ก้าวที่กล้าของ เปี๊ยก พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ แห่ง Golden Coins และ Let the boy die

ถ้า Chitbeer คือตำนานของ เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทยที่ทำให้เกิดกระแส เบียร์คราฟท์ คึกคักไปทั่วประเทศ Let the boy die ก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยขยายการรับรู้และเป็นตัวช่วยสร้างคุณภาพเบียร์คราฟท์ที่ดีให้เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เช่นเดียวกัน

เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทย เบียร์แบรนด์ Golden Coins มีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison

 

คุณเปี๊ยก พิพัฒนพล พุ่มโพธิ์ คือผู้อยู่เบื้องหลัง Golden Coins และ Let the boy die จากการที่ต้องเข้าไปช่วยที่บ้านดูแลกิจการร้านอาหารจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการหาข้อมูลเรื่องราวใหม่ๆ และได้รู้จักคราฟท์เบียร์ตั้งแต่ตอนนั้น คุณเปี๊ยกเริ่มต้นซื้อเครื่องไม้เครื่องมือมาลองต้มเบียร์ด้วยตัวเอง โดยมีพี่ชายที่อยู่ในรัฐโคโรราโด ประเทศอเมริกา คอยให้คำแนะนำ คนทั่วไปอาจจะไม่รู้ว่าคุณเปี๊ยกศึกษาเรื่องการต้มเบียร์ ลองผิดลองถูกมาด้วยตัวเองตั้งแต่ปี 2013 ซึ่งในวงการเบียร์คราฟท์ไทยชื่อของเขาเป็นที่รู้จักทั้งในนามเจ้าของแบรนด์ Golden Coins และเป็นผู้ที่คอยอัพเดทข่าวสารให้ความรู้เรื่องเบียร์คราฟท์ในเพจดังอย่าง Craft Brewery is not a crime ด้วย

 

ผันตัวจาก “สถาปนิก” สู่ “นักต้มเบียร์”

“อาชีพเก่าของผมเป็นสถาปนิก ผมรักอาชีพของผมและไม่เคยคิดว่าตัวเองต้องไปทำอาชีพอื่น ไม่คิดจะเปิดบริษัทหรือทำธุรกิจอะไร เพราะชอบทำตึก ทำอาคารมากกว่า พอดีมาเจอ เบียร์คราฟท์ มันมีสไตล์ที่สามารถเอาไปต่อยอดทางการตลาดได้ เนื่องจากผมเป็นสถาปนิก ร้านนี้จึงเน้นฟังก์ชั่นเป็นสำคัญ อาจารย์เคยสอนผมว่างานสถาปัตยกรรมอย่าไปยึดติด สถาปัตยกรรมไม่ใช่แฟชั่น ถ้าคุณยึดติดกับสไตล์วันหนึ่งคุณก็จะเอาท์ สถาปัตยกรรมอันนั้นจะกลายเป็นขยะ แต่ให้ยึดติดกับ สเปซ (Space) หรือพื้นที่ทำให้มันตอบโจทย์กับสิ่งที่เราทำ ตอบโจทย์กับสิ่งที่เราเป็น ถ้าสเปซสวย ใส่อะไรไปก็สวย คุณเปี๊ยกจึงรีโนเวทร้านอาหาร Sweet kitchen ธุรกิจดั้งเดิมของที่บ้าน มาเป็นร้าน Let the boy die อย่างที่เห็นในปัจจุบัน”

สำหรับคุณเปี๊ยกเหตุผลของการทำเบียร์ไม่ใช่แค่มาจากความชอบเท่านั้นแต่มองว่า เบียร์คราฟท์ มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจได้ แม้ว่าปัจจุบันจะมีปัญหาเรื่องกฎหมายก็ตาม “ผมหาข้อมูลทุกอย่างว่าจะทำยังไง เป็นเวลาเกือบสามปี พอได้รูปแบบและแนวทางชัดเจนว่าเราน่าจะทำได้ เลยลาออกจากงานมาเปิดร้าน ก้าวต่อไปก็อยากให้มีการประกวดเบียร์ และอีกไม่เกินสิ้นปีนี้จะได้เห็นโกลเด้นคอยถูกกฎหมายอย่างแน่นอน” คุณเปี๊ยกกล่าว

 

เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทย เบียร์แบรนด์ Golden Coins มีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison

 

ตัวตนของ Golden Coins

“เบียร์แบรนด์ Golden Coins มาจากนามสกุล “เหรียญทอง” ของคุณยาย ผมว่าตอนนี้คนทำเบียร์เอ็กซ์สตรีมเยอะแล้ว สไตล์เบียร์ของ Golden Coins จึงเป็นแบบคลาสสิกคือทำเบียร์ค่อนข้างพื้นฐาน แต่ได้มาตรฐาน เราต้องการให้คนเข้าใจก่อนว่าแบบนี้เรียกว่าเพลเอล (PALE ALE) ไอพีเอ(IPA) แบรนด์เราจึงมีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison เบียร์ทุกตัว มีแอลกอฮอล์ประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ และมีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนในแต่ประเภทของมัน ส่วนเบียร์ตัวที่แอลกอฮอล์สูงเราก็มี แต่ไม่ได้ทำตลอด ชื่อ King of coins เป็นดับเบิ้ลไอพีเอ Double IPA แอลกอฮอล์ 8.5 เปอร์เซ็นต์ น่าจะทำออกมาเร็วๆ นี้”

พี่เปี๊ยกเล่าว่าถ้าไม่ใช่คนในวงการเบียร์จริงๆ อาจจะไม่รู้จัก Golden Coins เพราะเป็นแบรนด์เดียวที่ไม่มีเพจให้ติดตามกันเหมือนแบรนด์อื่นๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่รู้จะมีไปทำไม “ผมมั่นใจว่าเบียร์ของโกลเด้นคอยน่าจะผลิตเยอะที่สุดแล้วต่อเดือน ผมทำทุกวัน ส่งขายตามสถานที่ต่างๆ ทั้งร้านเบียร์คราฟท์ในกทม.และตอนนี้ขยายไปแล้วหลายจังหวัดทั่วประเทศ”

 

เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทย เบียร์แบรนด์ Golden Coins มีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison

 

Let the boy die ไม่ใช่แค่ร้านเบียร์

Let the boy die มาจากประโยคที่ว่า Let the boy die, Let the man be born ประโยคเตือนตัวเองที่คุณเปี๊ยกชอบพูดกับเพื่อนเวลารู้สึกกลัว “ถ้าเรามีความกลัวอยู่ในใจ เราไม่กล้าทำ มันก็เหมือนเรายังเป็นเด็กอยู่ หาข้ออ้างไปวันๆ ผมมักจะพูดกับเพื่อนว่า Let the boy die….เหมือนเป็นการเตือนตัวเองว่า…เฮ้ย แต่ละวันที่เราลืมตาขึ้นมา เราแก่ขึ้นเรื่อยๆ ปล่อยไอ้เด็กในตัวเราให้ตายไปซะที เพื่อให้ความเป็นผู้ใหญ่ในตัวของเราได้เติบโตขึ้น” ประโยคติดปากของพี่เปี๊ยกที่พูดกับกลุ่มเพื่อน จึงกลายมาเป็นชื่อของร้านนี้ไปโดยปริยาย

ไม่ใช่แค่เป็นร้านสำหรับนั่งดื่มเบียร์ คุณเปี๊ยกตั้งใจให้ร้านนี้เป็นคอมมูนิตี้ที่จะทำให้เกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้ลูกค้ากลับไป “สำหรับผม เบียร์คราฟท์มันเป็นเครื่องดื่มที่เป็นเครื่องมือในการเข้าสู่คอมมูนิตี้ ร้านเราไม่ใช่เบียร์เนิรด์ เราไม่ได้เน้นเบียร์เทพ แต่เราอยากเลือกเบียร์ให้คนหน้าใหม่ได้มาลองชิม เราไม่ซีเรียสกับ great beer แต่เราซีเรียสกับ good beer และ good relationship เราออกแบบโต๊ะยาวมาเพื่อให้คนที่ไม่รู้จักมานั่งคุยด้วยกันได้ และที่สำคัญคือเราสร้างร้านนี้เพื่อจะบอกคนที่กินเบียร์ตามท้องตลาดว่าเบียร์ที่คุณดื่มอยู่ทุกวันนี้มันห่วย คือที่พูดได้ว่ามันห่วย เพราะผมทำเบียร์ รู้ต้นทุนของมัน เบียร์ขาย 55-70 บาท ภาษี 60 เปอร์เซ็นต์ ต้นทุนจริงๆ ไม่ถึง 20 บาท แค่นี้ก็วัดได้แล้วว่า เรากินอะไรอยู่”

 

เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทย เบียร์แบรนด์ Golden Coins มีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison

 

เบียร์คราฟท์ในเมืองไทย

“ตอนนี้ ผมว่ามันค่อนข้างเป็นกระแสครับ ผมได้ยินคนพูดว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก” ผมรู้สึกไม่ดีกับมันมากๆ ผมรู้สึกว่ากว่าน้ำมันจะขึ้น ผมทำอะไรมามั่ง เราเทเบียร์ทิ้งไปกี่ลิตร ผมไม่ได้เริ่มมาจากการที่ไปเรียนกับใคร และการทำเพจ Craft Brewery  is not a crime ผมว่ามันก็เป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คำว่า “ คราฟท์เบียร์ ” มันเกิดขึ้นในประเทศไทยเหมือนกัน”

 

“ผมเชื่อว่าคนที่ไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นนอกจากทำเบียร์ มันต้องดีกว่าคนที่ต้องทำงานอื่นแล้วกลับบ้านมาทำเบียร์ไปด้วยอยู่แล้ว แต่ว่าเดี๋ยวนี้ คนที้ต้มเบียร์ค่อนข้างเยอะ ผมรู้จักคนในวงการ แต่ละคนกินเบียร์ แม้ไม่ได้ต้มเบียร์ แต่ก็มีความรู้ ศึกษาหาข้อมูลไม่น้อยไปกว่าคนทำเบียร์ ผมว่ากระแสเขามองด้านลบก็มีเยอะ บางคนพูดว่า “เบียร์แม่งทำได้แค่นี้ แล้วก็เอามาขายเหรอวะ” แต่ถามว่าผมมองคนที่ทำเบียร์แล้วออกมาขายในแง่ลบไหม ผมบอกเลยว่าไม่นะ เพราะผมก็เคยทำมาก่อน เคยทำได้แค่นี้ ก็ออกมาขายแค่นี้ แต่คือผมเป็นแค่คนธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่สามารถไปทำอะไรได้ เป็นแค่โกลเด้นคอยด์ มันก็เป็นแค่แบรนด์แบรนด์หนึ่ง ไม่ใช่นายกสมาคมอะไร แค่ไม่อยากให้มองเบียร์แค่มุมเดียว เบียร์มันก็มีสไตล์ที่ต่างกันไป ผมแค่อยากให้คนทำเบียร์มีหลักสักสามข้อคือหนึ่ง ทำเบียร์คุณภาพดี สอง รักษาคุณภาพที่ดีเอาไว้ สาม คือพัฒนาคุณภาพที่ดีให้ดีขึ้นไปอีก  คุณเปี๊ยกบอกเราว่าสุดท้ายแล้วคำตอบก็จะอยู่ที่คนส่วนใหญ่ที่เขาได้ชิมที่จะเป็นคนตัดสิน”

 

เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทย เบียร์แบรนด์ Golden Coins มีเบียร์ทั้งหมด 6 ประเภท 1. PALE ALE 2. IPA 3. Amber Ale 4.Wheat beer 5. Stout 6. Saison

 

แม้ว่าการที่คุณเปี๊ยกจะผันตัวเองมาอยู่ตรงจุดที่ลาออกจากงานประจำที่คนรอบข้างมองว่าไม่มั่นคง หันมาทำเบียร์และเปิดร้านเบียร์คราฟท์ ท่ามกลางเสียงที่ไม่เห็นด้วยของครอบครัว แต่คุณเปี๊ยกก็ยืนยันหนักแน่นว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่หาไม่ได้ง่ายๆ “สมมติผมไม่ประสบความสำเร็จ ผมก็แค่เข้าเว็บหางานใหม่ แต่ว่าในนั้นไม่ได้มีโอกาสใหม่เข้ามาให้เราเลือก เราออกมาทำในสิ่งที่วันนี้อาจจะยังไม่ถูกกฎ แต่ผมอยากบอกว่ามันถูกต้อง” เหมือนที่เวลาพบเจอกับความกลัวหรืออุปสรรค ก็แค่พูดเตือนตัวเองว่า… Let the boy die…แล้วก็ลงมือทำซะ

 

///////////

อ่านเพิ่มเติม : รีวิว ร้าน LET THE BOY DIE ร้าน เบียร์คราฟท์ สัญชาติไทยแท้

 

 

Categories: all , Talk