‘Kaab’ กระเป๋ากาบกล้วย จากกลุ่มหัตถกรรม จังหวัดปัตตานี

กล้วย เป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี บ้านเราเป็นประเทศที่ไม่ว่าจะฤดูไหน ก็มีกล้วยให้กินไม่เคยขาด เพราะนอกจากผลของมันแล้ว กล้วยยังเป็นพืชอเนกประสงค์ที่ส่วนประกอบอื่นๆ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย

แต่เพราะในยุคนี้เทคโนโลยีสามารถสร้างวัสดุทดแทนที่ทนทานกว่า การใช้ประโยชน์จากกล้วยจึงลดน้อยลง จนกลายเป็นเพียงผลไม้ไว้ทาน ในขณะที่ส่วนประกอบอื่นๆ กลายเป็นขยะที่รอการทำลาย

‘Kaab’ จึงถือกำเนิดขึ้นในฐานะของแบรนด์ที่ต้องการจะนำวัสดุจากกล้วยกลับมาใช้ประโยชน์อีกครั้ง โดยมีจุดเริ่มต้นเป็นเพียงโปรเจกต์จบการศึกษาของ ‘แคร์’ ธนัญญา ธุวานนท์ ในตอนที่เธอกำลังศึกษาอยู่ที่คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีแนวคิดตั้งต้น ที่ต้องการจะทดลองออกแบบผลิตภัณฑ์โดยใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ ซึ่งวัสดุที่เธอเลือกมาใช้ก็คือวัสดุจากพืชที่คนไทยรู้จักกันดีอย่าง กล้วย นั่นเอง

“ที่เลือกใช้กล้วยเพราะมันเป็นพืชที่มีอยู่เยอะในบ้านเราค่ะ สมัยก่อนทั้งผล ใบ ลำต้น ราก คนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากต้นกล้วยได้ทุกส่วน แต่ตอนหลังไม่เป็นแบบนั้นแล้ว เพราะมีพวกพลาสติกเข้ามา คนก็เลยหันไปใช้กัน แล้วส่วนอื่นนอกจากผล ก็เลยกลายเป็นส่วนที่คัดทิ้ง” เธอกล่าว

ธนัญญาจึงหยิบแนวคิดการใช้วัสดุจากต้นกล้วยกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยเลือกใช้ส่วนที่ถูกคัดทิ้งอย่าง ‘กาบกล้วย’ มาใช้เป็นวัสดุหลัก

ในส่วนของการแปรรูป เธอได้มีโอกาสเรียนรู้กับ กลุ่มกัทลี กลุ่มหัตถกรรมชุมชนจากจังหวัดปัตตานี ที่เชี่ยวชาญในด้านการผลิตสินค้าที่ใช้วัสดุจากกาบกล้วยอยู่แล้ว แต่ธนัญญาค้นพบว่าด้านในของกาบกล้วยเมื่อปอกออกมา จะมีชั้นที่นิ่มกว่า เธอจึงเลือกที่จะนำส่วนนี้มาตากแห้ง อบเชื้อรา และทอเป็นแผ่นผืน จนสามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นสินค้าหลากหลายรูปแบบ

คอลเล็กชันแรกของ Kaab ประกอบไปด้วยสินค้าอย่าง Tote Bag, สมุดจด, กระเป๋าดินสอ และกระเป๋าเหรียญ ที่มีลวดลาย และสีธรรมชาติที่ไม่เหมือนวัสดุไหนๆ ทั้งยังสามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวันปกติ ตามแนวคิดของเธอที่อยากนำต้นกล้วยให้กลับมาอยู่ในวิถีชีวิตอีกครั้ง

ธนัญญาเล่าว่า ส่วนใหญ่คนที่ตื่นเต้นจะเป็นกลุ่มคนในแวดวงออกแบบด้วยกันเอง และกลุ่มที่สนใจงานที่เป็นมิตรธรรมชาติอยู่แล้ว แต่กลุ่มบุคคลทั่วไปยังมีไม่มาก

“อาจเป็นเพราะดีไซน์ที่ยังไม่เตะตา หรือเพราะวัสดุที่เราใช้มันยังดูไม่แข็งแรงเหมือนหนัง หรือผ้า คนทั่วไปเลยยังไม่ค่อยได้เข้ามาหาเราเยอะ ซึ่งตรงนี้มันก็ต้องเก็บไปพัฒนาต่อค่ะ ต้องใช้เวลาศึกษา ทดลองกับมันอีกเยอะ ทั้งเรื่องดีไซน์ แล้วก็เรื่องคุณภาพวัสดุ” เธอกล่าว

แม้ว่าตอนนี้ในตลาดงานออกแบบจะเต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึงการใช้ประโยชน์จากวัสดุดิบธรรมชาติอย่างต้นกล้วยอาจไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ไอเดียการพลิกแพลงนำวัสดุที่หลายคนรู้จักกันดีมาสร้างสรรค์เรื่องราวอันแปลกใหม่ ก็ดูจะเป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อ

เพราะนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่ถูกมองว่าไร้ความหมายให้กลายเป็นของใช้ที่มีเอกลักษณ์ ก็ยังช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายยาก เพราะต้นกล้วยมากมายไม่ต้องถูกตัดทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์ แถมยังสามารถสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคงให้กับกลุ่มคนในท้องถิ่นได้อีกด้วย

อดีตนักข่าวที่อยากลองผันตัวมาเป็นนักเขียน

Categories: Craftmanship , TALKS