งานคราฟต์ในกีฬาฟุตบอล เพิ่มมูลค่าสินค้า สร้างคุณค่าให้แบรนด์

เมื่อพูดถึงกีฬาที่ได้รับความนิยมของคนไทย “กีฬาฟุตบอล” เป็นอันดับหนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก ลีกต่างประเทศ หรือฟุตบอลไทย คนไทยดูหมด

สินค้าที่เกี่ยวกับฟุตบอลจึงขายดีมากกว่ากีฬาชนิดอื่นๆ โดยเฉพาะเสื้อฟุตบอล เพราะมันเป็นสินค้าประเภทอุปกรณ์เชียร์ ที่ใช้แล้วให้ความรู้สึกว่าเรากำลังเป็นหนึ่งเดียวกับนักฟุตบอลในสนาม

ในขณะที่สินค้าอื่นๆ อย่างตุ๊กตา แก้วกาแฟ แม่เหล็ก พวงกุญแจ ดูจะเป็นของที่ระลึกมากกว่าและในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา Craft ‘N’ Roll เห็นเทรนด์น่าสนใจ ที่น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้อ่านทุกท่าน นั่นก็คือ

งานคราฟต์ในกีฬาฟุตบอล

“งานคราฟต์หรืองานหัตถกรรม” เป็นงานที่เกิดจากฝีมือและภูมิปัญญาของคน ฉะนั้นคุณค่าและมูลค่าของงานคราฟต์จึงสูงกว่าสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรม เรามาดูกันว่ามีสโมสรฟุตบอลไหนบ้างที่นำงานคราฟต์มาเพิ่มมูลค่าให้กับแบรนด์

1.Indigo Collection สโมสรเลสเตอร์ซิตี้

วัสดุ Material : คราม (Indigo)

คิงพาวเวอร์ ซึ่งเป็นเจ้าของสโมสรเลสเตอร์ซิตี้ ได้เริ่มแคมเปญ KING POWER THAI POWER ขึ้นเพื่อมอบคุณค่ากลับคืนสู่สังคมไทย โดยร่วมมือกับชุมชนบ้านนาขาม จังหวัดสกลนคร ในการทำสินค้าคอลเลชันสีครามขึ้น

การร่วมมือครั้งนี้ไม่ใช่แค่การขอซื้อสีคราม หรือสั่งทำสินค้าจากชาวบ้าน แต่คิงพาวเวอร์ได้ส่งทีมดีไซน์เนอร์ 3 คนบินไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เพื่อเรียนรู้วิธีการย้อมคราม ภูมิปัญญาของคนไทยอย่างละเอียด และนอกจากนั้นยังบันทึกวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ทั่วโลกได้รับรู้อีกด้วย

https://youtu.be/Fwcg28d0iAM?list=PLCR2Qu_i4rgaITErBKRafXldNPpbhmgTO

ถือเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่งานคราฟต์จากชุมชนไทยไปปรากฏบนแบรนด์สโมสรฟุตบอลระดับโลก

 

2.โปรเจกต์ผ้าไทย สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด

วัสดุ Material : ผ้า (Cloth)

ผ้าของไทยได้รับการยกย่องว่าเป็นประเทศที่ผลิตผ้าได้ประณีตและสวยงาม บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด จึงนำผ้าไทยมาทำเป็นผ้าพันคอลายต่างๆ ในชื่อว่า “โปรเจกต์ผ้าไทย”

โดยผ้าทอไทยทั้ง 6 ชนิด ได้แก่ ผ้าขาวม้า ผ้าภูอัคนี ผ้ามัดหมี่ ผ้าไหมมัดหมี่รวม ผ้าหางกระรอก และผ้าไหมเปลือกนอก ถักทอจากกลุ่มแม่บ้าน 7 หมู่บ้านทั่วจังหวัดบุรีรัมย์ โดยดึงเอาเอกลักษณ์ของผ้าไทยมาผสมผสานกับการออกแบบสวดลายสมัยใหม่

จนได้เป็นผ้าพันคอที่แฟนบอลสามารถซื้อใส่เชียร์ฟุตบอล หรือพันคอเพื่อกันหนาว ก็เท่ไม่แพ้แบรนด์ต่างชาติอีกด้วย

บทเรียนสำหรับคนทำงานคราฟต์

สำหรับคนทำงานคราฟต์ทุกคน Craft ‘N’ Roll อยากให้เก็บเอาบทเรียนจากทั้ง 2 แบรนด์ไปปรับใช้ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า และสร้างคุณค่าให้กับทั้งแบรนด์และผู้บริโภคด้วย

1.ดึงจุดเด่นมาใช้ : ศิลปะและภูมิปัญญาของไทยดั้งเดิม อาจไม่ถูกใจรสนิยมคนในยุคปัจจุบัน ฉะนั้นการดึงเอาจุดเด่นมาใช้ แล้วปรับเข้ากับดีไซน์และการใช้งานในปัจจุบัน จะช่วยให้สินค้าของคุณเข้าถึงคนได้มากยิ่งขึ้น

2.ทำงานร่วมกับชุมชน : สำหรับดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ที่ต้องทำงานร่วมกับช่างฝีมือหรือชุมชน ควรจะลงไปศึกษาการทำ และขั้นตอนอย่างละเอียด เพื่อเข้าใจถึงแก่นแท้ของมันจริงๆ แล้วผลงานจะออกมาดีเอง

3.เล่าเรื่องให้เป็น : งานคราฟต์แต่ละแบบมีคุณค่าในตัวมันเอง แต่ผู้บริโภคจะไม่รู้เลยถ้าไม่มีการเล่าเรื่องที่ดี ถ้าแบรนด์สามารถถ่ายทอดเรื่องราวของงานคราฟต์นั้นได้ ผู้บริโภคก็เต็มใจที่จะซื้อเรื่องราวของมัน

ภาพ : King Power และ Buriram United

นักเขียนเนื้อหาในด้านธุรกิจ งานคราฟต์ และการตลาด
ชอบเลื่อนหาซีรีส์แปลกๆ ใน Netflix ดู ก่อนที่จะหลับและไม่ได้ดูอะไรเลย

จุลดิศ อ่อนละมุน

ช่างภาพ

Categories: CRAFT INSIGHT , Insight