผ่านกรรมวิธีที่เรียกว่า Malting คือ น้ำเมล็ดพืชไปแช่น้ำจนแตกยอดอ่อน เมล็ดพืช ซึ่งเมล็ดพืชจะสร้างเอนไซม์ เช่น  อะไมเลสที่จะเปลี่ยนแป้งสตาร์ซ (starch) ให้กลายเป็นน้ำตาล จากนั้นจึงหยุดการงอกด้วยการนำไปคั่วหรือต้ม มอลต์นิยมผลิตจากข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี ข้าวไรย์ หรือข้าวโอ๊ต ด้วยวัตถุดิบและกรรมวิธีที่นำมาผลิตเป็นมอลต์ที่แตกต่างกัน เมื่อนำไปทำ เบียร์ ก็จะทำให้ เบียร์ มีคุณสมบัติที่หลากหลายยิ่งขึ้น เช่น มีสีเข้มขึ้น ให้กลิ่นหอมไหม้ เป็นต้น

 

04 ยีสต์ (Yeast)  ทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลในมอลต์ ให้กลายเป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดฟอง    และยังทำให้เกิดกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ด้วย ยีสต์ที่ใช้ในการหมัก เบียร์ มี 3 ชนิด คือ

  1. Top-Fermenting Yeast หรือ ยีสต์ประเภทหมักลอยผิว คือยีสต์ที่กินน้ำตาลที่อุณหภูมิสูง เบียร์ ที่ได้มีรสชาติจัดจ้าน มีความซับซ้อนและค่อนข้างขุ่น เรียกเบียร์ที่หมักด้วยยีสต์ชนิดนี้ว่า เอล (Ale) 
  2. Bottom-Fermenting Yeast หรือยีสต์ประเภทหมักนอนก้น เป็นยีสต์ที่กินน้ำตาลที่อุณหภูมิต่ำ เบียร์ ที่ได้จะมีลักษณะใส ไม่หวาน เบียร์ ที่หมักด้วยยีสต์ชนิดนี้ จะเรียกว่า ลาเกอร์ (Lager) ซึ่ง เบียร์ อุตสาหกรรมเกือบทั้งหมดที่ผลิตในบ้านเรา จะเป็น เบียร์ แบบลาเกอร์
  3. Spontaneous Fermentation หรือ การหมักบ่มด้วยยีสต์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยหลังจากต้ม เบียร์ แทนที่จะใส่ยีสต์ลงในถังหมักทันที เบียร์ จะถูกทิ้งให้เย็นลง โดยปล่อยให้สัมผัสกับอากาศก่อนจะนำไปเก็บบ่มต่อไป ซึ่งนิยมบ่มในถังไม้หรือขวดแก้ว เบียร์ ที่หมักโดยยีสต์ธรรมชาติมักมีรสเปรี้ยวที่โดดเด่น เป็นวิธีการหมักบ่มแบบดั้งเดิมของประเทศเบลเยี่ยม เรียกเบียร์ชนิดนี้ว่า แลมบิก (Lambic)

 

ส่วนประกอบหลักๆ ของ เบียร์ มีดังนี้ แต่บรูว์มาสเตอร์ทั้งหลาย ก็อาจจะเลือกใช้ส่วนผสมอื่นๆ เสริมเข้าไปเพื่อสร้างรสชาติที่แตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ได้

 

อ่านเพิ่มเติมใน Beer Basic 101:

Beer Basic 101 – Ale or Lager…What? …มารู้จักเบียร์กันดีกว่า ตอน: เอลกับลาเกอร์

 

////////////////////////////////////

ข้อมูลบางส่วน อ้างอิงจาก:
หนังสือ Tokyo Craft Beer  และ Facebook

Wikipedia/Beer

Wishbeer

Categories: