แกะกล่องไอเดีย 5 รุ่นพี่สตาร์ทอัพ สร้างแบรนด์ยังไงให้ปัง!

แนวคิดเจ๋งๆ ที่สร้างความโด่งดังให้กับแบรนด์ของเหล่าศิลปินรุ่นพี่ Startup ที่สรรสร้างผลงานผ่านมุมมองที่ง่าย และแตกต่าง เป็นแนวทางให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ที่กำลังมองหาไอเดียดีๆ มาใช้ในการออกแบบผลงาน เพื่อสร้างกำไรให้แบรนด์ปัง!

 

1. มองใกล้ๆ ไอเดียดีๆ อยู่ไม่ไกล
ความสร้างสรรค์ บางครั้งก็เกิดขึ้นได้จากการซึมซับสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว แล้วเกิดปิ๊ง! ไอเดียไม้เด็ดทำสิ่งที่แตกต่าง เช่นเดียวกับแบรนด์เครื่องหนัง “Kanita Leather” ที่ได้แรงบันดาลใจจากความชื่นชอบขนมไทย นำเอาเอกลักษณ์มาออกแบบเป็นกระเป๋าหนัง เส้นทางธุรกิจเล็กๆ ก็เริ่มต้นขึ้น เมื่อได้เอาไอเดียขนมไทยใส่ของได้ส่งเข้าประกวดกับทาง ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ได้รับคัดเลือกให้นำมาพัฒนาเป็นธุรกิจ จนเป็นแบรนด์สุดว้าว! ของชาวต่างชาติ โดยทำการขายผ่านออนไลน์ และมีหน้าร้านที่เอเชียทีค หรือตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถือเป็นต้นแบบ Startup ที่ประสบความสำเร็จในมุมมองไอเดียสุดโดดเด่น

Facebook : KANITA LEATHER

2. กล้าที่จะแหวกแนว
ปีนออกจากกรอบกันหน่อยหยิบของรอบตัวมาลองดูดีๆ อาจจะเจอไอเดียสร้างสรรค์ อย่างผลงานสุด “เหี้ย” ไอเดียสุดประหลาดจากแบรนด์ “NJ ONE STOP” ทำหมอนสกรีนเป็นตัวตะกวดจนโด่งดังสุดโต่ง สร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้คนที่พบเห็น แบรนด์เน้นคอนเซ็ปต์เป็นรูปแทนคำที่ชวนปวดตับ เป็นของขวัญสุดกวนที่ผู้รับต้องทั้งขำทั้งคิดหนักในเวลาเดียวกัน โดยใช้ต้นทุนด้าน Digital Marketing มุ่งทำตลาดออนไลน์บน Facebook เป็นหลัก เพราะมีผู้ใช้งานจำนวนมาก เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างวัยรุ่นได้ง่าย จับทางไปสร้างความฮือฮา มีการแชร์บอกต่อ จนมีกระแสตอบรับที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ

Facebook : NJ ONE STOP

3. ไทยช่วยไทยสร้างกำไรอย่างสร้างสรรค์
เศรษฐกิจที่เปราะบางของประเทศ ทำให้คนหันมาทำธุรกิจขนาดเล็กแทนธุรกิจขนาดใหญ่ และให้ความสนใจกับการใช้วัตถุดิบพื้นบ้าน ที่ช่วยส่งเสริมการขายให้กับประเทศไทยมากขึ้น เหมือนกับแบรนด์ “Rubberly” ที่นำผลิตภัณฑ์ยาง มาเติมไอเดียเป็นกระเป๋าสีสันสะดุดตา ดูทันสมัย ประกอบกับความคงทนแข็งแรงของยาง ที่ดูแลง่าย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และย่อยสลายได้ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราของไทย สร้างรายได้ให้กับแบรนด์ และช่วยเศรษฐกิจ ชาวต่างชาติถึงกับต้องหิ้วกลับกันคนละใบสองใบ ทำให้ธุรกิจนี้สามารถประสบความสำเร็จได้ในระยะเวลาเพียง 5 เดือน กลายเป็นสินค้าส่งออกสร้างมูลค่ามหาศาลให้กับคนไทยอย่างแท้จริง

Facebook : RUBBERLY


4. หยิบภูมิปัญญามาโมดิฟาย
ภูมิปัญญาของไทยจากการคิดค้นสุดสร้างสรรค์ของบรรพบุรุษ กลับถูกมองว่าล้าหลัง ด้วยรูปลักษณ์แบบดั้งเดิม คนรุ่นใหม่ถึงกับส่ายหน้า แบรนด์ “Mohhom” มองเห็นคุณค่า หยิบเอาภูมิปัญญาขึ้นมาปัดฝุ่น จนออกมาเป็นผลงานสุดเท่ ที่จับภูมิปัญญาผ้าคราม (Indigo) ดั้งเดิมของจังหวัดแพร่ มาเติมความโมเดิร์นตัดเย็บให้ทันสมัย แต่ยังคงวิธีย้อมแบบดั่งเดิม ทำให้คนหันมาสนใจภูมิปัญญาท้องถิ่นกันมากขึ้น จนได้ขนานนามว่าเป็นแบรนด์ ECO ที่เน้นเรื่องคุณค่าของผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าประเภทไลฟสไตล์ที่มีเอกลักษณ์ ทางแบรนด์วางแผนขยายไลน์ของผ้าย้อมคราม ให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งกระเป๋า และอื่นๆ เพื่อขยายตลาดไปสู่ต่างชาติ

Facebook : MOHHOM

5. เอาของเก่ามาทำใหม่ให้เท่
ขนาดไม้เก่ารอทิ้ง ยังปรับให้เป็นเก้าอี้ตัวใหม่ได้ นานาจิตตังใดๆ ในโลกก็ล้วนแปลงเปลี่ยนมีค่าได้ เพียงแค่ย้ายจุดมอง อย่างแบรนด์ “Madmatter” มีแนวคิด “We see the beauty in uncommon things” มองเห็นประกายความงามที่ซ่อนอยู่ในเนื้อผ้าเก่า ออกแบบหมวกสุด Unique ที่ตัดเย็บด้วยมืออย่างประณีต โดยในเสื้อหนึ่งตัวจะทำหมวกได้หนึ่งใบ ทำให้เป็นผลงานที่มีจำนวนจำกัด และไม่สามารถผลิตซ้ำได้ มีความ “Limited” ในตัวเอง เน้นการเจาะตลาดกลุ่ม Lifestyle ที่ชอบสินค้ามีเอกลักษณ์โดดเด่น โดยทางแบรนด์ยังคิดพัฒนาผลงานต่อไป เพื่อลดข้อจำกัด และเพิ่มจำนวนการผลิตให้ได้มากยิ่งขึ้น ให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าได้มากที่สุด

Facebook : MADMATTER

 

หลากหลายมุมมองดีๆ จากงานสร้างรุ่นพี่ ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ช่วยสร้างแรงบันดาลใจหรือมุมคิดใหม่ๆ ให้กับชาวคราฟต์ที่กำลังสนใจอยากลองทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง แต่ส่วนหนึ่งต้องมาจากความพยายาม กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ มองหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ และที่สำคัญคือ เรียนรู้ความเป็นไปของกระแสเศรษฐกิจ เพื่อยึดเป็นฐานของงานออกแบบ สร้างอนาคตอันสดใสให้กับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ไฟแรงได้อย่างแน่นอน

 

อ้างอิง : www.smeleader.com / www.thaiquote.org / www.tcdc.or.th

ขอบคุณภาพประกอบจาก : KANITA LEATHER / NJ ONE STOP / RUBBERLY / MOHHOM / MADMATTER

 

Categories: